บ่ายอ่อนๆ ในเดือนกุมภาพันธ์ ฤดูแห่งความรักที่อากาศหนาวแต่อบอุ่นหอมหวานได้ด้วยความรักสำหรับสาวแรกรุ่น สาวน้อยหน้าตาน่ารักผูกโบสีแดงในชุดกระโปรงบานสีชมพูตัวเก่งนั่งเขียนไดอารี่ที่สนามหญ้าริมสระน้ำ เธอจะมาที่นี่ทุกวัน ปูผ้าลงบนผืนหญ้าเพื่อรองนั่งและเอนกายพิงกับต้นไม้ใหญ่ เธอเขียนจดเรื่องราวความรักของเธอในทุกๆ วันที่เกิดขึ้นลงบนสมุด Moleskine หน้าแล้วหน้าเล่า มือเรียวเล็กที่กุมกำปากกาลามี่สีชมพูสวยตวัดตัวอักษรพลิ้วไหวด้วยความสนุกสนาน
“โอ้ ขีวิตฉันช่างแสนสุขเหลือเกิน” เด็กสาวร้องเพลง
ผัวะ!! เสียงดังสนั่นกึกก้อง เด็กสาวลอยละล่องข้ามผืนหญ้า หล่นตุบลงบนแม่น้ำเย็นเฉียบเบื้องล่าง
“เห้ย! ไอเหี้ยปอนด์ มึงเตะบอลไปทางไหนวะ?! แม่งโกลอยู่นี่ มึงเตะไปสนามศุภฯเหรอ?!!” เสียงห้าวของเด็กชายตัวสูงตะโกนขึ้น
“เห้ย! โทษๆๆ กูกะยิงไดรฟ์ชู้ตแต่แม่งบอลโดนตาปลาพอดีหว่ะ!” เด็กชายรูปหล่อตะโกนตอบ
“อ้าว แล้วลูกบอลหายไปไหนแล้ววะ?! บอลลูกก่อนมึงก็เตะโดนหัวครูสมบูรณ์ จนถึงทุกวันนี้ครูยังสอนไม่รู้เรื่องเลย ฮ่าๆๆ” เด็กชายแว่นหนาที่ตัวเล็กกว่าใครเพื่อนพูดขึ้นพลางกลั้นหัวเราะ
“เอ้ ตะกี้กูว่ากูเตะมาทางนี้นะ สงสัยบอลโดนหมากระเด็นตกน้ำไปแล้วมั้ง” เด็กชายรูปหล่อใช้ความคิด
เด็กชายทั้ง 3 เดินหาลูกบอลจนทั่ว ทั้งในกอหญ้า ข้างรั้ว หรือใต้ก้อนหิน?
“เจอแล้วๆ!! บอลมาตกอยู่ข้างต้นไม้เว้ย! แล้ว… กร๊าากก!! โดนหมาตกน้ำจริงๆ ด้วยหว่ะ!!” เด็กชายแว่นปล่อยหัวเราะออกมาเสียงดังชี้นิ้วไปทางสระน้ำ
“เออๆๆ มึงรีบเตะบอลมาเลย ช่างหมาเพื่อนมึงเหอะยังไงทีมก็ครบคนแล้ว มึงจะสนใจหมาทำไม เร็วๆ!” เด็กชายตัวสูงเร่งเพื่อน
เด็กชายทั้งสามวิ่งกลับไปเล่นฟุตบอลกันตามเดิม โดยปล่อยให้หมา… ไม่ใช่สิ…ที่จริงคือเด็กสาว ลอยคอด้วยความอับอายแต่ก็ไม่กล้าตะโกนร้องให้ใครช่วยอยู่เพียงลำพัง
เด็กสาวตะเกียกตะกายขึ้นจากน้ำพร้อมด้วยชุดกระโปรงบานตัวเก่งที่ตอนนี้กลายเป็นผ้าผืนบางที่เปียกชุ่มไปด้วยน้ำ แนบลู่กับลำตัวเน้นให้เห็นถึงเนินอกอิ่มผิวเนียนสีขาวอมชมพูและรูปร่างสัดส่วนที่โ…ไอบ้า! ไม่ใช่นิยายอีโรติกเว้ย! เขียนใหม่เลย!!
