สมุดบันทึกของเซียนหมึก! InkJournal Black Notebook for Pen Collectors

in Notebook by hackhq on 10 Apr 2015

ผมไม่ทราบเหมือนกันนะว่าคุณผู้อ่านได้เคยรับรู้เรื่องราวของการมีอยู่ของเทพเจ้าแห่งโลกนี้หรือไม่ครับ? แน่นอนว่าเราเคยรู้จักกับเทพองค์ต่างๆ ของทางโลกฝั่งหมึกไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเทพแห่งหมึกกันน้ำ Platinum Carbon Black ที่ตอนนี้เสียตำแหน่งให้กับหมึกเทพองค์ใหม่อย่าง De Atramentis Document ink หรือจะเป็นเทพองค์รองลงมาอย่าง Noodler’s Black Bulletproof และ Sailor Kiwa-Guro แต่ทราบไหมครับว่าจริงๆ แล้วเรื่องราวของการกำเนิดเทพแห่งหมึกนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ อย่างที่คิดเลย

กว่าที่หมึกแต่ละตัวนั้นจะสามารถก้าวมาอยู่ลำดับชั้นแนวหน้าของเหล่าเทพได้นั้นต้องผ่านการทดสอบมากมาย ไม่ว่าจะเป็นบุกป่าฝ่าดง ลุยกองไฟ ดำดิ่งผ่านผืนน้ำ ซึ่งนี่เป็นเพียงแค่ตัวอย่างบางข้อของการทดสอบความเป็นหมึกเทพครับ และการทดสอบเหล่านี้ในอดีตกาลก็จะใช้การบันทึกผลการทดสอบแบบธรรมดาทั่วๆ ไป มนุษย์บางคนอาจจะบันทึกลงกระดาษ A4 ทั่วไป (ทำไมมนุษย์ธรรมดาถึงทดสอบเทพเจ้าได้ฟระ?) บางคนก็อาจจะใช้สมุดในตำนานอย่าง Moleskine เพื่อบันทึกผลที่ว่านี้

แต่ในปัจจุบัน ยุคที่โลกแห่งการทดสอบเทพเจ้าพัฒนาก้าวหน้าไปไวมาก ทำให้การทดสอบหมึกเป็นไปได้ง่ายมากขึ้น มีหลักเกณฑ์การทดสอบที่เป็นมาตรฐานมากยิ่งขึ้น แถมยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกในการบันทึกผลการทดสอบเพิ่มขึ้นอีกด้วย! ใช่แล้วครับ! หลังจากที่เขียนวนไปวนมาเข้าเรื่องไม่ได้สักที ในที่สุดเราก็จะได้รู้กันแล้วว่าของที่จะเอามารีวิวในวันนี้มันคืออะไร!!

คืออยากจะบอกกับตัวเองว่า ถ้ายังไม่หยุดพล่ามไร้สาระ แนะนำให้เปิดเดธโน๊ตแล้วเขียนชื่อตัวเองลงไปเถอะ…

InkJournal-01

InkJournal Black Notebook for Pen Collectors

InkJournal Black Notebook for Pen Collectors [ดูเว็บมั้ย?] คือชื่อเท่ๆ ของสมุดบันทึกสำหรับเซียนหมึกปากกาอย่างเราๆ ท่านๆ ครับ ใครที่ตามอ่านบีบีบล็อกมาโดยตลอดคงจะเคยเห็นการทดสอบหมึกของกระผมมาบ้างไม่มากก็น้อย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการทดสอบในเรื่องหลักๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความลื่นในการเขียน สี การซึม ความสามารถในการกันน้ำ ระยะเวลาในการแห้ง เป็นต้น แล้วก็ทำการบันทึกผลที่ได้ลงบนสมุดพกประจำตัวของผมนั่นก็คือ Moleskine Plain Notebook สมุดที่ไม่มีเส้นนั่นเอง

