ลองนึกภาพตามดูนะครับท่านผู้อ่าน คุณกำลังจะไขประตูเข้าบ้าน แต่พอเดินมาถึงประตูหน้าบ้านเท่านั้นแหละ เท้าคุณก็สะดุดเข้ากับอะไรบางอย่าง บางอย่างที่มันแฉะๆ ลื่นๆ เหนียวเหนอะหน่ะคล้ายจะเป็นเลือดคน… ไม่ใช่ครับ! ไม่ใช่ผีหรืออะไรทั้งนั้นเพราะบล็อกตอนนี้ไม่ใช่ตอนผีนะ! พอคุณก้มลงไปมองที่หน้าประตูบ้านก็พบกับกล่องพัสดุและขวดหมึกมากมาย ทั้งหมึกขวดที่เราสะสมไว้อยู่แล้วและหมึกขวดที่เราเพิ่งสั่งมาหล่นแตกกระจัดกระจายหมึกไหลเปรอะเปื้อนไปทั่ว คุณคิดว่าเรื่องแบบนี้มันสามารถเกิดจากเหตุใดได้บ้างครับ? ระหว่าง…
1. บุรุษไปรษณีย์ส่งของไม่ระวังทำตกแตกหมด ว้าาาา แย่จัง
2. แฟนที่บ้านจับได้ว่าสั่งซื้อหมึกมาอีกแล้ว…
คนที่เลือกข้อหนึ่งรบกวนกลับไปอ่านตั้งแต่ต้นอีกครั้งครับ ส่วนคนที่เลือกขัอสองผมตัองขอแสดงความยินดีด้วยครับ ขอต้อนรับเข้าสู่วงการปากกาหมึกซึมอย่างเต็มตัวครับ! ใช่สิครับ!! ก็เล่นสั่งหมึกมาตั้งหลายขวด สีนู่นนี่มากมายใช้ทั้งชาติก็ไม่หมด ปากกาก็มีอยู่แค่ 2-3 ด้ามแลัวจะมีหมึกไปทำไมตั้งเยอะตั้งแยะ?!! …นี่เป็นคำที่ยัยแฟนเธอพูดกับผมครับ…เธอช่างไม่รู้ใจอะไรชาวเราเอาเสียเลย ฮืออออออ
…แต่อย่างน้อยเธอก็ยังรู้แค่ว่าเรามีปากกาแค่ 3 ด้ามนะ รอดไป กร๊าากกก (หากโพสบล็อกตอนนี้ออกไปผมคงชีพวาย ไม่ได้เขียนอีกแน่ๆ เลย ฮืออออ T_T)
ผมรู้ครับผมรู้ ผมรู้ดีว่าคุณผู้อ่านนักเลงปากกาย่อมต้องอยากที่จะมีหมึกใชัไม่ซ้ำแบบเพื่อเปลี่ยนวันที่น่าเบื่อในแต่ละวันให้สนุกสดใส วันนี้เขียนสีนึง อีกวันเขียนสีนึง แต่ครั้นจะให้ซื้อหมึกทุกสีทุกขวดตามที่อยากได้มันก็มากเกินไปใช่มั้ยครับ? ทั้งเรื่องที่ไม่มีที่เก็บ หรือจะเป็นเรื่องเปลืองเงินเปลืองทองอีก(อันนี้สำคัญ) และเรื่องสุดท้ายคือยัยแฟนมันจ้องเล่นงานเราให้ถึงขั้นชีวาวาย ล้วนแล้วแต่เป็นการหยุดยั้งเราไม่ให้ซื้อหมึกหลากหลายสีมาใช้ แต่ต่อไปนี้คุณไม่ต้องกังวลอีกต่อไปครับ เพราะผมมีตัวช่วยพิเศษมาแนะนำให้คุณ!!(ทำเสียงทีวีไดเร็ก)
