โห่หหหหหห อะไรมันจะอวดอ้างจนน่าหมั่นไส้ขนาดนั้น กล้าดียังถึงมาเรียกตัวเองว่าสมุดขวัญใจปวงประชาชาวสเก็ตช์ได้ ไม่เพียงแค่นั้นยังจะโม้มากถึงขั้นบอกว่าทั่วทั้งโลกด้วยนะ! แฟนพันธุ์ทางของ Moleskine เช่นผมที่กิจกรรมยามว่างนอกจากหาเหาใส่หัวแล้ว ก็มักจะเปิดเว็บดูภาพสเก็ตช์ของศิลปินหลายท่านอยู่เนืองๆ 2–3 ปีก่อนไอกระผมก็ยังคุ้นเคยกับชื่อของสมุดสีดำขอบมนอันเป็นเอกลักษณ์นั่นก็คือน้องโมที่เขียนบรรยาวไว้ใต้ภาพ แต่ทำไมพักหลังนี้สเก็ตช์เชอร์แต่ละท่านถึงไปใช้สมุดอื่นเสียเล่า?! ชื่อเช่ออะไรก็ไม่คุ้นเคย ไหนๆ ขอก๊อปแล้วไปกูเก้อดีกว่า
…แล้วผลการค้นหาจากพี่กูก็ไหลมาเป็นพรวนครับ! ทั้งรีวิวนู่นนี่แถมมีพ่วงห้อยท้ายด้วยชื่อรังสีแกรมมา อัลฟ่า เบจิต้า อะไรก็ไม่รู้เยอะแยะเต็มไปหมด แล้วแต่ละเว็บก็ล้วนแต่คุ้นเคยทั้งนั้นเป็นเว็บของเหล่าสเก็ตช์เชอร์ที่เราเข้าไปชมภาพบ่อยๆ นั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นสเก็ตช์เชอร์ที่หนึ่งในดวงใจ Nina Johansson (Alpha), Cathy Johnson (Alpha), Liz Steel (Alpha, Beta), Suhita Shirodkar (Beta) …ชักเยอะ เอาเป็นว่าผมยกให้เป็นสมุดสเก็ตช์ยอดนิยมเลยก็ด๊ะ -.,-
Stillman & Birn Sketchbook : Alpha [เว็บไซต์ : stillmanandbirn.com] แต่ก่อนจะไปถึงรังสีน่าหมั่นไส้เหล่านี้ผมขอเล่าถึงสมุดดาวเด่นดวงใหม่เล่มนี้สักหน่อยดีกว่า สมุดนี้มีชื่อว่า “สตีลแมน แอนด์ เบอร์น” เป็นสมุดสเก็ตช์สัญชาติอเมริกันแท้ๆ ครับ บริษัทก่อตั้งแต่ปี 1958 นู่นเลยครับแต่เพิ่งจะมาทำสมุดสเก็ตช์เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เองครับ ซึ่งความพิเศษที่ทาง Stillman & Birn นั้นอวดอ้างถึงสมุดสเก็ตช์ของตนก็คือว่าเป็นสมุดสเก็ตช์สำหรับศิลปินอย่างแท้จริง เพราะว่าศิลปินนั้น “สามารถเลือกสมุดได้ตรงตามความต้องการมากที่สุด!”
