เมื่อวันเสาร์ปอยไปเดินเล่นงาน ไทยแลนด์ เบเกอรี่ แอนด์ ไอศครีม 2558 ที่อิมแพค เมืองทองธานี มาค่ะ ปอยเลือกซื้อไอศครีมและขนมมากินจนพุงกาง พลันเริ่มสำนึกผิดกับแคลลอรี่ที่สวาปามเข้าไป ก็เลยต้องไถ่โทษด้วยการเดินย่อยงานในใกล้ๆ ซะหน่อย และแล้วขาก็พามาหยุดที่บูธในงาน ไทย แฟรนไชส์ แอนด์ เอสเอ็มอี เอ็กซ์โป 2558 ค่ะ เป็นบูธแสดงสินค้าเกี่ยวกับการพิมพ์ภาพลงบนวัสดุต่างๆ อุต๊ะ! มันช่างเหมาะเจาะกับบทความที่ปอยกำลังจะเขียนอยู่พอดี พี่ๆ ที่บูธก็ใจดีให้ข้อมูลจนปอยอยากเปิดร้านพิพม์ภาพบนเสื้อขายเลยทีเดียว พี่เค้าเชียร์ให้ซื้อเครื่องไปทำเล่นที่บ้าน (แค่ไม่กี่หมื่นเอง) พอดีว่าปอยซื้อติมกินหมดแล้วอ่ะจ่ะ ไว้คราวหน้าละกานนะจ๊ะ (แล้วปอยก็ทำหน้าแบ๊วโบกมืออำลาอย่างสุภาพ อิอิ)
ที่ปอยสนใจเรื่องการพิมพ์ภาพลงบนวัสดุเพราะเห็นบางคนเอาผลงานที่ตัวเองวาดไปพิมพ์ไว้บนเสื้อยืด แล้วใส่โชว์ เห็นแล้วมันเท่อ่ะ มีตัวเดียวในโลก ที่สำคัญสวยด้วยนี่สิ! งานระดับ masterpiece ไปอยู่บนเสื้อใส่อวดได้ไม่แพ้แบรนด์แพงๆ บอกได้ 3 คำค่ะว่า “หนูอยากได้!”
เนื่องจากกระบวนนี้ใช้เครื่องรีดร้อน หรือเตารีดในบ้านเราเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้ภาพไปติดบนวัสดุได้ จึงเรียกว่า iron-on transfer และกระดาษที่เราจะเอามาใช้พิมพ์ภาพจากเครื่องพิมพ์ก็คือ transfer paper ค่ะ ใช้ได้ทั้งเครื่องพิมพ์เครื่องพิมพ์ Inkjet และ เครื่องพิมพ์ Laser เลยนะคะ
ซึ่งเครื่องพิมพ์ทั้งสองชนิดจะไม่พิมพ์หมึกสีขาว ดังนั้นถ้าต้องการให้มีสีขาวบนเสื้อสีเข้มหรือสีดำ คุณจะต้องใช้กระดาษ transfer paper สำหรับพิมพ์บนผ้าสีเข้มค่ะ ซึ่งกระดาษนี้จะมีการเคลือบสีขาวไว้บนกระดาษอยู่แล้ว คุณสามารถพิมพ์ภาพที่ต้องการลงบนกระดาษ แล้วเอาไปรีดทับบนผ้าสีเข้มได้เลยค่ะ และผ้าที่ใช้ได้จะเป็น 50/50 poly/cotton หรือ 100% cotton นะคะ ถ้าเป็นผ้าใยสังเคราะห์ 100% จะใช้ไม่ได้ค่ะ
ขั้นตอนการทำ iron-on transfer มันช่างง่ายดายอะไรเช่นนี้ แค่พิมพ์ภาพผ่านเครื่องพิมพ์แล้วรีดทับด้วยความร้อนแค่ไม่กี่วินาที แล้วถ้าเพื่อนๆ อยากเอารูปที่ตัวเองสเก็ตช์มาพิมพ์ลงบนเสื้อบน ก็แค่สแกนภาพเข้าคอมพิวเตอร์แล้วสั่งพิมพ์ลงบนกระดาษ transfer paper (อย่าลืมกลับด้านของภาพด้วยนะจ๊ะ) แล้วเอาภาพที่ได้ไปรีดทับบนเสื้อ โฮะ โฮะ โฮะ บอกได้ 3 ค่ะว่า “หนูได้แล้ว!”