จากบล็อกตอนก่อนที่ผมแนะนำหมึกไป 2 ตัวคือหมึกสีฟ้ากับหมึกสีเหลืองกับบล็อกตอนนู้นกับหมึกสีชมพูคุณผู้อ่านจำได้ไหมครับ? นี่จึงเป็นบล็อกตอนต่อตอนที่สองที่จะมาพูดถึงเจ้าหมึกเหล่านั่นครับ ผมพยายามเลือกหมึกทั้งสามตัวมาตามหลักของหมึกที่ใช้ในงานพิมพ์หรือก็คือ CMYK ครับ แต่คราวนี้จะไม่ใช้สีดำหรือ K ครับ จะใช้แค่เพียง 3 สีเท่านั้นซึ่งก็คือ CMY ในการผสมครับ และแน่นอนว่ายี่ห้อหมึกที่ผมจะนำมาใช้ก็คงไม่พ้นของยี่ห้อ J.Herbin เนื่องดัวยเพราะยี่ห้อนี้มีเฉดสีหมึกแทบจะเรียกได้ว่าครบทุกสี ทำให้มีสีที่เป็น CMYK อยู่ในชุดของ The Jewel of Inks ด้วย ส่วนจะเป็นหมึกสีอะไร ชื่ออะไรบ้างนั้น เรามาดูกันเลยครับ
สีฟ้า Cyan = Bleu Pervenche
สีชมพู Magenta = Rose Cyclamen
สีเหลือง Yellow = Bouton D’or
สีดำ Black = Perle Noire
4 ขวด….ใช่ครับ 4 ขวดที่คุณจะต้องซื้อ แต่คราวนี้เราจะใช้เพียงแค่ 3 ขวดก็พอครับคุณผู้อ่านจะได้เจ็บตัวน้อยหน่อย กระเป๋าจะได้ไม่ฉีกมากนะครับ (ที่จริงเงินผมมีพอซื้อแค่ 3 ขวดเท่านั้นแหละเลยเอามาแค่นี้ -..-)
ถึงแม้ว่าที่ข้างกล่องของหมึก J.Herbin หรือหมึกยี่ห้ออื่นๆ จะย้ำนักย้ำหนาว่าห้ามผสมหมึกด้วยตัวเองเพราะว่าหมึกอาจจะทำให้ปากกาหมึกซึมที่รักยิ่งของคุณต้องเสียหายได้ แต่ว่ายังไม่เคยมีใครทำการพิสูจน์เลยครับว่ามันจริงเท็จแค่ไหนหรือแท้จริงแล้วบริษัทหมึกอาจจะกลัวขายหมึกสีอื่นๆ ไม่ได้เลยกั๊กไว้ กร๊าาากก แต่อย่างน้อยหากคุณจะทำการผสมสีหมึกด้วยตัวเองผมแนะนำว่าให้ใช้หมึก “ยี่ห้อเดียวกัน” เท่านั้นนะครับ เพราะเราไม่รู้ว่าหมึกแต่ละยี่ห้อมีส่วนผสมอะไรที่ต่างกันแล้วอาจจะก่อให้เกิดปฏิกิริยาขึ้นบ้าง หากผสมกันแล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นกรดขึ้นมาทำลายปากกาจนเสียหายก็จะไม่คุ้มเอานะครับ ดังนั้นใช้ยี่ห้อเดียวกันจะปลอดภัยที่สุด!
