ผมไม่น่าแส่หาเรื่องเลยจริงๆ ใช้หมึก Noodler’s Black Bulletproof ก็ดีอยู่แล้ว ยังจะออกตามหาตามอ่านนู้นนี่ในเว็บ ก็โดนละซิ! ดันไปอ่านเจอบทความนึงของ sketcher จากญี่ปุ่นเขียนเล่าไว้ว่าเค้าใช้ปากกาอะไรวาดรูป ใช้สีน้ำอะไร พู่กันอะไร แล้วก็ “หมึก” อะไร ผมก็เอะใจมาตั้งนานแล้วล่ะครับว่าศิลปินคนนี้ก็ใช้ Lamy แล้วก็ใช้หมึกกันน้ำ แต่ทำไมหมึกมันถึงได้ด๊าม-ดำแบบนี้ หมึกที่เค้าใช้ก็คือหมึกสัญชาติญี่ปุ่นยี่ห้อ Sailor รุ่น Kiwa-Guro Nano Black สุดเท่นี่เอง
ไม่รอช้า ผมก็ถามพี่กู (Google) ก่อนเลย เห็นว่ามีหลายเว็บที่มีขาย ส่วนใน ebay ก็มีขายเหมือนกัน แต่ที่แตกต่างอย่างชัดเจนก็คือ “ราคา” ครับ มีตั้งแต่ 21$ ไปจนถึง 36 $ เลยนะเธอว์ (ติดมาจากจ่าเว็บดราม่า) แต่ว่ารวมค่าส่งก็แพงไปกันใหญ่ ผมเลยนึกขึ้นได้ว่าคุ้นๆว่าเคยเห็นหมึกนี้ที่เว็บไหนซักแห่ง อ้อ! นึกออกล่ะ เว็บ pencils.jp นี่เองที่ผมเคยสั่ง Lamy Safari Friendship กับ หมึก Iroshizuku สีน้ำตาลหางม้าไป กดเข้าไปดูก็อึ้งสิครับ มีหมึกนี้ขายด้วยแถมราคาแค่ 1,500 เยน (580 บาท) แถมเค้ายังส่ง EMS ในราคาย่อมเยาในราคา 900 เยน ( 350บาท) ผมจึงไม่รอช้าจัดมา 1 ขวดโดยไม่มีอย่างอื่นติดมาด้วยให้เปลืองเงินในกระเป๋า หลังจากจ่ายเงินเสร็จ นั่งกระดิกเท้าเอกเขนกนอนอยู่บ้าน(ไม่ทำการทำงานหรอ) รอเพียง 4 วัน พัสดุก็มากองอยู่แทบเท้าในที่สุด พอแกะกล่องดูก็ได้รับการห่อเป็นอย่างดี ห่อ Bubble wrap ทั้งกล่องหมึกและขวดหมึกเลย ก็แหงล่ะผมมีคาถาไง แค่บอกว่า “ขนส่งไทยแลนด์มันกาก ช่วยห่อดีๆหน่อยน่ะ” pencils.jp ก็จะจัดให้ไม่มีผิดหวัง (ได้ค่าคอมมาป่าววะเนี่ย?!!)
ครั้งแรกที่ผมเห็นกล่องหมึก ผมก็ตกหลุมรักในทันทีครับ กล่องสี่เหลี่ยมแบบง่ายๆ แต่จัดวางตัวอักษรภาษาญี่ปุ่นสีทองไว้อย่างสวยงาม แถมมีวิธีใช้ที่ผมอ่านไม่ออกเลยซักตัวข้างกล่องด้วย แต่โดยรวมแล้วเท่มาก ยิ่งพอแกะกล่องนำขวดหมึกมาวางข้างกัน ดีไซน์ของขวดหมึกก็สวยงาม คลาสสิคยิ่งนัก เหมาะแก่การประดับโต๊ะทำงานให้ดูหรูยิ่งขึ้นไปอีก แค่นั้นยังไม่พอ พอเปิดฝาขวดหมึกก็พบกับช่องกักน้ำหมึกที่ทำหน้าที่รักษาระดับของหมึกภายในขวดให้พอดีเหมาะแก่การจุ่มหัวปากกาแล้วสูบ เพื่อไม่ให้หมึกสูงเกินไปจนเลอะเทอะได้เพื่อให้ง่ายต่อการเติม ผมว่าผู้ผลิตเค้าใส่ใจในทุกรายละเอียดจริงๆ ครับ
อยากรู้นักว่าหมึกทมิฬคงกระพันนี่จะแน่ซักแค่ไหนจะสู้ของ Noodler’s ได้มั้ย? มันต้องพิสูจน์!
