หลังจากที่คราวก่อนนู้นผมได้รีวิวคัมภีร์สอนสเก็ตช์ตั้งแต่แรกเริ่มหัดคลานยันบินได้อย่าง Urban Sketching คัมภีร์สเก็ตช์สอนตั้งแต่หัดคลานยันโผบิน หนังสือที่สอนให้พี่ป้าน้าอาทั่วฟ้าเมืองไทยสามารถเริ่มต้นการสเก็ตช์ภาพได้ง่ายๆ อ่านกระชับอ่านสนุก เรียกได้ว่าอยากรู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับการสเก็ตช์ก็สามารถอ่านจากที่นี่ได้หมดเลยในเล่มเดียว คุ้มมั้ย? คุ้ม! แต่ถ้าอยากลงให้ลึกถึงรายละเอียดกว่านี้แต่อ่านง่ายอ่านสนุก ไม่น่าเบื่อจนต้องหลับน้ำยายไหยล่ะจะมีหนังสือแบบที่ว่านี้มั้ย???
ก่อนอื่นผมต้องขอพูดว่าที่ผมเริ่มหัดสเก็ตภาพนั้นเกิดขึ้นจากความหลงใหลในการเห็นภาพวาดตึกรามบ้านช่องของบรรดาเหล่าสถาปนิกและศิลปิน ลองคิดดูสิครับว่าสิ่งที่เราเห็นจนชินตาทุกวัน เช่นร้านสะดวกซื้อข้างที่ทำงาน ร้านกาแฟร้านโปรดที่เราแวะเวียนไปบ่อยๆ แทนที่เราจะถ่ายภาพเก็บไว้ในโทรศัพท์มือถือเหมือนทั่วๆ ไป แต่เราสามารถที่จะเก็บภาพแบบนั้นในรูปแบบของภาพวาด ด้วยสไตล์และเทคนิคทางการวาดภาพที่เป็นเอกลักษณ์ของเราเอง เพียงผมคิดว่าภาพตึกหรือบ้านเรือนของเรานั้นจะออกมาในรูปแบบใด แค่นี้ก็ทำให้ผมอยากสเก็ตช์แล้วล่ะครับ ว้าย! ฮิปสเตอร์!!
นั่นจึงเป็นที่มาของการเริ่มต้นฝึกสเก็ตช์ภาพเชิงสถาปัตยกรรมครับของผมครับ แน่นอนว่าผมไม่ได้เรียนจบสถาปัตย์หรืออะไรที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบบ้านหรือวางผังเมืองเลย มิหนำซ้ำผมยังไม่ได้จบศิลปะมาอีกต่างหาก!! แล้วจะให้ผมไปฝึกจากที่ไหน??? แล้วสถาบันที่เค้าสอนตรงจุดเรื่องการสเก็ตช์ภาพแนวนี้ล่ะเค้าก็ไม่มีสอน! ผมจึงใช้เวลาไปกับการลองผิดลองถูกเสียมาก วาดลอกคนอื่นบ้างแต่มั่วนี่เยอะเลย ผมก็คิดในใจว่า ถ้ามันมีหลักสูตรสอนวาดภาพแนวสถาปัตยกรรมหรือไม่ก็หนังสือที่รวบรวมแต่เทคนิคเนื้อๆ เน้นๆ ก็คงจะช่วยได้เยอะเลย!
The Urban Sketching Handbook: Architecture and Cityscapes: Tips and Techniques for Drawing on Location โดย Gabriel Campanario [คลิกสิจ๊ะที่รัก] โหววววชื่อยาวโครดดดด หนังสือเล่มนี้เป็น 1 ใน 2 ของซีรีส์ The Urban Sketching Handbook คือชุดหนังสือที่เปรียบเสมือนเป็น “คู่มือของการสเก็ตช์” โดยเล่มนี้จะเป็นเล่มที่เน้นเกี่ยวกับการสเก็ตช์เชิงสถาปัตยกรรมครับ และอีกเล่มที่เหลือซึ่งผมจะรีวีวให้ได้อ่านกันเร็วๆ นี้นั้นคือเล่ม People in Motion (รีบซื้อเลยตอนนี้มันลด 24% เหลือ 444.35 บาท!) จะเป็นเล่มที่สอนเกี่ยวกับการสเก็ตช์ผู้คนครับ
หนังสือเล่มนี้มันดีงามอย่างไรผมจะโม้ให้ฟังสั้นๆ ก่อนก็คือว่ามันเป็นคู่มือที่มีแต่เนื้อหาเกี่ยวกับสเก็ตช์เชิงสถาปัตยกรรม ที่เขียนแต่ใจความสำคัญและมีภาพตัวอย่างประกอบที่ครบถ้วนตรงตามเนื้อหา ที่สำคัญคือรูปภาพสเก็ตช์แต่ละภาพก็ล้วนแล้วแต่อยู่ในระดับสุดยอดสเก็ตช์โดยสเก็ตช์เลอร์ที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีไม่ว่าจะเป็น Tia Boon Sim, Teoh Yi Chie หรือจะเป็น Paul Heaston เจ้าพ่อลายเส้นเข้ม ซึ่งผมพูดได้เลนครับว่าถึงแม้จะซื้อมาดูแต่ภาพก็ยังคุ้มเลย …แต่ซื้อมาก็อ่านเถ๊อะ!!
ผมได้หนังสือเล่มนี้มาในราคา 425 บาท (ตอนนี้เป็น 503 บาทลด 14%) จากร้าน Book Depository ร้านหนังสือราคาสุดถูกส่งฟรีทั่วโลกจากเกาะอังกฤษครับ ซึ่งกว่าจะเล่มนี้มาผมก็ดันประสบเคราะห์กรรมนั่นก็คือว่า ผมสั่งหนังสือเล่มนี้ช่วงเดือนพฤศจิกายนของปีที่ผ่านมาครับ รอแล้วรอเล่าว่าเมื่อไหร่หนังสือจะมาถึงสักที จนกระทั่งเดือนมกราฉลองปีใหม่กันเรียบร้อยจึงทำใจได้ว่าหนังสือเล่มนี้ หายไปแล้ว!! ซึ่งจากประสบการณ์การสั่งสมุด moleskine แหฝละหนังสืออื่นๆ ของผมจากเว็บนี้กว่า 15 ครั้ง ยังไม่เคยหายเลยครับ นี่เป้นครั้งแรกที่ฟินรับปีใหม่จริงๆ …ผมเลยเมลไปบอกกับทาง Book Depository ครับว่าหนังสือผมหายไปแล้ว ทางคุณมีนโยบายอะไรบ้างมั้ย? 2 วันผ่านไปเค้าก็ตอบกลับมาว่าเดี๋ยวจะส่งเล่มใหม่ไปให้ทันที โอ้ว! มีส่งให้ใหม่ด้วย! หลังจากนั้นก็ราไม่ถึง 10 วันครับก็ได้อ่านสมใจล่ะ
ทีแรกว่าจะไม่พูด แต่ไหนๆ ก็ขอหน่อยละกันนั่นก็คือเรื่องของรูปเล่มหนังสือครับ หนังสือเล่มนี้ทำออกมาได้เหมือนสมุดในตำนาน Moleskine เลย นั่นก็คือมีปกสีดำแถมมีสายรัดหนังสือกันปกอ้าอีกด้วยซึ่งดูแล้วก็เท่ดี ขนาดก็เท่ากันกับสมุดขนาด large เป๊ะๆ พกเอาไปอ่านพร้อมกับสมุด Moleskine คู่ใจก็พกง่ายและดูกลมกลืนดีทีเดียว
มาถึงเรื่องสำคัญนั่นก็คือเนื้อหาครับ เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้จัดแบ่งได้เป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ นั่นก็คือส่วนของหลักในการสเก็ตช์ Keys และก็ส่วนแสดงภาพ Galleries
หนังสือเล่มนี้มีหลักของการสเก็ตช์โดยรวบรวมไว้ด้วยกัน 6 ข้อนั่นก็คือ Composition (การจัดองค์ประกอบ), Scale (ขนาด), Depth (ความลึก-มิติ), Contrast (คอนทราสต์ …แปลยังไงดี?), Line (การใช้เส้น) และ Creativity (การเติมแต่งรูปภาพด้วยจินตนาการ) โดยเนื้อหาแบบละเอียดนั้นผมจะไม่ขอพูดถึงเพราะจะไล่ให้ไปเสียเงินซื้ออ่านเอง กร๊าากก แต่จากที่ผมได้อ่านจบก็ขอสรุปได้ว่า หนังสือเล่มนี้มีการเขียนถึงหลักใจความสำคัญของการสเก็ตช์เชิงสถาปัตยกรรมได้อย่างกระชับ มีตัวอย่างประกอบในแต่ละหัวข้อที่เห็นภาพได้ชัดเจน อีกทั้งในแต่ละส่วนยังมีคำแนะนำหรือ tip สำหรับการสเก็ตช์สอดแทรกให้อ่านโดยตลอด เช่นการใช้ดินสอมาเทียบวัดขนาดของตึก เป็นต้น และที่สพคัญที่ผมลอบมากนั่นก็คือ “รูปเยอะแต่ตัวหนังสือน้อย!” ซึ่งทำให้เราได้อ่านแต่เนื้อหาที่สำคัญๆ จริงๆ แล้วก็ดูภาพประกอบเพื่อเน้นปฎิบัติตามได้เลย ยิ่งอ่านก็เลยยิ่งทำให้อยากสเก็ตช์ยังไงล่ะครับ (ถ้าตัวหนังสือเยอะจะพาลหลับ)