อ่านถึงตรงนี้คุณผู้อ่านคงจะคิดว่าถ้าไม่ตรงตามความต้องการแล้วชั้นจะซื้อมาทำไมเล่า?! แต่ช้าก่อนครับ!! ลองคิดดูให้ดีนะครับว่าทุกวันนี้หากจะหาสมุดสเก็ตช์คู่กายสักเล่มนึงคุณจะต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง? แน่นอนล่ะว่าถ้าเป็นผมนั้นจะคำนึงถึง “กระดาษ” เป็นอันดับแรกเพราะเราเป็นสเก็ตช์เชอร์สายปากกาหมึกซึมและสีน้ำ จะมาใช้กระดาษธรรมดาทั่วไปลากเส้นแล้วซึมทะลุ ลงสีน้ำแล้วกระดาษบวมหรือไม่ก็สีที่ได้ไม่สดจนต้องมานั่งเซ็ง ไอเราก็อยากได้กระดาษหนาๆ คุณภาพดีและมีผิวกระดาษตามที่ต้องการ ซึ่งข้อเหล่านี้มันทำให้การเลือกสมุดเป็นได้ยากขึ้นไปอีก อันดับต่อมาก็คือ “ขนาด” เพราะเราต้องเน้นพกพาสะดวกด้วย และสุดท้ายที่ผมคำนึงก็คือ “รูปแบบการเย็บเล่ม” แน่นอนว่าผมชอบสมุดที่สามารถกางแล้ววางบนโต๊ะได้อย่างแบนเรียบสเก็ตช์ทั้งสองหน้าต่อกันได้อย่างต่อเนื่องนั่นเอง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเรื่อง “ความงามของรูปเล่ม” ก็ต้องมาควบคู่ด้วยเช่นกันอย่างไม่ต้องสงสัย
ทีนี้คำถามจึงเกิดขึ้นว่า “สมุดสเก็ตช์ที่วางขายตามท้องตลาดปัจจุบันสามารถตอบสนองความต้องการเหล่านี้ได้จริงหรือ?” ผมขอกระโดดยันเลยครับว่า “ไม่มี!” ถึงแม้ว่าผมจะชื่นชอบสมุด Moleskine Watercolor มากมายเนื่องด้วยกระดาษที่มีคุณภาพดีมาก รูปเล่มสวยงามและขนาดเหมาะมือมากแต่สิ่งที่ผมยังมองหาอยู่ตลอดเวลานั่นก็คือ “สมุดสเก็ตช์ที่ใช้กระดาษแบบ Hot-Pressed และเป็นสมุดแนวตั้ง” …อึ้งไปเลยใช่มั้ยครับ? แน่นอนว่า Moleskine ไม่ทำสมุดกระดาษแบบนี้มาขายแน่ๆ และเมื่อลองหาสมุดกระดาษแบบนี้ในโลกของเครื่องเขียนก็มักจะไม่ตรงตามที่ต้องการจริงๆ บางเล่มกระดาษได้แต่สันเป็นแบบห่วง บางเล่มก็ไม่ผ่านเพราะขนาดใหญ่เกินที่ต้องการ ผมจึงต้องแก้ปัญหาด้วยการไปซื้อกระดาษมาเย็บสมุดเองซึ่งนี่ก็ผ่านไปจะครึ่งปีล่ะผมยังคาอยู่ที่สนด้ายเข้าเข็มอยู่เลย…และคิดว่าชาตินี้คงไม่ได้ใช้แน่ๆ นั่นจึงเป็นเหตุที่ว่าทำไมสมุดสเก็ตช์ที่สามารถเลือกทุกอย่างได้ตามต้องการนั้นมันช่างหายากหาเย็นเสียเหลือเกิน
นั่นจึงเป็นจุดแข็งของสมุดสเก็ตช์ของ Stillman & Birn ครับ เพราะเค้ารู้ไงว่ายังมีศิลปินอีกมากที่มองหาสมุดที่ตรงตามความต้องการจริงๆ ทางบริษัทเลยทำสมุดออกมาหลายรุ่นซึ่งแน่นอนว่าเลือกกันไม่ถูกกันเลยทีเดียว รุ่นแต่ละรุ่นที่ว่านี้เค้าใช้ชื่อเรียกของ “รังสี” มาใช้เป็นชื่อรุ่นครับ ซึ่งมีด้วยกันทั้งหมด 6 รุ่นประกอบไปด้วย Alpha, Beta, Gamma, Delta, Epsilon และ Zeta ซึ่งแต่ละรุ่นก็จะมีคุณสมบัติเฉพาะที่แตกต่างกันดังตารางนี้ครับ