…ปีนขึ้นจากน้ำด้วยเนื้อตัวที่เปียกปอนหัวยุ่งกระเซิง แต่ในมือยังคงกำสมุด Moleskine และปากกาลามี่ไว้ไม่ยอมปล่อย
“ใครจะไปยอมปล่อยให้สมุดกับปากกาลามี่ด้ามนี้หลุดมือล่ะ! นี่มันลามี่ชมพูลิมิเต็ดปี 2013 ที่พี่ชายชั้นซื้อให้นะ!” สาวน้อยบ่นกับตัวเอง
หลังจากสลัดขนให้น้ำกระเด็นออกจากร่างกายแล้ว เธอจึงเปิดสมุดที่เปียกน้ำขึ้นมาดูเพื่อตรวจสอบว่าสมุดเสียหายมากน้อยเพียงใด แล้วก็ต้องตกใจที่กระดาษทุกๆ หน้าชุ่มไปด้วยน้ำ เสี่ยงที่จะขาดอยู่รอมร่อแถมตัวหนังสือยังเลือนรางออกจนเกือบหมด
“ถ้ารู้ว่าจะต้องโดนลูกบอลจนกระเด็นตกน้ำ ตอนเช้าชั้นเติมหมึก Noodler’s Black Bulletproof มาซะก็ดีหรอก! แต่…สมุดของชั้นนี้สิโดนน้ำซะจนเปื่อยยุ่ย ถึงจะมีหมึกกันน้ำแต่ก็คงไม่มีสมุดเล่มไหนที่กันน้ำได้หรอก ฮือออ…” สาวน้อยพูดเสียงสะอึ้นน้ำตาคลอ
.
.
.
ยาวโคตรกว่าจะเข้าเรื่องได้! เรื่องราวมันก็เป็นแบบนี้หล่ะครับ ถึงแม้เราจะมีหมึกที่สามารถกันน้ำไว้ใช้แล้วแต่ถ้าเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นเช่นเรานั่งข้างสระน้ำแลัวโดนบอลเตะใส่หน้าจนต้องตกน้ำแบบกรณีนี้เป็นต้น (คงมีอยู่หรอก!) สมุดทั้งเล่มก็ดันตกน้ำไปเสีย ต่อให้หมึกกันน้ำยังไงก็คงช่วยอะไรไม่ได้หล่ะครับถึงแม้ตัวหนังสือจะไม่เลือนก็จริง แต่กระดาษในสมุดจะต้องเปื่อยยุ่ยแน่ๆ ถ้าอย่างนั้น…ทำไมเราไม่ลองมาใช้สมุดกันน้ำดูหล่ะครับ อะไรนะ? ตะกี้คุณตะโกนว่า ‘มันจะไปมีได้ยังไง’ เหรอ? มานี่มะมาใกล้ๆ เดี๋ยวผมจะเล่าอะไรให้ฟัง
อย่างที่พวกเราทราบกันดีว่ากระดาษนั้นผลิตขึ้นมาจากเยื้อไม้ จะทำกระดาษแต่ละทีก็ต้องตัดเอาต้นไม้นี้แหละมาทำ ซึ่งกระดาษแต่ละชนิดก็จะแตกต่างกันไปตามลักษณะการใช้งาน ในทางการวาดเขียนก็เช่นกันกระดาษมีด้วยกันหลายแบบไม่ว่าจะเป็นกระดาษสเก็ตช์ กระดาษสีน้ำ ต่างก็ไม่สามารถกันน้ำได้ทั้งสิ้นเพราะกระดาษถูกสร้างมาให้รองรับน้ำหมึกที่ใช้เขียน หากจะกันน้ำแล้วมันจะไปเขียนติดได้อย่างไร นี่ถ้าเราลองไปพูดไปถามกับใครหลายๆ คนดูว่าคุณเชื่อมั้ยว่าโลกนี้มีกระดาษกันน้ำ ผมว่าร้อยทั้งร้อยต้องหัวเราะกร๊ากใส่หน้าเราเป็นแน่ แต่ว่าเว็บนี้เป็นเว็บอะไรครับ?! บีบีบล็อก! ใช่ครับ! ผมจึงขอนำเสนอสมุดกันน้ำเล่มแรกของโลกนะบัดนี้!!! (เค้ามีมาหลายปีแล้วเฟ้ย!)