สี ขอบอกว่าดำมากๆๆๆๆ เลยครับ ผมเขียนครั้งแรกนี่ตกใจเลย เพราะไม่คิดว่าหมึกปากกาหมึกซืมจะดำได้ขนาดนี้ เท่านั้นไม่พอ กลัวว่าสีมันจะหลอกตา ผมจึงทำการทดสอบ swab test หรือคือการปาดสี จึงเห็นว่าแค่เพียงปาดสีชั้นเดียวหมึกก็ให้สีดำที่เข้มมากอยู่แล้ว พอลองปาดทับ 2 ชั้นและ 3 ชั้นตามลำดับ สีก็เข้มขึ้นเรื่อยๆแสดงว่าเนื้อหมึกเค้าหนาแน่นเข้มข้นจริงๆ ปรบมือ!
Ink Flow การไหลของหมึกตัวนี้ทำเอาผมประหลาดใจ ด้วยความที่หมึกนี้มันด๊าม-ดำ เข๊ม-เข้ม เลยพาลให้คิดว่าหมึกมันต้องหนึด ไหลยากเขียนไม่มันแน่ๆ แต่ที่ไหนได้หมึกตัวนี้เขียนโคตรสนุกเลยครับ เขียนได้ลื่นมือไม่มีสะดุด แถมสีที่ได้ก็ดำต่อเนื่อง ไม่มีอาการหมึกจางหรือขาดเป็นช่วงๆให้ได้เห็น ขนาดผมเขียนหน้าพัดลมสียังสม่ำเสมอเลยครัฟ
Bleed คงจะคิดละซิว่าหมึกเขียนลื่นและสีดำสนิทแบบนี้มีเหรอจะไม่ซึม มันต้องทะลุทะลวงไป 3 หน้า 7 หน้า แน่ๆ แต่ผิดครับ! ผมเขียนข้อความเน้นๆ ช้าๆ พอพลิกกระดาษ Moleskine แบบธรรมดาดูก็ไม่ปรากฎรอยซึมของหมึกแม้แต่น้อย สามารถเขียนได้ท้ั้ง 2 หน้าได้อย่างสบายๆ (ประหยัดเงินค่าสมุดเลยเรา แต่เอาไปลงกับหมึกแทน)
Feathering เส้นหมึกจากการเขียนบนกระดาษ Moleskine หรือ A4 ทั่วๆไป มีความคมชัดมาก ไม่มีอาการเส้นแตกเลย พอลองสแกนแล้วขยายดูชัดๆ ก็ไม่มีอาการเส้นแตกแต่อย่างใด คุณจึงมั่นใจได้ว่างานเขียนและงานวาดของคุณจะคมชัดเส้นสวยไร้ที่ติแน่นอน
Dry Speed ไอ้หย๋า! อันนี้แอบตกใจจากผลการทดสอบจะเห็นว่าหมึกตัวนี้ แห้งช้าหว่ะ! 1 วินาทีนี้ถ้ามือไปโดนนี้จะไหลเป็นทางเลย ผมจึงเทสต่อเพื่อหาระยะเวลาแห้งที่เหมาะสมของหมึกตัวนี้ จำได้ว่าช่วงระยะเวลาตั้งแต่ 20 วินาทีเป็นต้นไปถือเป็นระยะปลอดภัย คุณสามารถละเลงได้เต็มที่โดยไม่ก่อให้เกิดข้อผิดพลาด ดังนั้นเวลาทำขอให้ใจเย็นนิดนึงครับ รออีกหน่อยแล้วจะดีเอง (นี่เราพูดเรื่องหมึกกันอยู่ใช่มั้ย?)