ในส่วนที่ 2 ก็เป็นส่วนที่เค้าตั้งชื่อว่า Galleries ครับ ซึ่งจริงๆ แล้วมันก็ไม่ได้เป็นแค่ส่วนแสดงภาพเพียวๆ ตามชื่อหรอกนะ แต่เค้าจัดภาพเป็นหมวดหมู่ตามสื่อเทคนิคที่ใช้ในการสเก็ตช์ครับนั่นก็คือ ดินสอ, ปากกา, สีน้ำ และ สื่อประสม (mixed media) ซึ่งที่เด็ดก็คือว่า แต่ละภาพที่นำมาให้ชมนั้น จะมีข้อความแนวคิดของศิลปินเจ้าของภาพด้วย! ซึ่งตรงนี้ผมมองว่ามันเป็นสิ่งที่ดีครับเพราะบางทีเรามองแค่ภาพแล้วก็จบไป แต่สิ่งที่จะทำให้เข้าใจถึงแนวคิดในการสเก็ตช์ภาพของศิลปินด้วย เท่!
หน้านี้อย่างเจ๋ง!
หน้าท้ายๆ ของหนังสือเล่มนี้มีหน้า Challenges ซึ่งทำหน้าที่เป็น checklist ในการฝึกฝนการสเก็ตช์ครับว่าเราได้ลองสเก็ตช์ภาพแบบใดไปแล้วมั่ง ยกตัวอย่างเช่น สเก็ตช์ภาพตรอก ตึกเก่า ภาพมองผ่านช่องหน้าต่าง หรือตึกระฟ้า เป็นต้น เชื่อแน่ว่าถ้าหากเราสามารถทำได้ครบทุกข้อ ต่อไปออกไปสเก็ตช์นอกบ้านได้อย่างชำนานเลยละครับ
สนับสนุนบีบีบล็อกด้วยนะ \( * 3*)/
อย่าลืมนะครับ! หากสนใจหนังสือเล่มนี้และอยากช่วยสนับสนุนเว็บเล็กๆ อย่างบีบีบล็อกแห่งนี้ คุณผู้อ่านสามารถกดสั่งซื้อหนังสือได้จาก[ที่นี่]หรือกดผ่านบน banner ของ Book Depository ในเว็บผมได้เลยครับ แน่นอนว่าคุณผู้อ่านไม่ต้องเสียอะไรเพิ่มเลย แต่การซื้อนี้จะเป็นการสนับสนุนเว็บไปได้ในตัวครับ แอร๊งงง ขอบพระคุณมากครับ! #ก้มกราบลงที่หัวไหล่เหมือนน้องๆ ในร้านคาราโอเกะ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่นะ
ผมคิดว่าหนังสือเล่มนี้เป็นอีกหนึ่งเล่มที่คุณผู้อ่านผู้ที่หลงใหลในการสเก็ตช์ควรจะมีเก็บไว้ครับ เพราะนอกจากจะเหมาะสำหรับผู้หัดสเก็ตช์ภาพจะได้เนื้อหาที่กระชับเข้าใจง่ายและมีภาพประกอบครบครันแล้ว มือเก๋าหลายคนก็ยังสามารถนำสไตล์ที่ได้จากหนังสือเล่มนี้มาพัฒนาเทคนิคให้แตกต่างหลากหลายได้อีกด้วย เชื่อแน่ครับว่าหลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้จบ คุณจะต้องรู้สึกอยากออกนอกบ้านไปสเก็ตช์ภาพอย่างแน่นอน!
ปล. โปรดอดใจรอรีวิวภาคต่อเร็วๆ นี้นะ!!