ครั้นจะพูดถึงการสเก็ตช์ภาพคน เพื่อนๆ มือใหม่หัดสเก็ตช์อาจสงสัยว่า เราจะเริ่มต้นจากตรงไหนดีน๊า เพราะการวาดคนนั้นอาจต้องใช้เวลาอย่างมากในการศึกษากายวิภาคศาสตร์ ทั้งสัดส่วน กล้ามเนื้อ อวัยวะต่างๆ แค่ใช้เวลาหัดวาดมือวันนึงยังไม่พอเลยค่ะ จะชี้นิ้ว กำมือ แบมือ เอียงซ้ายบ่ายขวา นี่ถ้าหัดวาดทั้งตัวจะได้ภาพเยอะขนาดไหน (เป็นความท้าทายอย่างหนึ่งค่ะ ซึ่งเรื่องนี้ปอยจะไม่ยุ่งนะฮ้า) ก็ไม่รู้สินะ (ทำเสียงใส่จริตนิดส์นึง) อยากเก่งก็ต้องหมั่นฝึกฝนใช่ป่ะล่ะ เมื่อเพื่อนๆ สเก็ตช์ภาพเมืองอันวิจิตรได้สำเร็จแล้ว หากแต่ยังขาดซึ่งจิตวิญญาณของภาพ ขาดความน่าสนใจ ภาพดูรกร้างว่างเปล่า เหมือนทำขนมลืมใส่น้ำตาล จืดชืดไร้รสชาดจะกลืนก็ฝืดคอ การเติมผู้คนลงในภาพสเก็ตช์ช่วยแก้ปัญหานี้ได้จ้า
สเก็ตช์ผู้คนลงในภาพช่วยให้ภาพนั้นมีความน่าสนใจมากขึ้นได้ยังไง ทำไมต้องใส่คนลงไปด้วยล่ะ กว่าจะสเก็ตช์เมืองเสร็จก็ประดิษฐ์ประดอยพออยู่แระ ปอยได้อ่านวิธีสเก็ตช์ภาพคนของคุณ Wes Douglas แห่ง Urban Skercher – Chicago เข้าไปอ่านฉบับเต็มกันได้ที่นี่ค่ะ เค้าบอกถึงเหตุผลดีๆ ที่เราควรจะใส่คนลงในภาพไว้ 5 ข้อด้วยกัน
ข้อแรก ช่วยให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างสัดส่วนของคนและสิ่งแวดล้อมค่ะ เราจะได้รู้ว่าต้นไม้หรืออาคารนี้สูงชะลูดตูดปอด หรือต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ใหญ่โตขนาดไหนก็ประมาณเอาจากขนาดของคนที่แปะลงไปนั่นล่ะ
ข้อที่สอง เป็นการเพิ่มกิจกรรมของผู้คนลงในภาพสเก็ตช์ ทำให้รู้ว่าสถานที่นี้มีคนเดินขวักไขว่ไปมา หรือสงบเงียบเป็นส่วนตัว กิจกรรมต่างๆ ช่วยเพิ่มเสน่ห์ให้ภาพ ไม่ว่าจะเป็นภาพครอบครัวนั่งปิกนิก เด็กๆ วิ่งไล่จับผีเสื้อ แม้แต่นักดนตรีเปิดหมวก ข้อดีอีกอย่างคือทำให้เรารู้จักสถานที่มากขึ้นด้วยนะจ๊ะ
ข้อที่สาม เพื่อสังเกตความเป็นอยู่ของผู้คน นอกจากกิจกรรมที่ผู้คนทำในยามว่างแล้ว การใช้ชีวิตประจำวันก็น่าสนใจไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นแม่ค้าขายลูกชิ้น คนงานกำลังก่อสร้าง หรือผู้คนจับจ่ายซื้อของ อิริยาบถเหล่านี้ล้วนทำให้ภาพเมืองของเรามีชีวิตชีวามากขึ้นค่ะ
ข้อที่สี่ เพื่อเก็บจังหวะความประทับใจในอารมย์ต่างๆ อาจมีโมเม้นท์ที่เราอยากเก็บเอาไว้เป็นความทรงจำ เมื่อหยิบภาพมาดูก็หวนนึกถึงเหตุการณ์นั้น นอกจากนี้ยังสามารถสื่อให้คนอื่นเข้าใจอารมณ์ของภาพได้อีกด้วยไงล่ะ เพิ่มคนลงในภาพนี่มันดีจริงๆ
ข้อที่ห้า ได้ภาพสเก็ตช์ที่ไม่ได้ตั้งใจมาก่อน เช่นอยู่ๆ ก็เจอคนนั่งอ่านหนังสือพิมพ์ คนนั่งจิบกาแฟ หรือแม้แต่คนนั่งหลับ ซึ่งเหมาะมากที่จะสเก็ตช์คนแบบลงรายละเอียด เพราะเค้าจะอยู่ท่านั้นเป็นเวลาค่อนข้างนาน สามารถเป็นนายแบบนางแบบให้เราสเก็ตช์สบายเลย