…อะไรของมันฟร๊ะ?!!! ตอนที่ผมเห็นตารางนี้ครั้งแรกผมแทบโยนโน้ตบุคออกนอกหน้าต่างเลยทีเดียวเพราะมันอ่านแล้วเข้าใจย๊ากยากอะไรก็ไม่รู้เยอะแยะไปหมด แต่ระหว่างที่ผมเดินลงบันไดเพื่อไปเก็บเศษซากโน้ตบุคที่กระจัดกระจายอยู่บนถนนหน้าบ้าน ผมก็บรรลุธรรมในที่สุดครับ! ซึ่งโดยสรุปแล้วสมุดสเก็ตช์ของ Stillman & Birn นั้นสามารถจำแนก(โห ดูมันใช้คำ) เป็นข้อใหญ่ๆ ได้ดังนี้
- ผิวกระดาษ มี 3 แบบ ได้แก่
- Vellum (Mediam Grain) กระดาษนี้ทีแรกผมไม่เข้าใจจริงๆ ครับว่ามันคืออะไรกันแน่เพราะไม่สามารถแยกด้วยตาเปล่าได้ แต่พอลองได้ใช้จริงและสัมผัสดูก็ทำให้รู้ว่ามันคือกระดาษที่มีผิว “เรียบกว่า Cold Press แต่ไม่เรียบถึงระดับ Smooth” โดยจะเป็นกระดาษที่เหมาะกับการใช้พวกสื่อแห้ง(อะไรวะคำนี้?) อย่างเช่นดินสอสี ชาร์โคลหรือเคร์ยองอะไรพวกนี้ครับ แต่ก็สามารถลงสีน้ำได้ด้วยนะ
- Cold Press (Not) กระดาษแบบนี้คงคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว กระดาษสีน้ำที่มีพื้นผิวไม่หยาบจนเกินไป สามารถลงสีน้ำด้วยเทคนิค dry brush แล้วยังมีเท็กเจอร์ของกระดาษให้พอสยิวบ้าง
- Smooth (Hot Press) นี่แหละครับกระดาษที่ผมตามหามานาน! เป็นกระดาษที่ผ่านการกดร้อนจนผิวกระดาษมีความเรียบมาก เหมาะสำหรับการวาดที่เน้นลายเส้นคมชัดรวมไปถึงการลงสีน้ำแบบนี้ลายละเอียดเล็กๆ ก็สามารถเก็บรายละเอียดไว้ได้อย่างสวยงาม
- สีกระดาษ มี 2 แบบ ได้แก่
- สีขาว
- สีงาช้าง (ถนอมสายตา)
- ความหนาของกระดาษ มี 2 แบบ ได้แก่
- 150 gsm (Heavy Weight Paper) กระดาษบางกว่าของ Moleskine นิดนึง (นู่นมัน 200 gsm)
- 270 gsm (Extra Heavy Weight Paper) หายากนะสมุดสเก็ตช์ที่ใช้กระดาษหนามากขนาดนี้ สามารถลงสีน้ำนองเต็มตลิ่งได้สะใจกันไปเลย
- รูปเล่มของสมุด มี 2 แบบ ได้แก่
- Hardbound เย็บกี่เข้ารูปเล่มเหมือนสมุดทั่วไปหรือก็คือแบบ Moleskine นั่นแหละ
- Wirebound สันห่วง สามารถพลิกหน้ากลับหลังท่ายากยังไงก็ได้
พออ่านถึงตรงนี้คงจะมองภาพรวมออกแล้วใช่มั้ยครับว่าเค้าทำสมุดมาละเอียด(เกินไป)เพื่อให้ตรงตามความต้องการจริงๆ ทีนี้ก็มาถึงการเลือกรุ่นของรังสีกันล่ะว่าแล้วไอที่เราต้องการนั้นมันไปตรงกับรุ่นอะไรกันแน่ ผมจึงมีไกด์ในการเลือกรุ่นแบบสับสนน้อย(แต่ก็ยังสับสนบ้าง) มาฝากดังนี้ครับ
- ความหนา
- หากต้องการกระดาษหนามาก : Beta, Delta, Zeta
- หากต้องการกระดาษหนาปานกลาง : Alpha, Gamma, Epsilon
- ผิว
- หยาบเล็กน้อย : Alpha, Gamma
- Cold Press กระดาษสีน้ำทั่วไป : Beta, Delta
- เรียบ : Epsilon, Zeta
- สี
- ขาว : Alpha, Beta, Epsilon, Zeta
