ใครที่ติดตามเว็บไซต์บีบีบล็อกมาตั้งแต่แรก และเคยเห็นผลงานการสเก็ตช์ของผมบ่อย พอสังเกตเห็นมั้ยครับว่า ภาพที่ผมสเก็ตช์ส่วนใหญ่นั้นมักจะเป็นภาพร้านกาแฟ สถานที่ ตึก รวมไปถึงพวกอาหารการกิน ขนม จนไปถึงขวด หม้อ ท่อ ไห แต่สิ่งนึงที่ผมไม่เคยสเก็ตช์แลยนั้นมันคืออะไรรู้มั้ย? สิ่งที่ผมไม่เคยสเก็ตช์เลยนั้นก็คือ คือ คือ!
…ทำไมต้องเอามาตอบย่อหน้าใหม่ฟระ?!!
สิ่งที่ผมไม่เคยสเก็ตช์เลยนั่นก็คือ “คน” ครับ ผมไม่เคยสเก็ตช์หน้าเพื่อนหรือหน้าพ่อแม่ญาติพี่น้อง คนที่นั่งอยู่ในร้าน หรือคนที่เดินผ่านไปผ่านมาเวลาที่ผมสเก็ตช์ภาพบ้านเมืองหรือสถานที่ต่างๆ เลย เหตุผลไม่ใช่เพราะว่าผมกลัวมนุษย์นะ ไม่ได้เหมือนหมาจรจัดที่ถูกคนทำร้ายแล้วกลัวที่สบตากับพวกมนุษย์ แต่เหตุผลที่ผมไม่สเก็ตช์ภาพคนเลยนั่นก็เพราะว่า
“ผมสเก็ตช์คนไม่เป็น”
ใช่ครับ! เหตุผลโคตรง่ายแต่ตรงไปตรงมาที่สุด! เพราะผมสเก็ตช์ไม่เป็นผมก็เลยไม่สเก็ตช์ครับ กร๊าาากก และก็ไม่คิดที่จะหัดสเก็ตช์ด้วย…. ไอบ้า! เค้ามีแต่ถ้าทำไม่เป็นก็ต้องพยายามหัดเว้ย! …ไม่ใช่หรอกครับเพียงแต่ความคิดผมก็คือ ผมอยากหัดสเก็ตช์ภาพคนเหมือนกันนะแต่พอจะคิดก็จะนึกไปถึงขั้นตอนการเรียนวาดภาพคนที่น่าเบื่อเป็นที่สุด คุณผู้อ่านคงจะเคยเดินไปตามร้านหนังสือแผนกหนังสือศิลปะใช่มั้ยครับ? แล้วแน่นอนว่าหนังสือที่วางกันกลาดเกลื่อนเลือกไม่ถูกนั่นก็คือหนังสือสอนวาดภาพคน ซึ่งแต่ละเล่มก็ล้วนแล้วแต่สอนยากๆ ทั้งนั้น ให้ดูเรื่องสรีระศาสตร์โครงสร้างมนุษย์ กระดูกนู่นนี่ การให้แสงเงาเพื่อเน้นโครงสร้างบนใบหน้าซึ่งมันแบบว่า เยอะ! แค่คิดก็น่าเบื่อแล้ว!
The Urban Sketching Handbook : People and Motion : Tip and Techniques for Drawing on Location โดย Gabriel Campanario [คลิกซิจ๊ะที่รัก] หนังสือชื่อยาวเล่มนี้เป็นหนังสือ 1 ใน 2 เล่มของซีรียส์ The Urban Sketching Handbook หนังสือคู่มือการสเก็ตช์ภาพครับ หากจำได้เมื่อสัปดาห์ก่อนนี้เองที่ผมเพิ่งรีวิวหนังสือเล่มแรกไปนั่นก็คือ The Urban Sketching Handbook : Architecture and Cityscapes ซึ่งเล่มนั้นเป็นเล่มที่เกี่ยวกับการสเก็ตช์ตึกรามบ้านช่องทั้งเล่ม เล่ทนี้จึงเป็นเล่มที่จะเน้นเรื่อง “คน” ทั้งเล่มครับ แน่นอนว่าผมเป็นคนที่เบื่อหนังสือสอนวาดภาพมนุษย์ก็เลยอยากรู้นักว่าหนังสือเล่มนี้จะนำเสนอวิธีวาดภาพคนยังไงบ้าง จะน่าเบื่อจนหลับคาหน้ากระดาษเหมือนทุกทีมั้ย?