InkJournal-02

ถ้าคิดด้วยจิตสกปรกผมมองไม่เห็นเป็น nib ปากกาจริงๆ นะ…

InkJournal-03

แต่ข้างหลังอย่างเท่ นี่ถ้าเอารูปขวดหมึกนี้ไปแปะด้านหน้าเล็กๆ จะหล่อขึ้นเป็นกองเลย

ซึ่งแต่ละครั้งผมก็จะทำการทดลองเขียนลงสมุดเล่มนี ผมก็จะดูว่าหนึกตัวนี้มันเขียนดีมั้ย ซึมหรือเปล่า ลองลูบดูที่ระยะเวลาต่างๆ กันเพื่อทดสอบระยะเวลาในการแห้ง แต่ทั้งนี้มันก็ยังไม่ครบถ้วนเพราะผมไม่ได้บันทึกทุกสิ่งทุกอย่างลงไป นอกจากนั้นรูปแบบของข้อมูล (data format) ของผลการทดสอบที่ได้ก็ไม่ได้เป็นมาตรฐานสากล จะบันทึกยังไงมันก็ยังเป็นข้อมูลในรูปแบบของผม คนอื่นมาเปิดสมุดอ่านดูก็อาจจะงงนิดๆ ดังนั้นหากว่ามี “ตัวกลาง” ที่เป็นมาตรฐานเดียวกันในการทดสอบหมึกก็ย่อมเป็นเรื่องดีแน่ๆ เพราะทุกคนทุกท่านสามารถทดสอบได้ด้วยมาตรฐานเดียวกันนั่นเอง

InkJournal-04

สมุดเล่มนี้เหาะมาจากประเทศเนเธอแลนด์ครับซึ่งแน่นอนว่าหากมาจากประเทศนี้นั่นก็หมายความว่าผมสั่งซื้อมาจากเว็บเครื่องเขียนชื่อดังขวัญใจชาวไทยอย่าง fontoplumo.nl นั่นเอง! โดยระหว่างที่ผมกำลังกดดูสินค้าใหม่ๆ ที่จะหามารีวิวบนเว็บ กดมั่วไปมั่วมาก็ไปกดโดนเจ้าสมุดเล่มนี้เข้า โดยราคาหน้าร้าน(ไม่รวมส่ง)นั้นจะอยู่ที่ $21.94 หรือเท่ากับ 714.70 บาท แต่ช้าก่อน! อย่าลืมนะว่าถ้าใช้โปร bbblog หรือ bbblog2 แล้วจะได้รับส่วนลดเพิ่มเติมจากการยกเว้นภาษี 21% อีกถึง 10% ส่วนค่าส่งพัสดุของสมุดเล่มนี้เล่มเดียวจะอยู่ที่ $4.35 (141.70 บาท) ดังนั้นราคารวมสุดท้ายเมื่อได้ส่วนลดและรวมค่าส่งแล้วก็คือ $20.68 หรือเท่ากับ 673.65 บาทนั่นเอง! …แล้วมันถูกหรือแพงหรือน่าหามาใช้มั้ย? งั้นมาดูไปพร้อมๆ กันเลย!

InkJournal-05

เทียบขนาดกับสมุด Moleskine Watercolor ขนาด Pocket

สมุด InkJournal Black Notebook for Pen Collectors เล่มนี้เป็น สมุดปกอ่อน Paperback ขนาด 8.5“ x 5.5” มีหน้ากระดาษจำนวน 80 หน้า บนหน้าปกสีดำมีรูปกราฟฟิคสีขาวเป็นรูป nib ของปากกาหมึกพิมพ์ไว้อย่างโดดเด่น(มากเกินไป) ซึ่งทางผู้ผลิตเค้าบอกมาว่าที่ออกแบบหน้าปกสีดำและใช้กระดาษผิวด้านนั้นก็เพื่อเพิ่มความหรูหรา …ซึ่งผมขอยืนยันเลยนะว่า “ไม่ได้หรูหราอะไรเล้ยยยยย! โดยเฉพาะอิรูป nib ใหญ่เท่าบ้านนี่!”