- งาช้าง : Gamma, Delta
คุณผู้อ่านก็กากบาทหน้ารายละเอียดที่อยากได้เลยครับแล้วก็เอามาเทียบกันดูว่ามันตรงกับชื่อรุ่นอะไรมากที่สุด ก็เลือกอันนั้นเลยครับ แล้วจึงค่อยไปเลือกขนาดของตัวเล่มและรูปแบบการเข้าเล่มกันทีหลังเพราะส่วนใหญ่ก็มีครบทุกรุ่นอยู่แล้วครับ ดังนั้นขอยกตัวอย่างการเลือกสมุดตามใจฉันให้ลองนึกภาพตามเล่นๆ ดูนะ เช่น
* อยากได้สมุดกระดาษผิวเรียบสีขาวความหนายังไงก็ได้ ก็จะได้ Epsilon กับ Zeta
* อยากได้สมุดกระดาษผิว Cold Press หนาๆ เลยนะ แล้วก็ต้องสีขาวด้วยสีจะได้ดูสด ก็มาลงล็อคที่ Beta
…หวังว่าคงจะสับสนน้อยลงไปบ้างนะครับ…
เอาล่ะ!! พูดถึงการเลือกรุ่นสมุดมาเป็นชั่วโมงแล้ว ตอนนี้เกิดกิเลสอยากได้ๆๆๆๆ แล้วจะไปหาซื้อที่ไหนล่ะ? ผมควานหาทั่วโลกแล้วพบว่าที่เว็บ jacksonart.co.uk เป็นที่ๆ เหมาะแก่การซื้อสมุดเล่มนี้ที่สุดครับ เนื่องด้วยราคาที่ไม่แพงจนเกินไปเพราะปลอดภาษีด้วย และค่าส่งที่พอรับได้รวดเร็วว่องไวเพียงสัปดาห์เดียวก็ได้นอนกอดล่ะ แถมยังสามารถขอตัวอย่างกระดาษของ Stillman & Birn รุ่นอื่นๆ มาทดลองใช้ได้ฟรีอีกด้วยผมจึงเลือกซื้อจากที่นี่ครับ ซึ่ง Alpha ที่ผมเลือกซื้อมานั้นเป็นขนาด 4 x 6 นิ้วและเป็นแบบ Hardbound ราคาขายเมื่อปลอดภาษีแล้วจะอยู่ที่ 6.83 GBP หรือประมาณ 363.32 บาท และมีค่าส่งสำหรับสมุดเล่มเดียวอยู่ที่ 6 GBP หรือเท่ากับ 318.95 บาท (ค่าส่งเกือบเท่าค่าสมุด!!) รวมแล้วสมุดเล่มนี้จะมีราคาอยู่ที่ 682.27 บาทครับ อ้อ! ก่อนกดจ่ายตังค์อย่าลืมขอตัวอย่างกระดาษเค้าด้วยนะครับเพราะเค้าแจกฟรีสำหรับลูกค้า 1 ชุดต่อ 1 ท่านครับ วิธีการก็เพียงแค่เลือกหยิบ ตัวอย่างกระดาษ ใส่ตะกร้าสินค้าไปด้วย ก็เป็นอันเรียบร้อยแล้วล่ะ
จริงๆ แล้วสมุด Stillmand & Birn ที่ผมมีในครอบครองตอนนี้มีด้วยกัน 3 รุ่นคือ Alpha, Beta และ Zeta แต่ในวันนี้ผมจะขอพูดถึงเจ้า Alpha ก่อนละกันนะครับเพราะเห็นว่าเป็นรุ่นยอดนิยม ส่วนกระดาษรุ่นอื่นๆ เดียวผมจะมัดห่อรีวิวครบเซ็ดให้ได้อ่านกันจุใจภายหลังนะ
ผมต้องขอขอบพระคุณคุณหญิงแห่งเพจ IWatercolorS เพจภาพประกอบแนวมุ้งมิ้งน่ารัก ที่ได้สนับสนุนสมุดรุ่น Beta ขนาดใหญ่มาให้ทดสอบและครอบครองด้วยครับ คือเล่มนี้ผมลังเลอยู่นานว่าจะซื้อดีมั้ยเพราะดูแล้วกระดาษก็คล้ายกันกับ Moleskine แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่ได้สั่งมา พอพัสดุมาถึงบ้านก็ได้แต่นั่งเสียดายรู้อย่างนี้น่าจะสั่งมาพร้อมกันด้วย คุณหญิงก็ใจดีส่งสมุดมาให้แบบเหนือความคาดหมายและตรงใจมาก ต้องขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้ด้วยครับ ขอบคุณครับ!