อ่านเหตุผลข้างบนแล้วอยากสเก็ตช์คนลงในภาพบ้างรึยังคะ จะว่าไปการสเก็ตช์คนก็มีหลายแบบให้เราเลือกอย่างสนุกสนาน คุณพี่ Wes Douglas เค้าก็ให้มาถึง 5 แบบ มาดูค่ะ ว่าอันไหนที่อยากจะลองเอามาสเก็ตช์เล่นดี
แบบที่ 1 The Stick Figure Silhouette
เป็นการวาดคนรวมไปกับเสื้อผ้าเลย เหมาะกับการวาดคนที่อยู่ไกลและไม่ได้ตั้งใจให้คนเป็นจุดเด่นค่ะ ปอยว่าอันนี้น่าจะเหมาะกับการสเก็ตช์ภาพเมืองที่หลายคนชอบนะ สเก็ตช์เมืองเสร็จก็เติมคนเข้าไปนิดนึงกิ๊บเก๋อ่ะ
แบบที่ 2 The A-Frame People
เป็นการสเก็ตช์คนในท่าทางต่างๆ โดยใช้รูปทรงของตัวอักษร “A” เป็นโครงร่างค่ะ ซึ่งไม่ได้เน้นให้ถูกต้องตามหลักสรีรวิทยานะ (แต่มันก็ดูมีสไตล์ดีอ่ะ ชอบๆ) เหมาะที่จะใช้วาดคนระยะไกลและประกอบในภาพเฉยๆ คล้ายการสเก็ตช์แบบที่ 1 นั่นล่ะค่ะ
แบบที่ 3 Block People – Basic
สเก็ตช์ผู้คนด้วยรูปทรงสีเหลี่ยมและวงกลม ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีรายละเอียดมากนัก อันนี้น่าจะเป็นการสเก็ตช์คนที่มีระยะใกล้ขึ้นมาอีกหน่อย ทำให้เราใส่รายละเอียดได้มากขึ้น สามารถลงสีสันให้กับเสื้อผ้าหรือสีผมได้ แต่ไม่จำเป็นต้องวาดใบหน้าค่ะ
แบบที่ 4 Block People – Detailed
คล้ายกับแบบที่ 3 ค่ะ แต่เพิ่มรายละเอียดให้มากขึ้น เช่น เสื้อผ้า ทรงผม และสีหน้าท่าทาง การสเก็ตช์แบบนี้ใช้วาดตอนผู้คนทำกิจกรรมต่างๆ ได้ดีทีเดียว เราสามารถเก็บเหตุการณ์ได้ทั้งสภาพแวดล้อมและอารมย์ของผู้คนตอนนั้นครบเลย ฟินค่ะ
แบบที่ 5 The Close-up Portrait Study
สเก็ตช์แบบสุดท้ายเน้นไปที่สรีรวิทยา แสงเงา เสื้อผ้า และบรรยากาศโดยรวม ซึ่งเป็นการสเก็ตช์คนที่ละเอียดที่สุดใน 5 แบบ สามารถใช้ทั้งสีน้ำ ปากกา ดินสอ ลงได้แบบจัดเต็ม อันนี้อาจจะยากหน่อย แต่ถ้าฝึกบ่อยๆ รับรองชิวค่ะ
สเก็ตช์คน 5 แบบที่เค้าให้มา Sketcher อย่าง Isabel Niehaus ก็ได้เอาคำแนะนำนี้ไปใช้ด้วยเหมือนกันนะ ล่าสุดที่เธอได้ไปชมคอนเสิร์ต The Orquesta Sinfónica Intermedia กับลูกชายของเธอ หลังจากที่ได้ชมการบรรเลงดนตรีแสนไพเราะ เธอก็ได้แรงบันดาลใจจับเอาวาทยากรมาวาดลีลาตวัดไม้บาตองบนสูจิบัตรซะเลย เก๋ดีนะปอยว่า เก็บเอาไว้ พอหยิบมาดูทีหลังก็รู้เลยว่าสเก็ตช์นี้ท่านได้แต่ที่ใดมา วันที่ เวลา ลงไว้เสร็จสรรพ หุๆ
เพื่อนๆ ลองเลือกกันดูนะคะว่าอยากแต่งเติมผู้คนลงในภาพสเก็ตช์ของตัวเองแบบไหน อย่าลืมนะคะ ยิ่งหมั่นฝึกฝน ก็ยิ่งเก่ง เมื่อชั่วโมงบินสูงคราวนี้เพื่อนๆ จะจรดปากกาได้ดังใจ ราวกับว่าปากกาเป็นส่วนหนึ่งของมือเราเลยเชียว สุดท้ายปอยเอาคลิปการสเก็ตช์คนมาใช้ชมกันว่า มันไม่ได้ยากอย่างที่คิด (อาจจะเงียบหน่อยนะ เพื่อนก็เปิดเพลงคลอเอาเองละกัน ฮะๆ) พบกันใหม่บทความหน้านะจ๊ะ