InkJournal-06

จะพิมพ์รูปปากกามาทำไมให้เปลืองหมึก เอาไปใส่เนื้อหาอื่นหรือช่องใส่ชื่อเจ้าของสมุดจะดีกว่านะ

ช่างมันเถอะ! ผมอยากที่จะได้เห็นเนื้อในจนใจจะขาดรอนๆ แล้ว ผมเปิดหน้าสมุดออกมาอย่างช้าๆ (ไหนว่าร้อนใจ?) อยากรู้นักว่าสมุดบันทึกการทดสอบหมึกนั้นข้างในจะเป็นอย่างไร แต่พอได้เห็นแค่กระดาษรองปกก็ถึงกับผงะออกมาครับ เพราะรองปกที่อยู่ด้านในทั้งด้านหน้าและด้านหลังนั้นดันพิมพ์รูปปากกายี่ห้อต่างๆ ไว้ใหญ่โตเบ้อเร่อ เปลืองหมึกพิมพ์รูปพวกนี้มาก ถ้าให้หน้านี้เรียบๆ แล้วมีช่องให้ใส่ลื่อแสดงความเป็นเจ้าของเหมือนอย่าง Moleskine ผมว่าน่าจะเข้าท่ากว่านี้เยอะ

InkJournal-07

สามารถบันทึกข้อมูลหมึกได้ตั้ง 38 ตัวแหน่ะ

ผมเปิดหน้าถัดไปด้วยความใจเย็น โดยพยายามคิดในหัวสมองไว้ว่าสมุดที่ดีต้องดูที่เนื้อใน หน้าถัดมาของสมุดเล่มนี้เป็นสารบัญซึ่งลงเลขไว้ตั้งแต่หน้าที่ 4 จนถึง 78 ครับ และที่ช่องรายชื่อหน้านั้นเค้าเว้นว่างไว้สำหรับให้เราเขียนชื่อของหมึกแต่ละตัวลงไปได้เอง ซึ่งจากเลขนั้นสามารถคำนวนได้ว่าเราจะสามารถบันทึกผลการทดสอบหมึกได้ทั้งหมด 38 ตัวครับ ซึ่งเยอะมากกกก! ขนาดผมเองที่ว่าบ้าหมึกนักบ้าหมึกหนายังไม่เคยได้ใช้หมึกเยอะแยะขนาดนี้เลย

InkJournal-08

หน้าคู่สำหรับทดสอบหมึก เขียนกันจนเต็มอิ่มเลยทีนี้

เปิดหน้าถัดมาก็จะเจอหน้าสำหรับบันทึกผลทดสอบหล่ะ ซึ่งมันเป็นหน้าคู่ครับ! นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมถึงบันทึกหมึกได้ 38 ตัวทั้งๆ ที่มีหน้ากระดาษหลายหน้า ซึ่งเจ้า 2 หน้านี้ก็สามารถบันทึกผลได้จุใจกันไปเลยทีเดียว โดยรายละเอียดของหมึกหลักๆ จะอยู่ทางหน้าฝั่งซ้ายมือครับ ส่วนด้านขวาจะมีพื้นที่โล่งค่อนข้างมากเพื่อที่ให้เราสามารถเขียนความคิดเห็นที่มีต่อหมึกตัวนั้นๆ ได้อย่างจุใจ

หลักเกณฑ์ในการทดสอบหมึกที่สมุดเล่มนี้กำหนดมามีอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น 14 ข้อครับซึ่งถือว่าครบถ้วนสำหรับการทดสอบหมึกปากกา มีทั้งช่องให้เราเขียนบอกด้วยว่าเราใช้ปากกาอะไร nib ขนาดไหน หรือจะเป็นช่องที่ให้เราเลือกว่าหมึกที่ทดสอบนั้นไหลลื่นเพียงใดก็จะออกแบบให้เป็นในลักษณะค่าให้เราเลือกโดยจะไล่จากน้อยไปหามาก นอกจากนั้นที่เด็ดอีกอย่างคือมีพื้นที่สำหรับทดสอบ “หยดน้ำลงบนหมึก” เพื่อทดสอบเรื่องการกันน้ำของน้ำหมึกนั่นเอง

InkJournal-09

มีตัวอย่างวิธีการใช้สมุดมาด้วย …แต่ตัวอย่างดันไม่เหมือนกันสมุดแฮะ พี่งง!!