ปล. เดี๋ยวจะเอามินิรีวิว Stillman & Birn : Beta จากคุณหญิงมาให้อ่านกันด้วยนะ 😉
สมุดที่ผมนำมาทดสอบในวันนี้คือ Stillman & Birn รุ่น Alpha ขนาด 4 x 6 นิ้ว Hardbound แกะห่อพลาสติกที่ห่อหุ้มออกก็จะพบกับกระดาษคาดสมุดที่บ่งบอกรายละเอียดต่างๆ ไว้อย่างครบถ้วน สมุดเล่มนี้มีจำนวนหน้าทั้งสิ้น 124 หน้า 62 แผ่น เป็นกระดาษหนา 150 gsm ผิวกระดาษแบบ Vellum สีขาว พลิกดูกระดาษคาดด้านหลังก็จะพบรายละเอียดเพิ่มเติมไม่ว่าจะเป็น ค่าความเป็นกรดเป็นด่างที่เป็นกลาง ความคงทนต่อการฉีก รวมไปถึงความหยาบของผิวกระดาษด้วยซึ่งอันนี้เจ๋งมาก! ผิวกระดาษมีค่าความหยาบอยู่ที่ 350 SU ตามวิธีวัดแบบ Sheffield ส่วนวัสดุที่ใช้ทำกระดาษนั้นเป็น Alpha Cellulose เป็นส่วนผสมกว่า 87% ครับ…ซึ่งข้อมูลพวกนี้โคตร geek เลยครับ! แต่เอาเป็นว่ากระดาษมันทำจากเยื้อไม้ ไม่ได้เจ๋งเป้งเก๋กู้ดเหมือนพวกกระดาษที่มีฝ้ายเป็นส่วนผสมนะ กร๊าาากกก
ผมหยิบน้องนางขึ้นมาโอบอุ้มไว้ด้วยความรักแล้วก็ได้ถึงคำว่า เบอะ! ด้วยความสัจที่หาไม่ได้ของผม ผมต้องขอบอกว่าสมุดเล่มนี้มันใหญ่และหนากว่าที่คาดไว้มากครับ แน่นอนว่าสมุดที่ผมใช้อยู่เป็นประจำนั้นคือ Moleskine Watercolor ขนาด pocket ซึ่งมีขนาดเล็กและบางกว่าซึ่งผมคุ้นมือกับขนาดมาเป็นเวลานาน แต่พอได้ถือ Alpha เล่มนี้จึงรู้สึกว่าหนาเทอะทะและหนักไปเลย เมื่อนำมาวางซ้อนเปรียบเทียบขนาดกันจึงเห็นความต่างได้ชัดเจนเลยว่าทั้งหนาและใหญ่ต่างกันมากครับ ไม่สามารถใส่กระเป๋าหลังของกางเกงยีนส์ได้แน่ๆ
พิจารณารูปเล่มโดยรอบ สมุดเล่มนี้เป็นสมุกปกแข็งมากที่หุ่มปกเป็นสีดำ ไร้ซึ่งสายรัดสมุดและเชื่อคั่นหน้าใดๆ เลยครับ พลิกดูด้านหลังก็จะเป็นโลโก้ Stillman & Birn และชื่อรุ่น Alpha ขนาดใหญ่มากปั้มลึกอยู่ตรงส่วนล่าง ซึ่งด้วยขนาดใหญ่แบบนี้เองที่ผมมองว่าน่าเกลียดชะมัด ถ้าทำมาเล็กๆ เก๋ๆ จะทำให้สมุดเล่มนี้ดูดีขึ้นมากทีเดียวนะ