Ogami Stone ชื่อสมุดจากเมือง Milan ประเทศ Italy แต่มีชื่อเป็นภาษาญี่ปุ่นผสมอังกฤษที่เจือไว้ด้วยความเคลือบแคลงใจ “สมุดอะไร? เกี่ยวอะไรกับก้อนหิน?” ก่อนอื่นต้องขอบอกว่าสมุดเล่มนี้ไม่เคยอยู่ในสาระบบของผมเลยครับ แต่เพื่อนของผมคนนึง…ก็ตา @risingtop นั่นแหละแนะนำมาพร้อมกับสมุด Rhodia คราวก่อนโดยเค้าถามผมว่า “รับหินด้วยมั้ยครับ?” ไอผมได้ยินก็งงว่าอะไรวะ จะใส่ก้อนหินมาในกล่องพัสดุทำไมให้น้ำหนักเพิ่ม ผมเลยตอบไปว่าไม่เอาครับ จนกระทั่งเมื่อผมได้มาบางกอกเองในเที่ยวที่แล้ว(เที่ยวก่อนครั้งที่ผมจัดซองใส่ปากกา Labrador ไปไง) ผมก็ได้มาลองเดินหาตามที่นายท็อปบอก มองหาไม่ยากครับวางจำหน่ายในร้านหนังสือ Asiabook ครับ ซึ่งก็มีหลายสีหลายขนาดแบบมีเส้นและไม่มีเส้น ไม่รอช้าผมก็ปรี่เข้าไปหาชั้นวางอย่างไม่คิดชีวิต ยื่นมือไปคว้าด้วยความอยากรู้อยากเห็นว่าไอสมุดเล่มนี้ทำไมถึงทำจากหินนะ? พลิกดูด้านหลังก็ถึงกับผงะ! ไอเจ้าสมุดเล่มนี้ขนาด pocket ราคาสูงถึง 495 บาท!!! ตอนนั้นจำได้ว่าผมรู้สึกวิงเวียนคล้ายจะเป็นลม แต่เพราะมีพนักงานสาวหน้าตาน่ารักยืนอยู่บริเวณนั้น ผมเลยต้องรักษาฟอร์มทำเป็นใจแข็งและซื้อมาเล่มนึง…กลัวเค้าจะเข้าใจผิดว่าผมจน(ซึ่งก็จนจริง)
บินกลับมาเชียงใหม่พอล้อเครื่องบินแตะรันเวย์ปุ๊บ ผมก็ฉีกซองพลาสติกออกในทันทีเลยครับ(ลงจากเครื่องบินก่อนก็ได้นะ ไอบ้า) เอาเป็นว่าผมได้กลับมาเทสต์เอาตอนที่กลับมาเชียงใหม่ครับ ตัวสมุดก็หน้าตาธรรมดามาก เล่มบางตัดมุมมนเหมือน Moleskine แต่การยึดกระดาษใช้แบบอัดกาวครับ ผิวของสมุดเป็นแบบด้านครับปั้มลึกอักษรและตรานู่นนี่รกไปหมดทำให้ความงามหายไปเยอะเลยนะ อีกจุดนึงที่สังเกตก็คือเล่มมันบางครับ บางจนผมคิดว่าจำนวนหน้ากระดาษมันต้องน้อยแน่ๆ ซึ่งก็เป็นดังคาดครับ ขนาด pocket นี้มีจำนวนหน้าทั้งหมด 128 หน้า ซึ่งน้อยกว่า Moleskine ที่มีจำนวนหน้าอยู่ที่ 192 หน้าครับ นอกจากนั้นสมุดเล่มนี้ก็มาพร้อมกับสายรัดสมุดตามสมัยนิยมเป็นสายทำจากผ้าซึ่งรัดได้แน่นหนาดีทีเดียว
