จะมีแบรนด์ซักกี่แบรนด์กันเชียวที่จะมีอายุและประวัติที่ยาวนานจนคุณเองอาจคาดไม่ถึง จะว่าไป Lamy ก็เก่านะแต่ก็ยังไม่เก่ามาก ส่วน Moleskine นี่ก็ถือว่าเก่าเข้าขั้นเลยทีเดียว แต่คุณเคยนึกไหมว่าไอหมึกที่เราเขียนอยู่ทุกวันนี้มันก็เป็นของเก่าแก่มีใช้กันมาช้านานเหมือนกัน แต่จะมีซักกี่แบรนด์กันเชียวที่เก่าแก่พอให้เราเรียกว่า “ตำนานแห่งหมึก” นึกไม่ออกใช่ไหมครับ? ผมบอกให้ก็ได้ครับชื่อนั้นคือ J.Herbin
J.Herbin นั้นก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1670 ในปีเดียวกันกับครั้งเมื่อพระเจ้า Louis XIV (หลุยส์ที่ 14 : King of Sun) มีพระชนมายุได้ 32 พรรษา ก่อตั้งโดย M.Herbin กะลาสีเรือผู้เดินทางท่องเที่ยวไปที่ต่างๆรอบโลกและก็ได้พบกับสูตรของการผลิตครั่งจากประเทศอินเดีย เมื่อกลับสู่ปารีส M.Herbin ก็ผลิตครั่ง (sealing wax) ขึ้นและเป็นที่โด่งดังสร้างชื่อเสียงไปทั่วอาณาจักร นั่นก็เป็นเพราะด้วยสูตรที่ได้ค้นพบบวกกับการพัฒนาจนกลายเป็นครั่งที่มีคุณสมบัติติดแน่นคงทนและสะอาดไม่เลอะเทอะนั่นเอง
30 ปีหลังจากนั้นในปี 1700 บริษัทก็ได้เริ่มผลิตหมึกขึ้นมาเป็นครั้งแรก หมึกนั้นถูกเรียกขานว่า The Jewel of Inks (Perle des Encres) ที่ยังคงผลิตและจัดจำหน่ายจวบจนถึงปัจจุบัน (ผมหามาได้ละครับ รออ่านรีวิวในตอนต่อๆไปนะ) หมึกของ J.Herbin นั้นถูกใช้โดยบุคคลสำคัญระดับโลกหลายๆท่านครับไม่ว่าจะเป็นพระเจ้าหลุยที่ 14 เอง หรือจะเป็น Napoleon Bouaparte (พระเจ้าหลุยที่ 1) รวมไปถึงนักประพันธ์ชื่อก้องโลกอย่าง Victor Hugo ผู้แต่งเรื่อง The Hundback of Notre Dame (คนค่อมแห่งนอทเทอร์ดาม) และเรื่อง Les Miserables (เลมิสเซราบ) สุดยอดเลยใช่ไหมครับ?
หมึก J.Herbin 1670 Anniversary: Rouge Hematite ขวดนี้ผลิตขึ้นเนื่องในโอกาสฉลองครบรอบ 340 ปีตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมา จริงๆแล้วซีรีส์นี้มีด้วยกัน 2 สีครับคือสีแดง Rouge Hematite (ขวดนี้) และสีน้ำเงิน Ocean Blue (ไม่ได้ซื้อมา) งั้นมาพูดถึงหมึกสีแดงกันดีกว่าครับ สีแดงนี้เป็นสีพิเศษสีเดียวกันกับสีของครั่งที่สร้างชื่อให้กับ J.Herbin ครับ สีแดงนี้เองที่ถูกใช้โดยราชวงศ์ของฝรั่งเศส เป็นสีแดงเข้มเอิร์ทโทนที่ดูหรูหราเป็นเอกลักษณ์จริงๆ ครับ
การออกแบบขวดหมึก J.Herbin 1670 เรียกได้ว่าสวยงามครับ ตัวกล่องมีลายเส้นเป็นรูปต่างๆที่เกี่ยวกับการเดินเรือ โดย J.Herbin ได้พูดถึงการออกแบบกล่องไว้ว่า ด้วย concept จากเรื่องราวของผู้ก่อตั้ง M.Herbin ผู้เป็นกะลาสีเรือ จึงใช้ภาพเรือ, สมอเรือ, ต้นปาล์ม สื่อถึงการเดินทางและการสำรวจค้นพบ มงกุฎหมายถึงครั่งสีแดงของ J.Herbin ที่ถูกใช้โดยกษัตริย์และเชื้อพระวงศ์ของฝรั่งเศส
