พิสูจน์ตำนานเมือง 2! หมึกสีน้ำ Ecoline สามารถเติมปากกาลามี่ได้หรือไม่?!!

in Ink by hackhq on 11 Oct 2013

“กลับมาอีกครั้งนะครับกับรายการ “พิสูจน์ตำนานเมือง!” ซึ่งรายการของเราจะเป็นการนำท่านผู้ชมไปไขข้อสงสัย เรื่องลึกลับ หรือตำนานประจำท้องถิ่นที่คุณเคยได้ยินเสียงเล่าลือมา และแน่นอนว่ารายการของเราในวันนี้จะขาดพิธีกรเจ้าประจำที่คอยสร้างสีสันปล่อยมุกแป้กบ้าง ฮาบ้างตามแต่สมองอันน้อยนิดของเค้าจะคิดได้ ขอเสียงปรบมือต้อนรับเค้าคนนี้ คุณ ป.ซายูริ คร้าบบบบ!!!” เสียงผู้บรรยายในทีวีแต่ไม่มีใครเคยเห็นหน้า

“เฮ ฮา เฮ ฮา” เสียงผู้ชมเฮลั่นซึ่งเกิดจากการสังเคราะห์ออกมาจากคอมพิวเตอร์

“สวัสดีครับ ผม ป.ซายูริ กลับมารายงานตัวกับท่านผู้ชมอีกครั้งครับกับรายการ “พิสูจน์ตำนานเมือง!” อ่างไหนใหญ่ อ่างไหนสว่าง อ่างไหนมันส์ เราพร้อมคัดสรรมารีวิวให้ท่านผู้ชมได้ชมกันครับ! ถุ๊ย!! ไม่ได้จะรีวิวอาบอบนวด! แต่พวกเราจะไปพิสูจน์ตำนานเมืองต่างหากล่ะ! โอเคๆ กลับเข้าเรื่องกันดีกว่าครับ มีน้องทางบ้านเขียนจดหมายส่งเข้ามาที่รายการของเรา(ยังมีคนเขียนจดหมายอยู่อีกเหรอวะ?) ถามว่า” ป.ซายูริพูดทิ้งเชิงราวกับตัวเองเป็น อาต๋อย ไตรภาค

“พี่ ป. ครับ ผมหาหมึกปากกาหมึกซึมสวยๆ ไม่ได้เลยครับ สั่งจากต่างประเทศก็ทำไม่เป็น ผมเลยลองไปเดินตามร้านเรื่องเขียนดูครับแล้วก็พบเข้ากับหมึกขวดนี้เข้า” พี่ป.อ่านจดหมายพลางก้มดูรูปที่แนบในซอง

Talens Ecoline Watercolor Ink 30ml

“ผมเลยอยากรู้ว่าหมึกแบบนี้มันสามารถใช้กับพวกปากกาลามี่ได้หรือไม่ครับ? ขอบคุณมากครับพี่ ป.”

“…ดีนะที่ตอนนี้พี่ย้ายมาทำงานที่บางกอกแล้ว เพราะเจ้าหมึกที่น้องส่งรูปมาให้ดูเนี่ยะ พี่ไม่สามารถหาซื้อได้เลยนะที่เชียงใหม่เนี่ยะ ได้ๆๆ ไหนๆ น้องก็ถามเข้ามาแล้ว มีหรือที่รายการเราจะไม่พิสูจน์ตำนานนี้! เพราะนี่คือรายการอะไรครับ?!” ป.ซายูริยื่นไมโครโฟนออกไปในอากาศ

“พิสูจน์ตำนานเมือง!” – เด็กกอง 2 คนตะโกนขึ้นขณะแบกกระติกน้ำแข็งลงจากรถ

“ใช่ครับ! เรื่องอะไรที่คุณอยากรู้ เรื่องอะไรที่คุณอยากพิสูจน์ เราจะไขให้กระจ่างเองครับ!”