InkJournal-10

เอาหน้านี้ไปพิมพ์ในสมุดก็ได้นะ…ดีกว่าใส่รูปปากกาเยอะ

…ทำไมมีแต่ภาษาฝรั่งมังค่า ค่าบางค่าเราก็ไม่รู้ว่าควรจะบันทึกอะไรยังไง แน่นอนว่าบางคำเราก็คุ้นเคยกันอยู่แล้วเช่น flow หรือ swab เป็นต้น แต่ว่าไม่ต้องห่วงนะว่าเราจะไม่เข้า เพราะว่าทางผู้ผลิตเค้าใจดีแนบกระดาษข้อมูลประกอบการใช้งานมาให้ด้วย กระดาษแผ่นเล็กๆ ใบนี้จะมีการอธิบายคำศัพท์ของหลักเกณฑ์ในการทดสอบไว้อย่างเข้าใจง่ายไม่ว่าจะเป็นคำว่า shading, saturation หรือ flow เพื่อจะได้สร้างความเข้าใจได้ตรงกันในการทดสอบครับ (ทำไมแกไม่พิมพ์กระดาษนี้ลงในสมุดไปเลยฟระ?! เอารูปปากกาพวกนั้นออกไปเลย?)

InkJournal-15

ลองเอาไฟส่องให้เห็นผิวกระดาษ…ซึ่งก็ไม่ช่วยอะไร

แต่! มีเรื่องนึงที่ผมไม่เข้าใจเลยนั่นก็คือ “เนื้อกระดาษ” ทางผู้ผลิตบอกว่าสมุดเล่มนี้ใช้กระดาษเนื้อดีเพื่อให้สามารถเขียนได้ลื่น โดยหากลองเอานิ้วมาลูบบนผิวกระดาษดูจะรู้สึกเหมือนกับว่ามันเป็นกระดาษมัน คือมันลื่นครับ แต่ไม่ถึงกับลื่นเหมือนกระดาษอาร์ตมันนะแต่ก็ไม่ฝืดเหมือนกระดาษสมุดทั่วไป ซึ่งตรงนี้ผมมองว่ามันมีทั้งข้อดีและข้อเสียครับ

ข้อดี : กระดาษมันลื่นดีนะ เขียนแล้วรู้สึกเหมือนว่าปากกามันลื่นขึ้นกว่าปรกติ แถมมันยังมีผลทำให้หมึกปากกาใช้เวลานานขึ้นในการซึมลงกระดาษ นั่นหมายความว่าเราจะสามารถเห็น shading ของหมึกได้ง่ายกว่าประดาษธรรมดาทั่วไป

ข้อเสีย : มันผิดวิสัยของสมุดบันทึก! เพราะว่ากระดาษที่เราเขียนกันอยู่ทุกวี่ทุกวันไม่ว่าจะเป็นกระดาษ A4 ธรรมดาหรือจะเป็นกระดาษสมุดอื่นๆ อย่าง Moleskine เนื้อกระดาษจะให้ความรู้สึกฝืด “สมกับเขียนอยู่บนกระดาษจริงๆ” ดังนั้นเวลาที่คุณลองเขียนบนกระดาษของสมุดเล่มนี้คุณจะ “รู้สึกไม่คุ้นเคย” ดังนั้นผลการทดสอบบางอย่างอาจจะขัดกับการใช้งานจริงในชีวิตประจำวันได้