เปิดสมุดเพื่อดูปกในก็จะเป็นลายกราฟฟิคสานไปมาชวนให้ปวดหัวยิ่งแต่ก็สวยดีครับแต่ตรงด้านล่างมีการเว้นช่องเอาไว้ให้เขียนชื่อ-ที่อยู่ติดต่อเผื่อในกรณีทึ่สมุดเล่มนี้หล่นหายด้วยนะ เอ? รู้สึกคุ้นๆ เหมือนไปลอกมาจากสมุออะไรสักยี่ห้อนี่แหละ เปิดแต่หน้าก็พบว่าสมุดเล่มนี้ไม่มีเชือกคั่นสมุดนะครับคุณก็หาใบไม้ใบหญ้ามาคั่นกันเองละกันนะ ทีนี้ก็พลิกมาดูปกในด้านหลังก็พบกับช่องใส่ของใส่โน้ตเล็กครับ โอเคๆ อยากจะลอกก็ลอกกันไปได้ตามสบายนะ กร๊าากก
ข้อเสียใหญ่เรื่องแรกของสมุดเล่มนี้คือการยึดกระดาษกับตัวสมุดครับ โดยอย่างที่เห็นสมุดเล่มนี้จะใช้วิธิอัดกาวเพื่อยึดครับซึ่งข้อดีก็คือแน่นหนาแข็งแรงทนทาน แต่ข้อเสียก็คือมันกางให้แบนราบไม่ได้เลยครับ จะวาดรูปแบบสองหน้าต่อกันก็ไม่ได้ จะวางตั้งไว้เพื่อถ่ายรูปก็เด้งปิดเองอีก จะเอาไปสแกนก็ยากเพราะมันโป่งๆ สแกนได้ไม่แนบสนิทถ้าหากไม่ออกแรงกดแรงๆ ซึ่งก็กลัวกระจกเครื่องสแกนเนอร์พังอีก โว๊ะ!!
มาถึงเรื่องสำคัญที่สุดนุ่นก็คือตัวกระดาษครับ อย่างที่ได้พูดถึงไปในตอนแรกว่าสมุดเล่มนี้ทำมาจากหิน มามะ ผมจะเล่าให้ฟังว่ามันทำมาจากหินยังไงครับ กระดาษ(?)ของสมุดเล่มนี้เป็นผลผลิตมาจากเทคโนโลยีที่เรียกว่า Repap (มันคือคำว่า paper เขียนกลับหลังหน่ะ) โดยกระดาษนี้ทำมาจากส่วนผมสมของ Calcium Carbonate(พวกหินแร่อะไรเทือกนั้นอ่ะ) 80% และที่เหลืออีก 20% เป็น Resin แบบปลอดสารพิษครับ นั่นจึงเป็นที่มาของคำโปรโมทที่ว่า 100% Tree Free ไม่ใช้ต้นไม้เลยครับ!! ซึ่งข้อดีที่เค้าบอกไว้ก็มีดังนี้
– ไม่ใช้ต้นไม้ เลยไม่ต้องตัดต้นไม้ไม่ทำลายป่า ทุกกระบวนการผลิตไม่ใช้สารเคมีอะไรทึ่ทำลายธรรมชาติด้วยนะ เกร๋เว่อร์!