เมื่อเปิดสมุดดูภายในจะพบกับความว่างเปล่า คือมันโล่งและว่างเปล่าจริงๆ ครับ ไม่มีการใช้กระดาษรองปกที่มีสีสันแตกต่าง หรือมีช่องให้ใส่ที่อยู่เผื่อทำสมุดหล่นหายใดๆ เลย เท่านั้นยังไม่พอ! เปิดไปดูปกหลังด้านในก็ยังไม่มีช่องสำหรับเก็บของติดมาให้ด้วย ผมซึ่งมักจะคุ้นเคยกับสมุดหลายๆ เล่มที่ลอกรายละเอียดพวกนี้มาจาก Moleskine ถึงกับผิดคาดครับ สมุดเล่มนี้ออกแบบมาสำหรับการสเก็ตช์อย่างแท้จริง ตัดทอนส่วนประกอบอะไรใดๆ ออกไปทั้งหมด สายรัดที่เกะกะเวลากางสมุด เชือกคั่นหน้าที่ไร้ประโยชน์เมื่อเป็นสมุดสเก็ตช์ หรือช่องเก็บของที่จะทำให้สมุดปูดโปน ส่วนเหล่านี้ถูกตัดออกไปจนหมดสิ้นครับ
มาถึงเรื่องสำคัญที่สุดที่เราสนใจนั่นก็คือกระดาษครับ ผมได้ลองนำกระดาษของรุ่น Alpha นี้มาเปรียบเทียบกับกระดาษ Moleskine Watercolor ก็ถึงกับอุทานออกมาว่า “อุ๊ย ทำไมผิวเธอขาวจัง ใช้กลูต้ายี่ห้ออะไรเหรอ?” คืองี้ครับ ผมไม่เคยสังเกตหรือนึกสงสัยมาก่อนเลยว่ากระดาษของ Moleskine Watercolor มันไม่ได้มีสีขาวสว่างไร้ที่ติ ซึ่งที่ผมเพิ่งทราบก็เพราะว่าผมลองเอากระดาษทั้งสองนี้มาวางซ้อนกับเพื่อเปรียบเทียบสี กลายเป็นว่ากระดาษ Moleskine ดูกลายเป็นสีงาช้างไปเลยครับ นั่นหมายความว่ากระดาษของรุ่น Alpha นั้นมีความขาวสว่างมากจริงๆ นั่นจึงมั่นใจได้เลยนะว่าเมื่อลงสีน้ำแล้วจะทำให้ภาพดูสว่างและให้สีที่สดใสชัดเจนครับ อีกเรื่องนึงก็คือความหนาของกระดาษ อย่างที่รู้ก็คือกระดาษรุ่น Alpha นั้นหนา 150 gsm ส่วนของ Moleskine Watercolor นั้นหนา 200 gsm ซึ่งเมื่อลองนำมาเปรียบเทียบดูด้วยตาเปล่าและมือสัมผัสจะพบว่าแทบไม่แตกต่างกันเลยครับ แต่เจ้า 50 gsm นี้เองจะเห็นผลก็ต่อเมื่อมีการลงสีน้ำครับ
แน่นอนว่าผมยังคาใจอยู่ในเรื่องของผิวกระดาษว่าไอกระดาษ Vellum นี้มันแตกต่างจาก Cold Press อย่างไร ผมจึงนำกระดาษทั้งสองชนิดจากชุดตัวอย่างที่ได้ มาวางเปรียบเทียบกันแล้วใช้แสงไฟส่องเพื่อให้เห็นผิวของกระดาษได้ชัดเจนยิ่งขึ้นซึ่งผลก็คือ “แยกไม่ออกอยู่ดี!” ผมพยายามส่งแล้วส่องอีกก็ไม่พบความแตกต่างของผิวนะ แต่เมื่อลองเอาปลายนิ้วชี้ที่เรียวยาวและเนียนนุ่มของผมลูปไล้ไปบนกระดาษทั้งสองก็ทำให้ผมถึงบางอ้อครับ กระดาษแบบ Vellum จะมีความเรียบลื่นที่มากกว่ากระดาษแบบ Cold Press อยู่เล็กน้อย ผมเลยเงื้อมือไปลูบกระดาษแบบ Smooth ดูบ้างซึ่งก็แน่นอนว่าเรียบเนียนกว่าใครเพื่อน จากผลการทดสอบนี้ผมจึงหายข้องใจในที่สุดครับ