กล่องว่าเด็ดแล้วขวดนี่เด็ดของจริงเลยครับ ขวดหมึกแก้วขนาดพอเหมาะปิดด้วยฝาโลหะชุบด้วยครั่งแดงอันเป็นเอกลักษณ์ คอขวดพันรอบด้วยเส้นเชือกสีทองมาผูกบรรจบที่ด้านหน้าและประทับปิดด้วยครั่งสีทองเป็นตรา 1670 สื่อถึงการประทับผนึกขวดไวน์ระดับ “grand cru” ไวน์ของประเทศฝรั่งเศสหรูหราจริงๆ ครับ (ที่บ้านผมก็มีขวดนึงครับ grand cru รสออกเค็มๆ #นั่นมันน้ำปลา! #ตบฉาด)
โดยหมึกขวดนี้ผมได้มาจากเว็บชื่อ pengallery.com เว็บขายปากกาของประเทศมาเลเซีย ในราคาขวดละ 19$ ครับ ที่จริงมีค่าจัดส่งอีก 11$ แต่ว่าผมสั่งหมึกอื่นมาอีก 2 ขวด ก็เฉลี่ยค่าส่งกันไป ส่งแบบ DHL ครับ ถามว่าราคานี้แพงมั้ย ถ้าคิดเป็น 1 ml = 0.38$ (ตก 12 บาท ไม่รวมค่าส่ง) คุณอาจมองว่าแพงแต่ถ้าคุณได้อ่านต่อตั้งแต่ต้นไปจนจบคุณจะต้องคิดแบบเดียวกับผมว่ามันไม่แพงอย่างแน่นอนครับ
จำได้ว่าระยะเวลา 2-3 วัน พัสดุก็มาถึงมือผมแล้วครับ เร็วมากเพราะเป็น DHL ไงครับ แน่นอนผมบอกว่าช่วยห่อของดีๆด้วยนะ พอผมแกะกล่องพัสดุเท่านั้นแหละครับ อึ้งครับ! เค้าห่อมาได้ดีเว่อร์มาก ห่อขวดหมึกทั้งสามขวดด้วย Bubble wrap หลายชั้นมาก นอกจากนั้นเมื่อแกะกล่องหมึกก็มีการห่อถุงพลาสติกอีกทีนึงครับเรียกได้ว่าปิดประตูขวดแตกหมึกกระฉอกไปได้เลย #กราบ
จบเรื่องรูปลักษณ์ภายนอกต่อไปเป็นเรื่องความงามภายในกันต่อครับ ออกตัวก่อนว่าครั้งนี้ผมจะไม่วาดรูปลงสีน้ำนะครับ ก็แหม! ใครเค้าจะลงสีบนหมึกแดงกันเล่า!
หมายเหตุ ทุกการทดสอบผมทดสอบบนกระดาษ Moleskine แบบธรรมดา (จะมีแค่ทดสอบกันน้ำที่ใช้กระดาษ A4) ดังนั้นถ้าหากคุณได้ผลที่แตกต่างอาจเป็นเพราะกระดาษที่ต่างกันนะครับ
สี สีของหมึกเป็นสีแดงเข้มเหมือนเลือดเป็นเอกลักษณ์มาก เท่าที่ผมลองเล่นหมึกมายังไม่เคยเจอสีแบบนี้นะครับ เว่อร์เหรอครับ? ไม่หรอก! ถ้าหากคุณได้รู้ข้อนี้ คือถ้าหากลองเอากระดาษที่คุณเขียนหรือวาดด้วยหมึกตัวนี้ไปต้องแสงไฟ คุณจะต้องตกใจ! หมึกแดงเข้มจะเปล่งประกายทองครับ! แต่ไม่ได้ทองอย่างชัดเจนมาก จะเห็นแค่บางมุมเท่านั้น ผมเลยลองทำ Ink Drop ดู (หยดหมึกเพื่อดูเนื้อสีนั่นแหละ) ปรากฎว่าเห็นเหลือบทองชัดเจนมากนั่นก็เพราะปริมาณน้ำหมึกและเนื้อสีครับ ถ้าหากคุณใช้หัวปากกา(nib) ไซส์ใหญ่ก็จะยิ่งเห็นประกายทองชัดเจนขึ้นนั่นเอง