– ผิวกระดาษเนียนนุ่มเหมือนก้นเด็ก เขียนได้ลื่น สนุกทุกอารมณ์
– กระดาษมีสีที่ขาวนวลตามากครับ ขาวสว่างทำให้เห็นเส้นและตัวอักษรได้ชัดเจน
– กันน้ำได้ ด้วยเพราะไม่ใช่เนื้อเยื่อของต้นไม้ไงเลยไม่เปื่อยยุ่ย
– ทนทาน เพราะมีส่วนผสมของยางและหินไง มันเลยทนทานต่อการฉีกขาด
– สามารถย่อยสลายตามธรรมชาติได้
แต่ถึงจะโม้ยังไงถ้าหากมันเขียนไม่ดีก็ไม่มีประโยชน์ใช่มั้ยครับ ดังนั้นมาชมผลการทดสอบกันเลย! ครั้งแรกที่ผมจรดปากกาลามี่ที่เติมหมึก Platinum Carbon Black ลงบนกระดาษแล้วลากเส้นเขียนตัวอักษร ผมรู้สึกแปลกๆ ครับ คือมันรู้สึกเหมือนกับว่าผมไม่ได้กำลังเขียนอยู่บนกระดาษจริงๆ แต่มันเหมือนเขียนอยู่บนแผ่นพลาสติกด้านแต่ลื่น อารมณ์เหมือนเขียนบนแผ่นฟิลม์ซับหน้ามันสีฟ้ายี่ห้ออะไรสักอย่างนี่แหละจำไม่ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่ามันเป็นความรู้สึกที่ดีนะ มันแปลกไม่ชินมือเลยครับ
และแน่นอนว่าในเมื่อมันไม่ใช่กระดาษจริงๆ มันเลยเกิดปัญหาขึ้นครับซึ่งเป็นปัญหาใหญ่มากด้วย! หมึกมันไม่ซึมลงในกระดาษครับ! ก็เพราะว่ามันทำจากหินจากยางดังนั้นหมึกมันจึงแค่เพียงเกาะอยู่บนผิวกระดาษเท่านั้น ซึ่งไอการที่มันไม่ซึมเช่นนี้ทำให้หมึกแห้งช้ามากๆๆๆๆๆๆ เขียนทีก็เลอะที เขียนยาวก็เลอะทั้งแถบ เผลอปิดสมุดทั้งที่หมึกยังไม่แห้งก็เลอะมันทั้งสองหน้าเลย แพงก็แพงทำไมกากแบบนี้ฟระ?!! แต่ผมก็เข้าใจได้ทันทีเลยนะว่ากระดาษแบบนี้คงจะเหมาะกับปากกาพวกหมึกแห้งหรือปากกาลูกลื่นมากกว่าครับเพราะไม่ต้องรอหมึกให้ซึมให้แห้งนาน ดังนั้นหากจะใช้ปากกาหมึกซึมกันน้ำโก้เก๋คงต้องยอมปล่อยผ่านเล่มนี้ไปนะ
ผมคิดในใจว่าหรือจะเป็นที่หมึกกันแน่เลยทำให้หมึกแห้งช้าและไม่ติดกระดาษเลย ผมจะทำการทดสอบกับ 3 เทพแห่งหมึกกันน้ำครับโดยผลออกมาเป็นดังนี้
1. Noodler’s Black Bulletproof หมึกแห้งช้ามากๆ และไม่ซึมเข้าไปยึดในเยื่อกระดาษเลย ทำให้เวลาเขียนหากมือไปโดนเข้าหมึกก็แทบจะหลุดออกมาหมดเลย
2. Sailor Kiwa-Guro Nano Black แห้งเร็วกว่า Noodler’s แต่ก็ถือว่าแห้งช้า และเมื่อแห้งสนิทดีแล้วแต่เราเอามือไปถู หมึกก็ยังเลอะออกมาอยู่ดีครับ หมึกมันไม่ติดกระดาษอ่ะ
3. Platinum Carbon Black หมึกเทพที่ผมรักจนแทบจะดื่มได้เลยทีเดียว เป็นหมึกเดียวที่เหลือรอดจากการทดสอบนี้ครับ ถึงแม้จะแห้งช้ามากก็ตามแต่ก็ยังเร็วกว่า Noodler’s แห้งเร็วพอๆ กับหมึก Sailor แต่ว่าเมื่อเราทิ้งไว้จนแห้งสนิท ก็ไม่เลอะเลยครับแม้จะเอามือถูก็ตาม ยอดมาก!!