เอาล่ะลงมือวาดได้แล้ว! ผมใช้โอกาสวันหยุดวันแม่ที่ผ่านมาทดสอบสมุดเล่มนี้ครับ รูปแรกเป็นรูปวิวจากชั้น 7 ของที่พักที่ผมปูเสื่ออยู่อาศัย ยืนวาดที่ระเบียงทางเดิน ลมพัดหน้าแดดส่องแถมมองไม่ค่อยจะเห็นเพราะตาฝ้าฟาง ส่วนรูปที่สองเป็นรูปของใช้ในห้องน้ำที่ผมนั่งบนขอบอ่างอาบน้ำที่อยู่ข้างโถสุขภัณฑ์หรือเรียกง่ายๆ ก็คือโถส้วม วาดไปสูดกลิ่นไปพร้อมกันเพลินนักแล ซึ่งจากการทดสอบวาดทั้งสองภาพนั้น การวาดเส้นด้วยปากกาหมึกซึมที่บรรจุหมึก “เทพองค์ใหม่(ยังไม่ได้คิดนาม)” ก็ให้ผลเป็นที่น่าพอใจมากครับ การลากเส้นแต่ละเส้นทำได้ลื่นไหลดี รู้สึกได้เลยว่าลื่นกว่ากระดาษของ Moleskine Watercolor เพราะมีผิวกระดาษที่เรียบกว่า และเมื่อลองเอากระดาษมากระแทกหน้าดูลายเส้นก็พบว่าเส้นหมึกปากกาไม่มีเส้นใดที่แตกเป็นริ้ว เส้นที่ได้นั้นชัดเจนและคมมาก
ตื่นเต้นเมื่อยกปลายพู่กันขึ้นมาจ่อหน้ากระดาษ ผมเริ่มลงสีน้ำตามแบบที่เคยทำเหมือนทุกทีโดยไม่คำนึงว่ากระดาษมันรองรับน้ำปริมาณเยอะๆ ได้หรือไม่ ซึ่งผลที่ออกมาเป็นที่น่าพอใจอย่างมากครับ! ผมผสมสีฟ้าสำหรับท้องฟ้าและระบายลงบนกระดาษอย่างเปียกชุ่ม ผลที่ได้ก็คือกระดาษจะมีอาการงอบ้างแต่สีก็ยังซึมกระดาษและไหลเกลี่ยได้ดี สังเกตได้จากในส่วนที่เป็นพื้นสีม่วงจากภาพแรก และส่วนที่เป็นท้องฟ้า หลังคา ผนังตึกก็สามารถเกลี่ยสีได้เรียบเนียนครับ นอกจากนั้นผมยังลงสีวาดเป็นเงาตึกในส่วนของ background ทับลงไปบนท้องฟ้าหรือจะเป็นส่วนของเงาใต้หลังคาที่ต้องลงสีซ้ำหลายๆ ครั้ง กระดาษชนิดนี้ก็สามารถรองรับการลงสีทับหลายครั้งโดยไม่มีอาการผิวกระดาษเปื่อยยุ่ยครับ และเมื่อพลิกดูด้านหลังก็ไม่มีร่องรอยของหมึกปากกาหมึกซึมและสีน้ำที่ซึมทะลุให้เห็นเลยนะ กระดาษ Alpha 150 gsm เอาอยู่จริงๆ ครับ
ผมจึงสรุปได้ว่ากระดาษสมุดแบบ Alpha 150 gsm นั้นเป็นกระดาษแบบสีน้ำนั่นแหละเพียงแต่เค้าระบุว่าสำหรับสื่อแห้งและการลงสีน้ำแบบบางๆ ก็เพื่อดักคอไว้ก่อนหากกระดาษงอแล้วอย่ามาโทษกันก็เท่านั้นแหละครับ ซึ่งใครที่เป็นสเก็ตช์สายสีน้ำและต้องการกระดาษที่ระบายแล้วไม่มีอาการบวมหรืองอก็ลองเลือกกระดาษแบบ 270 gsm แทนนะ ส่วนใครที่ไม่ค่อยสนเรื่องกระดาษงอนิดๆ หน่อยๆ ก็สามารถใช้กระดาษ 150 gsm ตัวนี้ได้เลย ซึ่งข้อดีก็คือเราจะได้จำนวนหน้าที่มากขึ้นเยอะเลยครับ สามารถสเก็ตช์ได้คุ้มค่าสะใจครับ
ความเห็นส่วนตัว!