“วันนี้เราจะมาพิสูจน์ตำนานเมืองเรื่องหมึกที่มีชื่อว่า Ecoline กันครับ อันที่จริงหมึกตัวนี้มันไม่ใช่หมึกปากาหมึกซึมหรอกนะ แต่มันเรียกว่า “สีหมึก” …งงใช่มั้ยครับ? ฝรั่งมังค่าเข้าเรียกหมึกแบบนี้ว่า Liquid Watercolor มันคือสีน้ำในรูปแบบของหมึกครับ เวลาจะใช้ก็เอามาหยดบนหลุมจานสีแล้วก็เอามาระบาย มาผสมใช้ได้แบบสีน้ำเลย ข้อดีก็คือสะดวกตรงที่ไม่ต้องคอยผสมน้ำก่อนใช้ แต่ที่สำคัญก็คือสีมันโปร่งแสงครับ ทาทับเส้นปากกาได้เลยโดยที่ยังเห็นเส้นชัดอยู่นั่นเอง” พี่ ป. พล่ามน้ำลายกระเด็น

ทั้งสองร้านขายอยู่ที่ขวดละ 99 บาทนะครับ

“หมึกขวดนี้สามารถหาซื้อได้ตามร้านเครื่องเขียนชั้นนำทั่วไปครับไม่ว่าจะเป็นร้านสมใจหรือจะเป็นสยามมาร์เก็ตติ้งก็ตาม อันที่จริงสีหมึกประเภทนี้ก็มีขายด้วยกันหลายยี่ห้อนะ แต่ที่พบเจอได้บ่อยที่สุดและราคาเป็นมิตร(เหรอ?) ก็จะเป็นยี่ห้อ Ecoline นี่แหละครับ ราคาอยู่ที่ขวดละ 99 บาท กับปริมาณความจุที่ 30 ml มีให้เลือกกันทั้งหมด 46 สี (ไม่รวมสีขาวกับสีทอง อีก 2 สีนะ) ซึ่งถ้าเทียบกับหมึกปากกาหมึกซึมที่วางขายทั่วไปก็ต้องถือว่าราคาถูกทีเดียว แต่ว่ามันจะสามารถใช้กับปากกาลามี่สุดรักได้มั้ย เราต้องมาพิสูจน์กันครับท่านผู้ชม!” พี่ป.ตะโกนออกไปเบื้องหน้าที่ว่างเปล่า

อันนี้สีทองครับ เห็นตกตะกอนชัดเจนเลย อย่าไปเอามาใช้ล่ะ

นี่คือตัวอย่างแบบที่สามารถใช้ได้ครับ ในรูปนี่สีเหลืองนะ

“หมึกที่ผมเตรียมมาในวันนี้มี 2 ขวด 2 สีตามที่งบของรายการจะสามารถซื้อมาได้ครับ สีแรกก็มาตรฐานสีดำครับ เบอร์ 700 กับอีกสีคือสีเขียนอ่อนเบอร์ 601 ครับ แต่ก่อนหน้านั้นผมอยากจะขอเตือนอะไรหน่อยนึงนะครับว่าสีหมึก Ecoline นี่ไม่ใช่ว่าทุกขวดจะสามารถเอามาลองเติมปากกาหมึกซึมได้นะ เพราะบางขวดจะมีเนื้อสีตกตะกอนแยกกับตัวน้ำยาสังเกตุเห็นได้อย่างชัดเจน ไอขวดพวกนี้ ‘ห้าม’ นำมาเติมเป็นอันขาดนะครับไม่อย่างนั้นปากกาลามี่ของคุณอาจจะตันถาวรเลยก็ได้ ดังนั้นให้เลือกสีหมึกขวดที่พอเราดูน้ำหมึกแล้วเห็นเป็นใสๆ ไม่ตกตะกอน เช่นพวกสีเหลืองหรือสีเขียวอ่อนที่ผมนำมาให้ดูในวันนี้นั่นแหละ” ป.ซายูริ ยกขวดหมึกยื่นเข้าหากล้องถ่ายรูปสมัย 8 ปีก่อนที่มีฟังก์ชั่นถ่ายวิดีโอได้

ขวดสีเหลี่ยมเล็กน่ารักขนาด 30ml

น้ำหมึกเขียวใสจริงๆ เห็นแล้วนึกถึง Macha Rock

“ก่อนอื่นเรามาลองเปิดฝาขวดเพื่อดูสภาพน้ำหมึกกันก่อนเลยดีกว่าครับ อ้อ! อย่าลืมเขย่าขวดก่อนดื่มทุกครั้งนะครับ” พิธีกรดังหันหน้าด้านข้างเข้าหากล้องแล้วขยิบตาอย่างมั่นใจ