InkJournal-11

เขียนมั่วและเลอะเทอะมาก

InkJournal-12

อยากให้ลองสังเกตดูตรงส่วน Dry Time ครับ เพราะกระดาษที่ค่อนข้างลื่นทำให้หมึกซึมได้ยากหน่อย เอามือลูบแล้วเละเลย

InkJournal-13

ปาดหมึกเบาๆ แต่ทะลุไปถึงจักรวาล

InkJournal-14

วาดรูปขวดหมึกเล่นๆ หมึกก็ซึมมาอีกหน้าแล้วครับ ถ้าเจอหมึกที่ซึมทะลุโลกคงทดสอบได้แค่หน้าเดียว

ผมคิดว่าสมุดสำหรับทดสอบหมึกปากกาหมึกซึม InkJournal Black Notebook for Pen Collectors เล่มนี้ถือว่าเล่มที่ครบถ้วนพร้อมสมบูรณ์จริงๆ สำหรับเซียนหมึกครับ ช่วยร่นระยะเวลาในการทดสอบไปได้มากโข ไม่ต้องมาตีกรอบตีเส้นมากมายเพราะมีมาให้พร้อม จัดเก็บข้อมูลได้เป็นรูปแบบมาตรฐาน อ่านง่ายเป็นระเบียบ อีกทั้งยังสามารถนำสมุดเล่มนี้ไปแลกกันดูกับเพื่อนได้อีกด้วย ลองคิดดูเล่นๆ ว่าถ้าหากเพื่อนของเราก็ทดสอบหมึกบนสมุดเล่มนี้เหมือนกันกับเรา เราก็จะเห็นผลการทดสอบไม่ว่าจะเป็นเรื่องสีหรือ shading ได้ในมาตรฐานเดียวกันครับ ถึงแม้ข้อเสียจะมีให้เห็นบ้างไม่ว่าจะเป็นกระดาษที่ลื่นผิดธรรมชาติทำให้ผลของการทดสอบระยะเวลาในการแห้งของหมึกผิดเพี้ยน แต่เรื่องอื่นๆ ก็ถือว่าทำได้ดีครับ

InkJournal-16

หากถามว่าสมุดเล่มนี้จำเป็นต้องซื้อมาเป็นเจ้าของมั้ย? ผมต้องบอกว่ามันขึ้นอยู่กับว่าคุณเป็นคนที่คลั่งไคล้หมึกปากกาหมึกซึมแค่ไหน จริงอยู่ที่คุณสามารถจะใช้สมุดอะไรก็ได้เพื่อทดสอบและบันทึกผลเพราะมันขึ้นอยู่กับความถนัดของคุณล้วนๆ แต่หากถามว่าสมุดเล่มนี้จะช่วยให้การใช้ปากกาหมึกซึมของคุณสนุกขึ้นมั้ย? คำตอบของผมคือ สนุกแน่นอน!

 

ปล. สามารถอ่านรายละเอียดของสมุดเล่มนี้เพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของผู้ผลิต InkJournal ตามลิ้งค์นี้นะครับ http://www.inkjournal.com/products/inkjournal-black-notebook-for-pen-collectors

หากอ่านแล้วถูกใจชอบใจ ฝากกดแชร์ด้วยนะครับ ขอบคุณครับ \( - 3-)/
โพสตอนนี้อยู่ในหมวด Notebook และมี tag ดังนี้ , , , , โพสเมื่อวันที่ .
hackhq

คนธรรมดาที่หลงใหลในการสเก็ตช์ ใช้ปากกาลามี่เป็นอาวุธ มีสมุด Moleskine เป็นผืนผ้าใบและมีจินตนาการในรูปของสีน้ำ หลงใหลรูป รส กลิ่น ของกาแฟ และเคลิบเคลิ้มกับเสียงของดนตรีแจ๊ส | ติดต่อผมบนทวิตเตอร์ได้ที่ @hackhq

เว็บไซต์ : https://www.bbblogr.com