แน่นอนว่าผมได้หนังสือเล่มนี้มากจากเว็บขายหนังสือชื่อดังส่งฟรีทั่วโลกคือ Book Depository มาในราคา 445.44 บาทครับ สั่งวันที่ 1 กุมภาพันธ์ มาวันที่เขียนบล็อกนี้ 12 กุมภาฯ ก็ได้เอามารีวิวแล้ว โดยหน้าตารูปร่างไม่ต่างอะไรกับเล่มแรกครับ เปลี่ยนภาพปกและสีพื้นของปกก็แลดูออกเป็นสีน้ำเงินมากขึ้นเท่านั้นเองครับ นอกนั้นก็เหมือนกันมีเชือกรัดสมุดสุดเท่ด้วย
เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้มีคอนเซ็ปเหมือนกับเล่มก่อนเด๊ะๆ เลยครับนั่นก็คือการแยกออกไป 2 ส่วนหลักๆ ส่วนแรกเป็นหลักในการสเก็ตช์ Keys และก็ส่วนที่สองคือส่วนแสดงภาพ Galleries
เนื้อหาของหลักการในการสเก็ตช์ภาพคนนั้นเค้าเขียนอธิบายไว้ด้วยกัน 6 ข้ออันประกอบไปด้วย Proportion (สัดส่วน), Contour (เส้นเค้าโครง), Gesture (อิริยาบถ), Expression (การแสดงออกทางอารมณ์), Context (บริบท – หรือก็คือสถานที่หรือเหตุการณ์ที่ตัวแบบซึ่งเป็นมนุษย์อยู่ ณ ขณะนั้น) และ Likeness (ความเหมือน) แน่นอนว่าเนื้อหาโดยละเอียดนั้นผมจะไม่พูดถึงแน่นอนเพราะเดี๋ยวเค้าจะขายหนังสือไม่ได้ กร๊าากก แต่ที่ผมอยากจะพูดก็คือว่า หนังสือเล่มนี้เค้าสอนวาดคนก็จริงแต่หลักการของเค้าคือ “การสเก็ตช์” ดังนั้นการวาดภาพคนในแบบของหนังสือเล่มนี้จึงเป็นอะไรที่ทำให้ง่ายเข้าไว้ ไม่จำเป็นต้องไปจำนู่นจำนี่ให้รกสมอง ในบทของ Conture ยังแนะนำให้สเก็ตช์โดยไม่ต้องก้มลงมองสมุดเลยด้วยซ้ำ เพื่อให้เราเพ่งความสนใจไปที่ตัวแบบแล้วใช้สัญชาตญาณวาดออกมาเป็นภาพได้เลย
อีกเรื่องที่ผมชอบก็คือเรื่องของ Context ครับ เพราะโดยปรกตินั้นผมจะสเก็ตช์แต่สถานที่ บ้านเมืองโดยไร้ผู้คน แต่ถ้าเราลองมองกลับกันให้ตัวแบบเป็นคนแล้วสเก็ตช์สิ่งรอบข้างก็จะทำให้ภาพสื่อความหมายและเล่าเรื่องราวได้น่าสนใจไปอีกแบบนึงครับ หรือจะเป็นการใส่ผู้คนลงในภาพบ้านเมืองที่เราสเก็ตช์ก็จะช่วยให้ภาพดูน่าสนใจและมีชีวิตชีวาเพิ่มมากขึ้นครับ
ส่วนที่สองแน่นอนว่าเป็นเรื่องของการแสดงภาพ Galleries มีการจัดหมวดหมู่แบ่งตามสื่อที่ใช้ในการสเก็ตช์อันประกอบไปด้วย ดินสอ, ปากกา, สีน้ำ และ สื่อประสม (mixed media) แต่ละภาพมีคำบรรยายของศิลปินผู้สเก็ตช์ภาพประกอบด้วย แต่คราวนี้เป็นความเห็นที่มีต่อผู้คนที่เค้าสเก็ตช์ แนวคิดเหล่านี้เป็นประโยชน์แก่เรามากครับ เหมือนได้รับรู้ประสบการณ์การสเก็ตช์ผู้คนผ่านปากผู้เล่าเลยทีเดียว
ยังเจ๋งกันต่อ!