เปรียบเทียบชัดเจน สีหมึกสีดำตะกอนเพียบ จะใช้ก็ระวังๆ หน่อยนะครับ ล้างปากกาด้วย

“คุณผู้ชมเห็นความแตกต่างมั้ยครับ?! กล้องครับ ช่วยซูมเข้ามาใกล้แล้วจับภาพค้างไว้ที่ใต้ฝาของขวดหมึกหน่อยครับ สิ่งที่ท่านผู้ชมกำลังดูอยู่นี่คือตะกอนของหมึกครับ จะเป็นว่าในสีหมึกสีเขียวอ่อนนั้นน้ำหมึกจะใสไม่มีตะกอนติดอยู่ที่ฝาขวดเลย ต่างกับสีหมึกสีดำที่สามารถเห็นตะกอนของหมึกหลงเหลืออยู่ใต้ฝาขวดหมึกได้อย่างชัดเจน ที่ผมให้ดูนี่ก็เพื่อที่จะให้ระมัดระวังไว้ครับว่าตะกอนหมึกเล็กๆ เหล่านี้นี่แหละที่จะไปอุดตันตามรางส่งหมึกในปากกาหมึกซึมของคุณ ยิ่งถ้าทิ้งไว้นานไม่มีการล้างปากกาอย่างสม่ำเสมอ ตะกอนหมึกเหล่านี้ก็จะอุดตันรางส่งหมึกจะเขียนไม่ออกอีกต่อไป ดังนั้นระวังให้ดีนะครับ เลือกหมึกคุณภาพสูงเพื่อปากกาลามี่ด้ามที่คุณรัก!!” หันไปจูบลามี่ซาฟารีสีดำด้าน Charcoal Black ด้ามแรกที่แฟนซื้อให้ (อิอิ)

ข้างขวดบอกว่าใช้กับพวกแอร์บรัช พู่กันและปากกาเขียนแบบได้ด้วย

“จากที่ทางรายการได้ทำารเติมหมึกเข้าไปในปากกาลามี่เพื่อทดสอบ หมึกทั้งสองตัวนี้ให้ผลทดสอบที่เหมือนกันครับพอสรุปเป็นข้อๆ ได้ดังนี้”

สีเขียวอ่อนเขียนออกมาได้ตามนี้ครับ สีสวยแต่เสียดายไม่สม่ำเสมอ

สีดำเสียดายที่ไม่ดำสนิท ออกไปทางจางหน่อยๆ นะ

Color หมึกทั้งสองตัวเนื่องจากความที่เป็นสีหมึกสำหรับใช้ระบายสี จึงทำให้น้ำหมึกนั้นมีลักษณะเหลวและจางครับ สีของหมึกที่ได้จึงอ่อนไม่เข้มชัดมาก โดยในหมึกสีเขียวนั้นก็จะออกไปในแนวสีเขียวอ่อนสวยๆ ใสๆ พอให้อ่านได้ และเช่นกันในส่วนของหมึกดำก็มีเนื้อหมึกจางเหมือนกัน เวลาที่เขียนจึงทำให้ไม่ได้สีดำเข้มแต่จะออกไปในทางสีดำอ่อนบ้างเข้มบ้างตามแต่ปริมาณหมึกที่ไหล ณ เวลานั้น

Feather เนื่องจากตัวน้ำหมึกที่เหลวมาก จึงทำให้เปนธรรมดาที่จะสีอาการเส้นแตกพอให้เห็นได้บ้างแต่ไม่มากมายบนกระดาษแบบธรรมดาของ Moleskine ครับ

Dry Speed จัดว่าเป็นหมึกที่แห้งเร็วครับ โดยความเร็จจะอยู่ในช่วง 5 วินาที ทั้งนี้เนื่องมาจากการที่น้ำหมึกเหลวมากจึงสามารถซึมลงกระดาษได้อย่างรวดเร็วไม่หลงเหลืออยู่บนพิวกระดาษมากนัก

ดีนะที่เอาอะไรรองไว้ ไม่งั้นตอนปาดหมึกมีซึมทะลุไปหลายหน้าแน่

ไม่ยอมน้อยหน้าจ้าาาาา

Bleed จะเหลือเหรอครับ?!!

ถ้าแม่มาเห็นตัวหนังสือคงร้องออกมาว่า "ชั้นไม่ได้เลี้ยงแกให้เป็นคนแบบนี้นะ!"

Ink Flow หมึกไหลลื่นดีครับแต่เป็นลื่นแบบไม่มีคุณภาพเพราะถึงหมึกจะไหลลื่นดีแค่ไหนแต่ให้สีที่ไม่สม่ำเสมอก็ไม่มีประโยขน์ จริงมั้ย?