Ink Flow เขียนลื่นดีครับ เนื้อหมึกเหลวทำให้บางครั้งเวลาเขียนจึงให้สีที่ไม่สม่ำเสมอ บางทีแดงบางทีก็แดงเข้ม แต่ก็ดูสวยไปอีกแบบนะ
Bleed ซึมครับซึม ก็เนื้อหมึกมันเหลวซะขนาดนั้นก็ต้องทะลุทะลวงอยู่แล้ว แต่ก็ไม่มากมายนะครับ เพราะมันขึ้นอยู่กับกระดาษอีกที เช่น Moleskine ที่กระดาษบางอยู่แล้วย่อมซึมเป็นธรรมดาแต่คิดว่ากระดาษอื่นที่หนากว่าคงไม่มีปัญหาเขียนได้สบายครับ
Feather ต้องมองเป็นสองกรณีครับ คือถ้าหากตอนที่จรดปากกาลงบนกระดาษแล้วตอนนั้นหมึกไหลเยอะเส้นก็จะแตกเล็กน้อยครับ กรณีที่สองคือเมื่อเขียนด้วยหมึกในจังหวะที่ไม่ไหลลงมาเยอะเกินไป ก็แทบจะไม่เห็นเส้นแตกเลยครับ มีบ้างเล็กน้อยแต่โดยรวมไม่ค่อยแตกครับ วางใจได้
Dry Speed แห้งช้ามากให้ตายดิ จากการทดสอบต้องรอกันเป็นนาทีกว่าจึงจะแห้งสนิทครับ คือ ถ้าเผลอเอามือไปโดนตอนเขียนนี่มีเลอะแน่ๆ
Nip Creep แปลกครับ ผมนึกว่าหมึกไหลลื่นแบบนี้จะทำให้ nip เลอะเทอะเสียอีกแต่ไม่มีครับ อีกทั้งยังสามารถนำความสะอาดได้ง่าย เช็ดนิดเดียวก็สวยเหมือนเดิมครับ นอกจากนั้นผมลองทิ้งปากกาไว้ไม่ได้เขียน 2-3 วันก็ไม่มีอาการเขียนไม่ออกนะครับ หยิบปากกามาเขี่ยๆ ซักที 2 ที หมึกก็ออกเหมือนเดิมละครับ
Water Proof แค่ลองเริ่มต้นจุ่มกระดาษทดสอบลงในจานใส่น้ำหมึกก็ไหลร่อนออกมาจากเส้นเลยครับ เป็นภาพที่น่าสยดสยองมากลองนึกถึงผ้าก๊อซปิดแผลเปื้อนเลือดที่โดนน้ำดูครับ เลือดซึมไหลเป็นทางเชียว พอเหอะ! ผมเลยลองทิ้งกระดาษไว้ในน้ำต่อเป็นเวลาครึ่งชั่วโมงแล้วลองเขย่าจานใส่น้ำดู หมึกก็ไหลออกมาเกือบหมดครับแต่ดีที่ยังพอเหลือรอยเส้นปากกาสีชมพูให้พออ่านได้ไม่หายไปจนหมดเกลี้ยง
สรุป ถึงแม้ว่าหมึกสีแดงจะไม่เหมาะกับการใช้ในชีวิตประจำวันเหมือนพวกสีดำหรือสีน้ำเงิน แม้กระทั่งใช้ในการวาดรูปลงสีน้ำ แต่ผมชอบหมึกตัวนี้เลยครับ มันเป็นสีแดงเข้มที่เท่จริงๆ มีประกายทองเมื่อต้องแสงอีกต่างหาก หมึกสีสวยไหลลื่นทำให้ไม่ว่าคุณจะเขียนอะไรมันก็สนุกไปเสียหมด นอกจากนั้นการออกแบบขวดหมึกก็ถือว่าสวยสุดยอดจริงๆ พิถีพิถันในทุกรายละเอียด ทำให้มันไม่เป็นเพียงแค่ “ขวด” บรรจุหมึก แต่มันยังกลายเป็นของประดับโต๊ะทำงานชั้นยอดที่ดูสวยหรูไร้กาลเวลาคู่ควรกับโต๊ะทำงานของคุณเป็นที่สุดครับ
ปล. ตอนนี้บล็อกนี้มี Facebook Fan Page แล้วนะครับ ขอเชิญชวนให้ไป like ไป love กันด้วยนะครับ คือผมกะใช้เพจเป็นที่อัพข่าวสารต่างๆเช่นของมาใหม่หรือที่ไหนขายลามี่ราคาพิเศษ ดังนั้นข่าวสารในเพจจะไวกว่าครับ ส่วนที่บล็อกนี้ก็เน้นๆเนื้อหาเหมือนเดิม อ่านยาวโหลดรูปอ้วก กร๊ากๆ