สำหรับบล็อกในวันนี้…ผมไม่รู้เหมือนกันว่าจะเรียกว่ารีวิวได้เต็มปากเต็มคำดีมั๊ย เพราะว่ามันเหมือนกับการลองผิดลองถูกเสียมากกว่าครับ เรื่องของเรื่องมันมีอยู่ว่าผมได้รับงานวาดภาพโลโก้ของพี่ที่รู้จักชิ้นนึงซึ่งแน่นอนว่าการวาดแบบนี้ต้องมีการวาดซ้ำๆๆๆ สเก็ตช์ซ้ำๆๆๆ จนกว่าเราจะพึงพอใจ ดังนั้นกระดาษที่ใช้เพื่อทดลองวาดนั้นจึงต้องสามารถวาดทิ้งวาดขว้างได้และเมื่อพอใจแล้วจึงค่อยเปลี่ยนไปวาดลงกระดาษจริงๆ จึงจะเป็นอันจบกระบวน ผมจึงต้องวิ่งไปที่ร้านเครื่องเขียนใกล้บ้านเพื่อเหมากระดาษที่ว่านี้ครับ
ตัดภาพมาที่ตัวผมยืนอยู่ที่ชั้นวางกระดาษสีน้ำของร้าน Art & Paper ใน B2S ห้างเซ็นทรัลพระราม 9 ซึ่งก็คือร้านของบริษัท HHK Intertrade ที่ชอบจัดงานลดราคาท้าวัดใจคนรักศิลปะอยู่ทุกๆ เดือนนั่นแหละ ผมยืนเลือกอยู่สักพักเพราะไม่รู้จะเลือกอะไรมาใช้ดีเพราะกระดาษของเค้ามีเยอะแยะเต็มไปหมด ผมคุยกับพนักงานขายที่ผมคุ้นเคยเพราะมาบ่อยแต่ไม่เคยซื้อแล้วก็ถามว่า “มีกระดาษสีน้ำราคาย่อมเยาที่สามารถวาดทิ้งวาดขว้างได้โดยไม่เสียดายมากนักขายมั้ยครับ?” คุณพนักงานขายเค้าก็ตอบมาว่า “มีครับพี่ ใช้ Canson Montval ก็ได้นะ เหมาะสำหรับผู้ที่กำลังหัดใช้สีน้ำ คุณภาพสูงแถมราคาไม่แพงอีกด้วย” (อันนี้ไม่ได้ค่าโฆษณานะ…อีกเช่นเคย T_T) ผมก็โอเคถอยเล่มใหญ่มาเล่มนึง แต่ทีนี้ก่อนออกจากร้านผมก็หันไปถามพนักงานขายอีกทีเนื่องจากยังค้างคาใจ เพราะว่าที่ผมตั้งใจมาในวันนี้ก็เพราะอยากได้กระดาษสีน้ำหนากว่าปรกติแต่ที่มีให้เลือกนั้นก็จะเป็นขนาด 300 แกรมซึ่งของ Canson ซึ่งก็ขายเป็นเล่มใหญ่เกินไปใช้ไม่หมด ครั้นจะให้ถอยเกรด Artist แผ่นใหญ่ออกมาก็ผิดวัตถุประสงค์ที่อยากได้กระดาษราคาถูกสำหรับทดลองวาด
Canson Acrylique (ชื่อสะกดตามหน้าสมุด) [เว็บไซต์] อ่านจากชื่อก็ทำให้รู้ว่ามันเป็นกระดาษอะคริลิค นั่นหมายความว่ามันเป็นกระดาษสำหรับลงสีอะครีลิคครับ… อ้าวไอปอนด์! ไหนแกบอกว่าแกเป็นสเก็ตช์เชอร์สายวาดเส้นหมึกและสีน้ำไง!! แล้วก็จะเอากระดาษสำหรับสีอะคริลิคมาทำหลังคาบ้านแหเหรอ? หรือว่าอยากเปลี่ยนแนวหันมาลองสีอะครีลิคดูบ้าง? คือเรื่องมันเกิดขึ้นรวดเร็วมากครับแต่ผมจำได้ลางๆ ว่าผมหันหลังกลับไปถามพนักงานขายว่า “น้องมีกระดาษหนาๆ ที่ราคาไม่แพงสำหรับสีน้ำขายบ้างมั้ย?” เค้าก็แนะนำว่านี่ไงพี่ canson 300 แกรม แต่ผมก็ไปหยิบมาดูแล้วเลยถามต่อว่ามีแบบอื่นอีกมั้ย? พนักงานก็เลยเดินไปหยิบสมุดเล่มนี้มาให้ครับแต่ผมก็มองหน้าเค้าแล้วก็ก้มมองสมุด แล้วก็มองหน้าพนักงานขายแล้วก็มองสมุด แล้วก็เงยหน้ามอง…จะก้มๆ เงยๆ กันอีกนานมั้ย?!! ผมก็ถามเค้าว่านี่มันเป็นกระดาษสำหรับเพ้นต์สีอะคริลิคนี่ มันใช้กันกับสีน้ำได้ด้วยเหรอ? แต่พนักงานเค้ายืนยันครับว่าสามารถใช้ได้จริงๆ ครับพี่ พี่ลองเอาไปใช้ดูแล้วพี่จะแปลกใจ โอเคครับ…เดินออกจากร้านก็พบว่าเงินหายไปจากกระเป๋าอีกร้อยนึง
สมุดเล่มนี้ผมได้มาจากร้าน Art & Paper ตามที่บอกไปนั่นแหละ ซึ่งราคาของสมุดเล่มนี้นั้นอยู่ที่ 98 บาท เป็นสมุดที่ยึดกระดาษด้วยกาวแค่ด้านเดียวทำให้สามารถฉีกได้เหมือนกระดาษจดเมนูก๋วยเตี๋ยว ไม่ได้ยึดสี่ด้านสีมุมเหมือนกับบล็อกกระดาษสีน้ำ สมุดมีขนาด A5 หรือก็คือ 14.8 x 21 เซนติเมตร กระดาษสีขาวสว่างจำนวนทั้งสิ้น 10 แผ่น และความหนาของกระดาษ(น้ำหนัก)อยู่ที่ 400 gsm ซึ่งอู้วหูววว! หนังหนาจริงๆ เลยนะแกเนี่ย!
สำหรับคุณผู้อ่านหลายคนแล้วคงจะทราบกันดีใช่ไหมครับว่าสีประเภทอะคริลิคนั้นมีความแตกต่างกับสีน้ำอยู่มากเพราะเป็นสีที่มีความข้นหรืออณูของสีที่ใหญ่กว่าสีน้ำ ทำให้เวลาเราทำการเพ้นต์ภาพก็จะต้องใช้วัสดุพื้นที่ต่างกับสีน้ำ ซึ่งการเพ้นต์สีอะคริลิคนั้นโดยทั่วไปแล้วจะใช้ผ้าใบหรือที่เรียกว่าผ้า canvas มาขึงตีเฟรมแล้วจึงค่อยละเลง แต่ก็แน่นอนว่าการซื้อผ้าการตีเฟรมนั้นทั้งมีต้นทุกที่ค่อนข้างสูงและต้องใช้เวลาเตรียมการพอสมควร ครั้งจะให้ศิลปินสีอะคริลิดตีเฟรมแล้วเพ้นต์ๆๆๆ เอ้า! ลองเพ้นต์แบบอื่นดูซิก็ต้องเมื่อยทำเฟรมบ่อยๆ เป็นแน่ และถึงแม้ว่าจะมีเฟรมสำเร็จรูปขายก็ยังถือว่ามีต้นทุนที่สูงพอสมควรจึงไม่คุ้มที่จะทำมาฝึกทดลองเพ้นต์สีเล่น นั่นจึงเป็นที่มาของกระดาษสำหรับเพ้นต์สีอะคริลิคครับ เนื่องด้วยเพราะเป็นกระดาษจึงทำให้ต้นทุนต่อแผ่นนั้นถูกลง แต่ถ้าเป็นกระดาษเฉยๆ ก็ใช้กับสีอะคริลิคไม่ได้นะ ต้องมีความหนาที่เหมาะสมด้วย ซึ่งกระดาษสำหรับสีอะคริลิคนั้นถ้าจะให้สามารถเพ้นต์ได้ดีก็ควรที่จะมีความหนาอย่างน้อย 300 แกรมขึ้นไปจึงจะไม่โก่งงอเมื่อเวลาเพ้นครับ