Smooth ความลื่นที่ผมให้ระดับตกนรกหมกไหม้ไปเลยครับ หมึกตัวนี้ความรู้สึกเหมือนเอาหมึกที่ผสมน้ำอย่างเจอจางมาใส่ในปากกา ดังนั้นการที่เหมือนน้ำนี้เองที่ทำให้เวลาเขียนจะฝืดมาก บากเส้นเร็วๆ ก็ฝืดเขียนก็ติดๆ ขัดๆ ถ้าหากเป็นคนที่เขียนเร็วจะหงุดหงิดมาก นอกจากนั้นเวลาลากเส้นซ้ำๆ ก็จะทำให้กระดาษเปียกชุ่มไปด้วยหมึกกระดาษก็ถลอกอีก

วันนี้ผมได้รับเกียรติจากผู้พันแซนเดอส์มาร่วมเป็นพยานในการทดสอบหมึกด้วยครับ

เหตุการณ์ผ่านไปไวมากครับและนี่คือเศษซากจากน้ำมือของผู้พัน

Waterproof นี่ก็เหมือนกัน จะเหลือเร๊อะ?!!

ลองผสมหมึกเองก็ได้สีเขียวใบไม้ที่น่าสนใจไปอีกแบบแฮะ

“ยังครับ! รายการของเรายังไม่จบเพียงเท่านี้ เราได้ลองเอาหมึกทั้งสองตัวมาผสมกันดูเพื่อเพิ่มความเข้มให้กับหมึกสีเขียวขึ้น เผื่อว่าเวลานำไปใช้จะได้เห็นได้ชัดเจนซึ่งผลก็ออกมาเป็นที่น่าพอใจเลยทีเดียว จากสีเขียวอ่อนผสมกัลสีดำในปริมาณเล็กน้อย ทำให้ได้หมึกสีเขียวใบไม้ สวยงามไปอีกแบบทีเดียว” เด็กกองวางกระติกน้ำแข็งวิ่งมากดปุ่มเปิดเสียง เฮ ประกอบรายการ

“เป็นอย่างไรกันบ้างครับกับรายการ ‘พิสูจน์ตำนานเมือง!’ ตอนที่ 2 ในวันนี้ น้องๆ ที่สงสัยคงจะหายสงสัยแล้วนะครับว่าเจ้าสีหมึก Ecoline มันสามารถใช้กับปากกาหมึกซึมอย่างลามี่ได้จริงๆ เพียงแต่ว่าต้องเลือกอย่างระมัดระวังโดยเลือกเฉพาะสีที่ไม่ตกตะกอน แต่ถ้าจะถามพี่ ป. ว่าพี่แนะนำให้น้องไปซื้อหามาใช้มั้ย? พี่ตอบได้เลยนะครับว่าถ้าน้องสิ้นไร้ไม้ตอกหาหมึกปากกาหมึกซึมไม่ได้จริงๆ ก็ลองซื้อสีหมึก Ecoline มาใช้เหอะ แม้มันจะไม่ให้ประสบการณ์ในการเขียนที่ดีเลย เขียนก็ฝืดติดๆ ไม่ลื่นมือ สีเส้นหรือตัวอักษรก็ไม่สม่ำเสมอเดียวเข้มเดี๋ยวจาง แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีหมึกสีสวยๆ ให้เลือกพอสมควรเลยเชียวล่ะ หากอยากใช้หมึกหลากสีก็ลองหามาใช้ได้เลยนะ” ป.ซายูริ หันมาหลิ่วตาให้กับกล้องที่วางไว้บนลังไม้ผุๆ

ขอเก็กหล่อส่งท้ายหน่อยนึงถึงแม้จะง่อยไปหน่อยก็ตาม...

“พบกันได้ใหม่กับรายการ ‘พิสูจน์ตำนานเมือง!’ ในโอกาสหน้า…ที่ทางช่องไม่มีรายการอะไรจะเอามาลง แต่โปรดระลึกไว้เสมอนะครับ! เรื่องอะไรที่คุณอยากรู้! เรื่องอะไรที่คุณอยากพิสูจน์! เราจะไขให้กระจ่างเอง! สวัสดีครับ!!”

หากอ่านแล้วถูกใจชอบใจ ฝากกดแชร์ด้วยนะครับ ขอบคุณครับ \( - 3-)/
โพสตอนนี้อยู่ในหมวด Ink และมี tag ดังนี้ , , , โพสเมื่อวันที่ .
hackhq

คนธรรมดาที่หลงใหลในการสเก็ตช์ ใช้ปากกาลามี่เป็นอาวุธ มีสมุด Moleskine เป็นผืนผ้าใบและมีจินตนาการในรูปของสีน้ำ หลงใหลรูป รส กลิ่น ของกาแฟ และเคลิบเคลิ้มกับเสียงของดนตรีแจ๊ส | ติดต่อผมบนทวิตเตอร์ได้ที่ @hackhq

เว็บไซต์ : https://www.bbblogr.com