ใช่ครับผมมันบ้า รู้ทั้งรู้ว่ากระดาษมันไม่ซึมซับน้ำหมึกก็ยังจะคิดที่จะลองลงสีดูอีกนะ ผมได้ทำการทดสอบด้วยสี 2 ชนิดครับ สีชนิดแรกก็แน่นอนว่าเป็นสีน้ำ เอาเลย ละเลงๆๆๆ ปาดๆๆ ทาๆๆๆ สีไม่ติดกระดาษเลยเฟ้ย!! โดยธรรมชาติของสีน้ำที่ควรจะซึมเข้าไปยึดติดกับเยื่อกระดาษแต่กลับกลายเป็นว่าลอยติดอยู่บนผิวกระดาษเท่านั้น ระบายสีไป-มาสีก็ไหลไปกองรวมกัน เท่านั้นยังไม่พอ ยังแห้งช้ามากๆๆๆๆๆๆๆ ช้าจริงๆ ครับ ผมต้องเอาไปเป่ากับพัดลมจึงจะแห้งแต่ใช้ลมแรงก็ไม่ได้นะเพราะสีจะไหล บ๊ะ!!
อีกสีที่ผมเอามาลองใช้ดูก็คือโคปิคครับ เพราะโคปิกนี่ถือเป็นสีที่ใช้ง่ายและลงได้แทบทุกพื้นผิว ปาดสีลงไปปื้นแรก เห้ย! ลงได้เว้ย! แต่พอปื้นต่อๆ มากลายเป็นว่าเละครับ ก็เพราะสีมันไม่เกาะกับผิวกระดาษทำให้เวลาที่เราระบายสีทับหรือเหลื่อมกันเล็กน้อย สีที่คุณปาดก็จะไปดึงสีเดิมออกมาด้วย รุงรังเป็นที่สุด! กว่าจะระบายให้ออกมาพอดูได้อย่างที่คุณผู้อ่านเห็นก็ยากลำบากมากเลยครับ …ตกลงว่าไอสมุดนี้มันมีอะไรดีมั่งวะเนี่ยะ?!
พอๆๆ กับเรื่องการเขียนและลงสี มาถึงเรื่องไฮไลท์ของค่ำคืนนี้กันดีกว่าครับ “สมุดกันน้ำ” มันสามารถกันได้จริงหรือไม่หรือจะเป็นเพียงแค่ราคาคุย ผมก็ได้ทดสอบโดยการตัดกระดาษของสมุดเล่มนี้ออกมาหน้านึงครับ แล้วก็ไม่ลืมที่จะเขียนเพื่อทดสอบหมึกกันน้ำด้วยว่ายังทำหน้าที่ได้ดีมั้ยบนกระดาษแบบนี้แต่ก็ต้องรอนานพอควรครับเพื่อที่จะให้หมึกแห้งสนิทเสียก่อน จากนั้นผมก็เอากระดาษแผ่นนี้จุ่มในน้ำและแช่ทิ้งไว้เป็นเวลานานพอสมควรครับ ระหว่างนั้นก็กลับไปทำงานไปถูบ้าน ล้างรถ กวาดใบไม้ใบหญ้าแล้วปิดท้ายด้วยการอาบน้ำหมา …ใช่ครับ ชีวิตทาสมันก็แบบนี้แหละนะ พอ! ผ่านไปหลายสิบนาทีก็กลับมาดูผลทดสอบครับ หมึก Platinum Carbon Black ที่เขียนลงบนกระดาษไม่มีอาการหลุดร่อนจางหายไปอย่างใด ถือว่ายอดเยี่ยมทีเดียวครับ
หยิบกระดาษขึ้นมาจับๆ ลูบๆ ขยี้ๆ ดูก็พบว่าตัวกระดาษไม่มีร่องรอยของความเสียหายจากน้ำเลยครับ!! ต่างกับกระดาษทั่วไปทึ่พอโดนน้ำจะอ่อนจนเปื่อยยุ่ยแต่นี่ไม่เลย ทุกอย่างยังคงสภาพสมบูรณ์ 100% สรุปว่ากันน้ำได้จริงด้วย! คุณพระ! ในขณะที่ยังคงประหลาดใจกับความมหัศจรรย์นี้ ผมก็ได้ลองเอาน้ำมาหยดลงบนกระดาษนี้ดูครับแล้วก็ส่องดูใกล้ๆ จึงเห็นว่าหยดน้ำนั้นเกาะอยู่บนผิวกระดาษเท่านั้น และพร้อมจะกลิ้งไหลออกจากกระดาษหากเรายกกระดาษขึ้น อันนี้เจ๋งมากครับ! รู้สึกเหมือนกับน้ำบนใบบอนเลย