คำถามก็คือว่า “แล้วมันสามารถใช้กับสีน้ำได้จริงเหรอ?” นั่นสินะครับผมก็ไม่รู้เหมือนกัน…งั้นจบเพียงแค่นี้ละกันนะคืนนี้…ไอบ้า! เขียนได้ไม่ทันไรก็จะอู้ไปนอนอีกแล้ว! แกนี่มันชอบทำให้ค้างคาแล้วก็ร้างลาจากกันไปแบบไม่ใยดีเลยจริงๆ (พูดเหมือนคนมีปมอะไรในใจ…) แหมๆๆๆๆ ก็พนักงานขายเค้าแนะนำมาซะขนาดนี้แถมบอกว่าใช้ได้พี่เชื่อผม! ผมก็ต้องเอามาลองทดสอบให้หายค้างคากันไปเลย
ผมเปิดหน้าสมุดขึ้นมาพร้อมกับกำปากกาลามี่ AL-Star หัวตัดขนาด 1.1 และอีกด้ามกับ nib F ไว้ในมือเตรียมพร้อมสำหรับการสเก็ตช์ในครั้งนี้ แน่นอนว่าผมต้องสำรวจตรวจสอบกระดาษเสียก่อนว่ามันมีลักษณะเป็นอย่างไร ตัวกระดาษนั้นทำมาจากเยื้อไม้อย่างไม่ต้องสงสัยและมีขนาดที่หนามาก ลูบไล้แล้วให้สัมผัสเหมือนกระดาษสีน้ำแบบ cold-pressed ผิวกึ่งเรียบกึ่งหยาบ texture ไม่ใหญ่ เรียกได้ว่าแทบจะเหมือนกับกระดาษสีน้ำทั่วไปทีเดียวเลยล่ะ
ผมเริ่มด้วยการวาดเส้นด้วยปากกาก่อนครับ ซึ่งหมึกที่ใช้นั้นก็คือ De Atramentis Document Ink ที่ผมเถิดทูนให้เป็นเทพหมึกกันน้ำองค์ใหม่ในดวงใจของผม เบียดแซงหน้า Platinum Carbon Black จนตกจากสวรรค์ไปได้อย่างสวยงาม ความรู้สึกแรกเมื่องลงเส้นนั้น กระดาษสามารถรับน้ำหมึกได้ดีทีเดียวครับ ลากเส้นแบบใดก็ได้ไม่สะดุด แต่เมื่อวาดไปสักพักก็เริ่มเจอปัญหานั่นก็คือว่าในส่วนที่ผมมีการลากเส้นซ้ำหลายครั้งหรือสานเส้นต้องการจะถมดำ หมึกมันก็ไม่ค่อยซึมลงเนื้อกระดาษครับ มันเหมือนกับว่ากระดาษไม่สามารถรองรับน้ำหมึกหลายๆ ชั้นได้ ดังนั้นเราต้องใจเย็นนิดนึงนะครับต้องรอให้หมึกแห้งสนิทเสียก่อนถึงค่อยวางมือหรือทำอะไรต่อไป ไม่อย่างนั้นภาพเละแน่ๆ
ถึงคราวที่จะมาทดสอบลงสีน้ำตามที่พนักงานขายเค้าเชียร์กันมาแล้วล่ะครับ ผมทิ้งกระดาษไว้ประมาณ 20 นาทีแล้วก็ไปนั่งเล่นเกมในส้วม รอเพื่อให้แน่ใจว่าหมึกปากกาที่วาดไปนั้นมันแห้งสนิทจริงๆ แน่นอนล่ะว่าผมหมดห่วงเรื่องคุณสมบัติการกันน้ำของหมึกเพราะกันน้ำได้แน่นอน 99.99% แต่ก็ยังหวั่นใจเรื่องไม่แห้งนี่แหละครับ หลังจากล้างก้นด้วยที่ฉีดน้ำแรงดันสูง ล้างไม้ล้างมือและเช็ดมือกับชายเสื้อให้แห้งสนิทแล้ว(เหมือนจะสะอาดนะมีล้างไม้ล้างมือ แต่ทำไมแลดูโสโครกจังวะ???) ผมจึงกลับมาที่โต๊ะพร้อมละเลงสีน้ำเพื่อทดสอบขั้นสุดท้ายครับ