อุปกรณ์ที่ต้องเตรียมในครั้งนี้ ของผมใช้ดรอบเปอร์(dropper) หรือก็คือหลอดหยดที่ใช้กันในห้องแล็ปทดลองวิทยาศาสตร์ครับ หรือไม่ก็จะใช้หลอดฉีดยาก็ได้นะครับโดยทั้งสองอย่างนี้เอาไวัใช้เพื่อวัดปริมาณหมึกให้มีมาตรฐานในการผสมครับ สัดส่วนที่ได้จะได้ไม่เพี้ยน หมึกที่ผสมในแต่ละครั้งจะได้เหมือนกันยังไงล่ะครับ นอกจากพวกหลอดหยดกับหลอดฉีดยาแล้วผมแนะนำให้หาขวดแก้วเล็กๆ มาใส่หมึกที่ได้จากการผสมด้วยนะครับ หากผสมมากจะได้มีเก็บไว้ใช้ในครั้งต่อไปครับ
สัดส่วนของการผสมหมึกในครั้งนี้จะใช้สัดส่วน 6 หน่วย หรือก็คือ 6 หยดนะครับ งงมะ? อืม ผมเขียนเองยังงงเองเลยครับ…เอาใหม่ๆ คือหมายความว่าในการผสม 1 ครั้งจะประกอบไปด้วยหมึกจำนวน 6 หน่วย หรือคิดง่ายๆ ก็คือมีหมึกทั้งหมด 6 หยดนั่นแหละครับ ยกตัวอย่างเช่น หมึกฟ้า 1 หยด ต่อ หมึก เหลือง 5 หยด รวมกันแล้วก็ 6 หยดไง ดังนั้นใครจะผสมปริมาณมากกว่านี้ก็คูณสัดส่วนเอาตามใจชอบเลยนะครับ
ผมไม่รอช้าครับ จัดการเขียนสูตรการผสมต่างๆ ลงในสติกเกอร์แปะไว้ที่ขวดใส จากนั้นจึงเริ่มเอาดรอบเปอร์ดูดหมึกแต่ละสีหยดใส่ขวด เขย่าเบาๆ ให้หมึกเข้ากันครับ โดยการผสมในครั้งนี้ผมจะเน้นที่สัดส่วน 1:5, 3:3, 5:1 นะครับเพราะสัดส่วนนี้จะทำให้ได้หมึกที่มีสีแตกต่างกันชัดเจน ส่วนสัดส่วนในการผสมหมึกของผมจะใหัสีเป็นอย่างไรบ้างนั้นขอให้ดูจากภาพที่ผมทดสอบหมึกได้เลยนะครับ
ผลเป็นที่น่าพอใจมากๆๆๆๆ ครับ!! หมึกที่ผสมเข้ากันเป็นอย่างดี ลองเขียนด้วยปากกาลามี่ก็ปรกติดีเหมือนหมึก J.Herbin ทั่วไปเลยครับ(ไม่ได้ถ่ายรูปแฮะ -.,-) ไม่มีอาการอะไรที่ผิดปรกติจากการผสมเลย ยังคงเขียนลื่น แห้งไว และที่สำคัญยังให้สีที่สม่ำเสมอแม้จะเกิดจากการผสมก็ตาม ผมลองผสมสีอื่นมั่วๆ ดูด้วยซึ่งก็ก่อให้เกิดสีใหม่ที่แปลกตาน่าใช้ยิ่งนัก สวยงามจนต้องจดสูตรไว้เผื่อคราวหน้าผมจะได้ไม่พลาดที่จะผสมให้เยอะกว่านี้ไว้ใช้หลายๆ ครั้งครับ
เป็นอย่างไรบ้างครับกับการทดลองเล็กๆ แต่สนุกเว่อร์ในครั้งนี้ คุณสามารถจะสร้างสรรค์หมึกสีต่างๆ ตามแต่ใจคุณต้องการได้ไม่รู้จบ เปรียบเหมือนศิลปินนักปรุงน้ำหอมแห่งฝรั่งเศส ช่างเย็บผ้าที่ตัดเย็บมาตามแต่เฉพาะที่คุณสวมใส่ หมึกสีสวยที่มีเพียงหนึ่งเดียวไม่ซ้ำแบบใคร และที่สำคัญยังประหยัดเงินในการซื้อหมึกทุกสีไปได้มากโข ลองหาซื้อหมึก J.Herbin สีเหล่านี้มาลองผสมดูนะครับแล้วมาเล่าให้กันฟังด้วยว่าหมึกที่น่าสนใจสีนี้ที่เรียกได้ว่าเป็น “หมึกของคุณ” นั้นเป็นสีแบบไหนกัน
.
.
“แต่ยังไงแกก็ต้องซื้อหมึกถึง 3 ขวดใช่มั้ย?!! งั้นโดนนี่ซะ!” เปรี้ยงงงงง!!!!
…ถึงจะผสมหมึกเองก็แล้ว แต่หน้าประตูบ้านผมก็ยังคงเลอะไปด้วยหมึกอยู่ดีครับ โฮฮฮฮฮฮฮ ;_;)/