ยัง! ยังไม่หมด ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้วจึงขอทดสอบเพิ่มในเรื่องที่ว่า Repap เป็นกระดาษที่มีความคงทนแข็งแรง ผมจะทดสอบ “ฉีก” ดูครับ ซึ่งก็พบกับความจริงที่ว่ากระดาษชนิดนี้มันมีเนื้อที่ “เหนียว” ครับ เหนียวเหมือนแผ่นพลาสติกยางบางๆ พอออกแรงดึงก็จะยืดๆ ต้องใช้แรงมากพอควรถึงจะทำให้ขาดได้ด้วยการดึง แต่ถ้าเราโกงโดยการเอาเล็บจิกแล้วดึงละก็ กระดาษนี้ก็จะขาดกลายสภาพเป็นดังในรูปทึ่เห็นละครับ หนังเหนียวตายยากจนต้องเล่นเล่ห์ถึงจะได้ตายจริงสินะ ยัยแก่!! (เหมือนแค้นใจเรื่องอะไรมา…)
จบแล้วครับกับการรีวิวสมุดมหัศจรรย์ที่ไม่กลัวน้ำแม้แต่เพียงน้อย หากถามว่าสมุดเล่มนี้เป็นสมุดที่สมควรซื้อหามาใช้มั้ย? ผมต้องขอตอบว่ามันขึ้นอยู่กับปากกาที่คุณใช้ครับ ถ้าหากคุณเป็นคอปากกาหมึกซึมแบบลามี่แล้วละก็ สมุด Ogami Stone เล่มนี้ไม่เหมาะกับคุณเป็นอย่างยิ่งครับ สมุดที่เรื่องมากต้องรอให้หมึกแห้ง ต้องระวังไม่ให้หมึกไปเลอะอีกหน้า แถมลงสีก็ไม่ได้ด้วย ถือเป็นสมุดที่น่ารำคาญโดยไม่จำเป็นครับ แต่หากคุณเป็นคอปากกาหมึกแห้ง พกปากกาลูกลื่นเป็นอาวุธคู่กายหรือจะเป็นคอดินสอไม้ดินสอกด สมุดเล่มนี้ก็สามารถร่วมทางไปด้วยกันกับคุณได้ครับ ด้วยความพิเศษที่สามารถกันน้ำได้ 100% ทำให้คุณไม่ต้องกังวลเลยว่าหากฝนตกหรือทำสมุดตกน้ำ หรือไม่ก็เผลอปัดแก้วน้ำจนหกเลอะสมุด สมุดเล่มนี้ก็จะไม่เสียหายแน่นอนครับ หากคุณอยากได้สมุดกันน้ำไว้พกติดตัวลงเรือหรือใช้เขียนริมทะเลริมแม่น้ำแล้วละก็ Ogami Stone ก็เป็นสมุดที่น่าสนใจทีเดียวครับ จริงมั้ย?
.
.
.
เด็กสาวหยุดร้องไห้และนั่งยิ้มอยู่คนเดียว เธอนึกถึงเช้าวันรุ่งขึ้นที่จะได้ออกไปซื้อสมุดเล่มใหม่ สมุดที่สามารถกันน้ำได้
“คราวนี้แหละ ชั้นก็ไม่ต้องกลัวสมุดตกน้ำอีกต่อไปแล้ว” เธอคิดในใจ
ผัวะ!!
“ไอเหี้ยปอนด์! มึงจะไดรฟ์ชู้ตอีกทำไมว้าาาา?!”