เริ่มจากการใช้พู่กันระบายน้ำเปล่าในส่วนของพื้นหลังให้ทั่วเพราะต้องการลงสีพื้นแบบฟุ้งๆ ผมใช้น้ำในปริมาณที่คุ้นเคยเหมือนกับในทุกๆ ครั้งที่ใช้กับกระดาษสีน้ำเพราะเห็นว่าเป็นกระดาษที่หนาถึง 400 แกรม พบว่ากระดาษอุ้มน้ำได้ในระดับปรกติแต่จะไม่ค่อยซึมลงไปในเนื้อกระดาษมากนัก จากนั้นก็ผสมสีชมพูปนม่วงให้เหลวแล้วจึงระบายซ้ำลงไปบนกระดาษส่วนที่ระบายน้ำไปในตอนแรกซึ่งผลที่ได้ก็เป็นไปตามคาด นั่นก็คือสีน้ำซึมลงไปในเนื้อกระดาษได้เหมือนกระดาษสีน้ำแบบปรกติเกรดนักเรียน สีซึมได้ดีแต่ถ้าใช้น้ำในปริมาณมากเกินไปก็ซึมได้ไม่ดีเท่าที่ควร ลักษณะก็คือน้ำสีจะไหลลอยอยู่บนผิวกระดาษไม่ยอมซึมในบริเวณที่เราลงน้ำจนชุ่ม ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเพราะมันเป็นกระดาษสำหรับสีอะคริลิค แต่เพราะว่ามันเป็นคุณสมบัติการอุ้มน้ำของกระดาษที่ทำจากเยื้อไม้หรือที่เรียกว่า cellulose ดังนั้นเทคนิคการระบายบนกระดาษแบบนี้จะต้องรอให้กระดาษหมาดน้ำสักนิดแล้วจึงค่อยระบายสีน้ำครับหรือไม่ก็อย่าใช้น้ำที่ชุ่มจนเกินไป ที่สำคัญก็คือต้องใจเย็นหน่อยรอให้สีซึมลงไปในกระดาษและแห้งเสียก่อนจึงค่อยลงสีอื่นทับตามได้ และหลังจากระบายสีน้ำไปสักพักเมื่อเริ่มจับทางได้มีการลดปริมาณน้ำลงก็ทำให้สามารถลงสีน้ำได้อย่างเป็นปรกติครับ เมื่อทิ้งไว้ให้แห้งสีที่ได้ก็ยังสดสวยไม่ได้ซีดจางลงไปเลย
ผมมองว่าสมุด Canson Acrylic ถึงชื่อมันจะไม่ได้บ่งบอกถึงความเป็นกระดาษสำหรับสีน้ำ แต่เพราะมันมีความหนาเหมาะสมกับการใช้กับสีอะคริลิคจึงได้ชื่อนี้มา และแน่นอนว่าใช้เทคโนโลยีการผลิตที่เหมือนกันกับกระดาษสีน้ำแต่ก็จะมีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้กระดาษนั้นเหมาะสมต่างกันไปกับเทคนิคการใช้สีแต่ละประเภทแต่ละชนิด แต่ก็สามารถใช้แทนกระดาษสีน้ำได้! และด้วยกระดาษที่หนาถึง 400 แกรมทำให้เราคิดดัดแปลงอะไรได้หลายอย่างไม่เพียงเฉพาะใช้วาดภาพอย่างเดียว บางงานเราต้องการกระดาษสีน้ำที่หนากว่าปรกติแต่ราคาก็สูง เราก็สามารถใช้กระดาษชนิดนี้ทดแทนกันได้ จะทำที่คั่นหนังสือหรือแผ่นป้ายใบ้คำสำหรับเด็กก็ดีเพราะความหนาพอเหมาะ ดั้งนั้นหากคุณกำลังมองหากระดาษสำหรับสีน้ำที่มีความหนาที่มากเป็นพิเศษในราคาที่สบายกระเป๋าแล้วละก็ เดินเข้าร้านเครื่องเขียนไปหยิบ Canson Acrylic มาลองกันได้ครับ สนุกไม่ใช่เล่นเลยล่ะ! 😉