จากเล่มก่อนที่ผมชอบมากกับ checklist ในการสเก็ตช์หรือที่หนังสือเล่มนี้เรียกกันว่า Challenges เล่มนี้ก็มีมาให้เราลองหัดตามด้วยกันถึง 19 ข้อ ไม่ว่าจะเป็นให้หัดสเก็ตช์ภาพคนในครอบครัว ขบวนพาเรด ฝูงชน หรือที่เด็ดน่าลองทำตามนั่นก็คือสเก็ตช์ภาพตัวเองขณะกำลังนั่งตัดผมครับ ฮิปสเตอร์เกินไปแล้ว!
สนับสนุนบีบีบล็อกด้วยนะ \(*8 * )/
อย่าลืมนะครับ! หากสนใจหนังสือเล่มนี้และอยากช่วยสนับสนุนเว็บเล็กๆ อย่างบีบีบล็อกแห่งนี้ คุณผู้อ่านสามารถกดสั่งซื้อหนังสือได้จาก[ที่นี่]หรือกดผ่านบน banner ของ Book Depository ในเว็บผมได้เลยครับ แน่นอนว่าคุณผู้อ่านไม่ต้องเสียอะไรเพิ่มเลย แต่การซื้อนี้จะเป็นการสนับสนุนเว็บไปได้ในตัวครับ แอร๊งงง ขอบพระคุณมากครับ! #ก้มกราบลงที่หน้าผากเหมือนเพื่อให้คำขอบคุณทะลุไปถึงกะโหลกชั้นใน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่นะ
จากคนที่เคยล้มเลิกความตั้งใจในการฝึกวาดภาพคนอย่างผม เมื่อได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วก็ทำให้รู้สึกว่า “ก็ไม่มีอะไรจะเสียนี่หว่า” จริงครับ การสเก็ตช์ภาพคนมันไม่เหมือนกับการวาดภาพเหมือนนะ ดังนั้นเทคนิคหรือองค์ความรู้มากมายเกี่ยวกับสรีระศาสตร์นั้นก็ไม่ได้สำคัญยิ่งยวดจนถึงกับต้องมานั่งกังวลกันอีกต่อไป เพียงเราเห็นผู้คน แล้วก็ลงมือวาด มันก็เท่านั้น! ซึ่งการจะสเก็ตช์ให้ได้ดีให้มีประสิทธิภาพนั้นหนังสือเล่มนี้ได้เขียนบอกไว้ด้วยภาษาที่เข้าใจง่ายและกระชับในทุกขั้นตอน ดังนั้นผู้อ่านอย่างเราจึงสามารถฝึกทำตามได้โดยง่ายไม่ซับซ้อนครับ
หากคุณผู้อ่านที่มีความสนใจในการสเก็ตช์ภาพคนโดยไม่อยากกังวลเรื่องนู่นนี่ให้มากมาย อยากที่จะรู้ถึงเทคนิคการสเก็ตช์ภาพการเคลื่อนไหวของผู้คนได้รวดเร็วแต่เก็บความรู้สึกไว้ครบถ้วน หนังสือ The Urban Sketching Handbook : People and Motion เล่มนี้มีเนื้อหาที่เข้าใจง่ายและภาพประกอบที่ชัดเจนเหมาะกันคุณเป็นที่สุดครับ
ปล. หากสนใจเทคนิคลัดในการสเก็ตช์ภาพคน สามารถอ่านจาก “ชวนชม” ของยัยปอยนักเขียนอีกท่านนึงของเราได้จากตอนนี้นะครับ เพิ่มความน่าสนใจให้ภาพด้วย 5 วิธีสเก็ตช์ผู้คนอย่างมีสไตล์