ถ้าทำเสื้อเอามันส์ไม่กี่ตัวก็คงหมดไปไม่กี่บาท แต่ถ้าคิดจะทำขายหรือแจกเยอะๆ เอาไปเป็นเสื้อทีม หรือของชำร่วย ถ้าใช้กระดาษ transfer paper สำหรับเครื่องพิมพ์ที่บ้านของเราดูจะใช้ต้นทุนสูงเกินไปนะคะ แนะนำให้ใช้กระดาษสำหรับเครื่องพิมพ์ที่ใส่หมึก Sublimation ดีกว่าค่ะ
Dye Sublimation transfer paper ก็เป็นกระดาษที่ใช้กับเครื่องพิมพ์ที่ใส่หมึก Sublimation (ไม่ใช่หมึกที่ใช้กับเครื่อง Inkjet ที่บ้านของเรานะคะ) ซึ่งเมื่อพิมพ์ออกมาแล้วสีจะถูกเคลือบไว้บนกระดาษ จากนั้นจึงเอาไปรีดทับลงบนผ้าด้วยความร้อนประมาณ 350 C – 390 C ใช้เวลาประมาณ 80 วินาที (แล้วแต่เครื่องรีดร้อนที่ใช้ค่ะ) ซึ่งวิธีนี้ใช้เวลานานกว่าการใช้กระดาษ transfer paper สำหรับ Inkjet ที่ใช้เตารีดรีดทับแค่ไม่กี่วินาที (แต่ราคากระดาษแพงกว่าหลายเท่า) นอกจากผ้าแล้ว Dye Sublimation transfer ยังใช้ได้กับวัสดุได้หลายชนิดเช่น เซรามิก , ไม้ , โลหะ , พลาสติก และแก้ว อีกด้วยค่ะ
ผ้าที่ใช้กับ Dye Sublimation transfer ควรจะเป็น 100% polyester, polyester/cotton ที่มี polyester อย่างน้อย 50% หรือ ผ้า nylon ก็ได้ค่ะ ง่ายๆ ก็ผ้าใยสังเคราะห์ทั้งหลาย ซึ่งบางทีมีราคาถูกกว่าผ้า cotton หรือผ้าไหมเยอะเลย ส่วนวัสดุที่จะมาเอาพิมพ์ภาพอย่าง จานหรือแก้วเซรามิก แผ่นไม้ แผ่นอะลูมิเนียม กระติกน้ำพลาสติก จะต้องเคลือบด้วยโพลิเมอร์แล็คเกอร์ซะก่อนนะคะ และต้องใช้กับ Heat Transfer Machine ที่มีหัวต่อเป็นรูปร่างโค้งรับพื้นผิววัสดุด้วย (รวมแล้ว ทั้ง เครื่องพิมพ์ เครื่องรีดร้อน สี กระดาษ กับวัสดุเคลือบโพลิเมอร์ ก็ปาไปเข้าไปหลักหมื่นเบย ใครจะลงทุนก็ศึกษาเอาไว้นะจ๊ะ ใครจะทำเล่นๆ ที่บ้านก็ได้ ทำแบ่งปอยด้วยละกัน)
ถ้าจะไม่ใช้เครื่องพิมพ์ ก็มีดินสอ (Transfer Pencil)และปากกา (Transfer Pen) เหมือนกัน ใช้สะดวกดีจ้า
ขอขอบคุณภาพสวยๆ สำหรับบทความนี้ด้วยนะคะ :
http://www.instructables.com/id/Make-Your-Own-T-Shirt-Art-1/
http://www.bestblanks.com/laser1-opaque.html
http://sepsgraphics.com/site/what_is_sublimation.html
http://www.onehourtees.com/blog/what-are-heat-transfers/
http://www.amazon.com/Hot-Iron-Transfer-Pencils-Pkg/dp/B000YQKMJO
http://www.webstercraft.co.uk/sulky-transfer-pens-pack-of-8-colours-212-p.asp