ถ้าจะกล่าวถึงคุณ James Richards คุณผู้อ่านหลายคนคงรู้จัก sketcher ขั้นปรมาจารย์คนนี้กันบ้างแล้ว นอกจะได้รับรางวัลต่างๆ เป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัย แล้วยังเขียนหนังสือสอนการสเก็ตช์อีกคุณ James Richards ยังเป็นแรงบันดาลใจให้ใครอีกหลายคนหันมาสเก็ตช์อย่างจริงจัง งานส่วนใหญ่ของท่านจะเป็นการสเก็ตช์ภาพเมืองต่างๆ ที่ได้ไปเยี่ยมเยือนมา (ท่านไปมาแล้ว 40 กว่าประเทศและตั้งใจจะไปให้ทั่วโลก!) บางครั้งการสเก็ตช์ในที่ที่ผู้คนขวักไขว่ เดินสวนกันไป-มา อีกทั้งตึกรามบ้านช่องน้อยใหญ่เยอะแยะละลานตา ถ้าไม่ตั้งสติดีๆ คงวุ่นวายสับสนน่าดู ปอยไปเจอบทสัมภาษณ์คุณ James Richards โดย Lizzie Davey เกี่ยวกับการสเก็ตช์ภาพเมืองที่ท่านไปท่องเที่ยวมา มีเทคนิคที่ท่านใช้เป็นประจำ ซึ่งคิดว่าพวกเราที่ชอบวาดภาพเมืองน่าจะเอาไปฝึกกันได้ค่ะ
นอกจากเทคนิคการสเก็ตช์ภาพ Busy City ที่คุณ James Richards ใช้บ่อยๆ ในบทสัมภาษณ์ยังถามถึงแรงบันดาลใจในการสเก็ตช์และสถานที่ที่คุณ James Richards อยากไปสเก็ตช์มากที่สุดด้วยล่ะ เข้าไปอ่านบทสัมภาษณ์เต็มๆ ได้ที่ Busy City Sketches by James Richards สำหรับชวนชมวันนี้ปอยอยากเอาวิธีที่ท่านใช้สเก็ตช์จากเริ่มต้นไปจนถึงขึ้นตอนสุดท้ายที่ได้ภาพสมบูรณ์แล้วมาแชร์กันค่ะ ไหนๆ ก็จะให้ง่ายเหมือนปอกกล้วย ปอยก็จะเล่าขั้นตอนแบบง๊ายง่ายป้อนเข้าปากเพื่อนเลยละกันนะ
ขั้นตอนที่ 1 : คุณ James จะลากเส้นกรอบไว้ก่อนค่ะ เพื่อกำหนดเฟรมของภาพที่ต้องการ (ขั้นตอนนี้ง่ายพอมะ)
ขั้นตอนที่ 2 : ลากเส้นแนวนอนเพื่อใช้เป็นเส้นระดับสายตา (Eye Level) (ระดับนี้จะสูงหรือต่ำก็อยู่ที่ระยะใกล้ไกล และขนาดของจุดเด่นที่เพื่อนๆ ต้องการวาดล่ะค่ะ)
ขั้นตอนที่ 3 : วาดคนลงไป เอาหลายๆ ระยะ ใกล้บ้าง ไกลบ้าง และหลายอิริยบท เดิน นั่ง ยืนคุยกัน ฯลฯ (ถ้ายังไม่รู้จะสเก็ตช์ภาพผู้คนแบบไหนดี ลองอ่าน “เพิ่มความน่าสนใจให้ภาพด้วย 5 วิธีสเก็ตช์ผู้คนอย่างมีสไตล์” ดูนะคะ )
ขั้นตอนที่ 4 : ร่างโครงของสิ่งก่อสร้าง เช่น อาคาร สะพาน ฯลฯ แบบคร่าวๆ ก่อน (เอาคร่าวๆ นะ จะได้ไม่สติแตก ช่วงผู้คนพลุ่งพล่าน และเกิดท้อว่าตึกทำไมหน้าต่างเยอะจัง จะวาดยังไงหมดละเนี่ย!)
ขั้นตอนที่ 5 : เพิ่มรายละเอียดของอาคาร และใส่คน รถ ป้ายถนน เข้าไปอีก ให้ได้ระยะความลึกตื้น ภาพจะได้มีมิติมากขึ้นค่ะ
ขั้นตอนที่ 6 : ใส่รายละเอียดของสิ่งก่อสร้าง คน และสิ่งของเข้าไปอีกค่ะ (ขั้นตอนนี้อาจจะเรียกว่าขั้นตอน “ลงของ” ต้องจัดเต็มและใช้เวลามากกว่าขั้นตอนอื่นๆ ปอยนี่อยากบอกว่ามันส์เลยล่ะทีนี้)
ขั้นตอนที่ 7 : โอ้โฮ ! เป็นรูปเป็นร่างแล้ว คราวนี้คุณ James ก็จะลงสีดำในส่วนที่เป็นเงาแล้วค่ะ ภาพจะมีมิติ แยกความสับสนปนเปออกจากกันได้ดีทีเดียว
ขั้นตอนที่ 8 : เป็นขั้นตอนสุดท้ายที่คุณ James จะลงสีในส่วนที่ต้องการเน้นให้เป็นจุดเด่นของภาพ หรือส่วนที่ต้องการสื่ออารมณ์ของภาพค่ะ (ได้เวลาเปิดกล่องสีซะที รอมานานแล้นนน..น.)
ในที่สุดก็ได้ภาพ Busy City ที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว คราวนี้ต่อให้ในชาว bbblogr.com ไปเจอเมืองที่วุ่นวายแค่ไหน เอา 8 ขั้นตอนของระดับเซียนไปใช้ รับรองว่าจากการสเก็ตช์ที่ดูเหนื่อย ยากเย็นแสนเข็น (เพราะไม่รู้จะเริ่มตรงไหนมันเยอะไปหมด!) จะกลายเป็นการสเก็ตช์แสนชิล แถมใช้เวลาไม่นานเพื่อนๆ จะได้ภาพสวยสมใจ ต่อให้วาดเป็นสิบรูปก็สบายจ้า
อย่างที่บอกว่าคุณ James Richards เคยออกหนังสือสำหรับการสเก็ตช์เอาไว้ ซึ่งอัดแน่นไปด้วยคุณภาพ ใครมีไว้ในครอบครองจะเป็นสิริมงคลอย่างยิ่ง (มีแล้วต้องอ่านนะ ไม่ใช้เก็บไว้บนหิ้ง!) ไม่ว่าจะเป็น sketcher คนไหน ก็ยังแนะนำให้ทุกคนที่อยากเก่ง หมั่นฝึกฝนเข้าไว้ คาถานี้ใช้ได้กับทุกคนจ้า ขอให้เพื่อนๆ สนุกกับการสเก็ตช์นะคะ
ขอขอบคุณรูปภาพที่มาสำหรับเทคนิคดีๆ :http://www.wanderarti.com/busy-city-sketches/
บล็อคของคุณ James Richards มีบทความให้อ่านเพียบเลยค่ะ :http://www.jamesrichardssketchbook.com/