Nib Creep หมึกที่มีคุณสมบัติดีขนาดนี้ ถ้าผ่านข้อนี้ได้ก็จะเป็นหมึกที่ perfect เลย โดย nib creep เป็นภาษาที่เรียกกันในกลุ่มคนเล่นปากกาเล่นหมึก หมายถึงหมึกจะทำให้ตัว Nib หรือก็คือหัวปากกามีหมึกเลอะเทอะ และจากการที่ผมได้ลองใช้หมึกมาเป็นเวลากว่า 1 สัปดาห์ ปรากฎว่า “เละ” ครับ ถึงแม้จะไม่มากแต่ก็เป็นที่น่ารำคาญใจยิ่งนักเท่านั้้นยังไม่พอ หากทิ้งปากกาไว้โดยไม่ได้เขียนเป็นเวลา 2-3 วันก็จะเริ่มมีอาการหมึกไม่ออก เพราะหมึกจะแห้งและตันในส่วนหัวของปากกา แต่พอสะบัดๆ หน่อยก็จะหายและก็จะแลกมากับหมึกทะลักออกมาที่หัวเพิ่มอีกต่อนึงครับ (ไปล้างเห้อะ)
Water Proof มาถึงช่วงที่ทุกคนรอคอย! หมึกนี้มันจะกันน้ำได้หรือไม่?! หรือเพียงแค่ลงเล่นน้ำก็จะกระเจิงหายไปหมด! ไปดูกันเล้ย! (จะตะโกนอะไรนักหนา?!) จากการทดสอบด้วยการเขียนบนกระดาษ A4 แล้วนำไปแช่น้ำในจาน…ขันก็ได้ฟร่ะ! ไม่มีอาการหมึกไหลออกมาแม้แต่น้อยเลยครับ ผมไม่อยากจะเชื่อเลยเพราะหมึกที่เข้มขนาดนี้อย่างน้อยต้องไหลออกมาบ้างซิก็เลยทำการแช่ต่ออีกครึ่งชั่วโมง ระหว่างนั้นก็ไปต้มมาม่าดูทีวี นอนอ่านการ์ตูน แล้วก็…ผมเผลอหลับไปครับ! สะดุ้งตื่นอีกทีก็ผ่านไปเกือบชั่วโมง ตายละ! หมึกที่เทสไว้จะเป็นไงบ้างวะเนี่ย?! ผลปรากฎว่ามันไม่เป็นอะไรเลยครับ ไม่มีหมึกไหลลอยออกมาบนผิวน้ำ มิหนำซ้ำหมึกบนกระดาษยังคมชัดดำสนิทเหมือนเดิม โอ้ว! Unbelievable! (ผีซาร่าเข้าสิง)
ไม่ๆๆๆๆ จะเป็นไปได้ยังไงที่จะมีหมึกอื่นเหนือไปกว่าหมึก Noodler’s Black ผมกู่ร้องเหมือนเมื่อสมัยยังเด็กแล้วโดนแย่งตุ๊กตาหมี(เดี๋ยวนะ!) ผมจึงลงมือทดสอบจริงด้วยการวาดภาพและลงสีน้ำ หึหึ เราคิดแล้วว่านายต้องมีจุดอ่อนสิน่า! ตอนวาดเส้นทั่วไปไม่มีปัญหาครับ เส้นดำคมชัดบนกระดาษ Moleskine แบบธรรมดา แต่เมื่อผมทิ้งไว้ซัก 5-10 นาที แล้วลงสีน้ำเท่านั้นแหละ “หมึกบางส่วนไหลตามน้ำออกมา” เห้ย! จะเป็นไปได้ไงวะ?! เมื่อกี้ก็ลองจุ่มน้ำดูก็ไม่เห็นเป็นไรเลย แล้วผมก็วาดต่อไปจนเสร็จมีบางครั้งที่หมึกไหลออกมาพอให้สังเกตุได้ว่า ถ้ามีการเขียนแบบให้หมึกเยอะ เช่น การย้ำเส้น จุด หรือระบายถมด้วยหมึก จะทำให้หมึกเกาะตัวหนาขึ้นและทำให้แห้งไม่สนิท ทำให้เมื่อสัมผัสกับขนพู่กันจะทำให้หมึกที่เป็นชั้นหนานั้นไหลออกมากับน้ำได้
ดังนั้นหากจะใช้กับสีน้ำต้องมั่นใจว่าหมึกนั้นแห้งสนิทมากที่สุดก่อนจะลงสีน้ำและไม่ควรวาดเส้นย้ำหมึกจนหนาเกินไป แต่ผมว่าหมึกนี้ไม่ถึงขั้นเลวร้าย เมื่อเทียบกับหมึกอื่นๆ เช่น หมึก Lamy เพราะหมึกนี้ไหลออกมานิดเดียวเอง แต่เจ้าหมึกพวกนั้นเรียกได้ว่า “พวกแกจะเกิดมาเป็นหมึกทำไมฟระ?!” (ไอนี่ก็โหดเกิ้น ดูสิหมึก Lamy ร้องไห้กันทั้งกล่องเลย…กูหนีก่อนล่ะ)
สรุป ผมชอบหมึกตัวนี้มากเลยครับให้ตายดิ ด้วยสีที่ดำเข้ม เขียนลื่น เส้นคม แถมกันน้ำได้อีกต่างหาก ทำให้ทุกวันนี้ผมเปลี่ยนมาใช้หมึก Sailor Kiwa-Guro เป็นหมึกประจำ Lamy ด้ามโปรดของผมครับ ถึงแม้ว่าราคาจะแอบแพงไปหน่อยเมื่อเทียบกับปริมาณต่อ ml แต่ใช้ดีขนาดนี้แถมขวดยังเท่อีกต่างหาก ผมว่าคุ้มค่าเลยทีเดียวครับ
แล้วคุณหละครับ? ไม่หามาลองสักขวดเหรอ?