หลังจากได้ลองใช้ Stillmand & Birn : Alpha เล่มมาสักระยะ ผมก็ชักจะชอบสมุดขนาด 4 x 6 นิ้วเสียแล้วครับ ผมเคยนึกมาตลอดเลยนะว่าขนาด pocket ของ Moleskine ก็เหมาะมือดีแล้วแต่บางครั้งขณะที่สเก็ตช์อยู่ก็มีนึกขึ้นมาบ้างว่าหน้ากระดาษมันน่าจะใหญ่กว่านี้อีกหน่อยนะ ซึ่งนี่ทำให้ผมรู้สึกชอบได้ไม่ยากเลยครับ อีกเรื่องนึงคือเรื่องฟอร์แมทของสมุด แน่นอนว่า Moleskine Watercolor เป็นสมุดแบบ landscape สามารถวาดภาพพานอรามาบนสองหน้ากระดาษได้อย่างต่อเนื่องแต่ผมไม่วาดพานอราม่าไง เลยรู้สึกไม่ถนัดในทุกครั้งที่ต้องกางสมุดเพื่อสเก็ตช์ภาพแนวตั้ง ผมจึงถนัดกับสมุดแนวตั้งหรือแบบ portrait มากกว่าครับ
ใครที่ยังไม่มีสมุดสเก็ตช์คู่กายผมขอแนะนำเลยครับกับสมุด Stillman & Birn : Alpha เล่มนี้เพราะเป็นสมุกที่ดีจริงๆ ผมไม่แปลกใจเลยครับว่าทำไมสเก็ตช์เชอร์ชื่อดังหลายท่านถึงเลือกใช้ ก็ด้วยกระดาษที่มีคุณภาพสูงสามารถรองรับการใช้ทั้งปากกาหมึกซึมและสีน้ำได้อย่างเต็มที่ จำนวนหน้าที่เยอะสามารถสเก็ตช์ได้บ่อยตามที่ต้องการ อีกทั้งราคายังไม่แพงอีกด้วย(ไม่รวมค่าส่งนะ) แต่ถ้าหากรุ่น Alpha ยังไม่ตรงตามความต้องการของคุณล่ะก็ สามารถเลือกรุ่นอื่นๆ ได้เพราะทำมาได้ครบถ้วนถูกใจศิลปินจริงๆ ส่วนใครที่ยังลังเลอยู่ก็อดใจรออีกสักหน่อยนะครับ ผมจะทดสอบกระดาษรุ่นอื่นๆ มาให้อ่านประกอบการตัดสินใจกันในเร็วๆ นี้ครับ
ตายแล้วตายแล้วทำยังไงดีครับเนี่ย?!!! รู้สึกตัวเลยว่าเริ่มปันใจออกจาก Moleskine อย่างชัดเจนเลยครั้งนี้ ใครก็ได้ช่วยเอา Moleskine เล่มใหญ่มาตบกระบาลผมทีครับ
…แล้ววางทิ้งไว้เลยนะ ชอบของฟรีจ่ะ -.,-