สวัสดีเพื่อนๆ ชาวบีบีบล็อกค่ะ วันนี้แชมจะมาชวนเพื่อนๆ ไปเที่ยวหอศิลป์ดูฝีแปรงศิลปินระดับโลก อย่าง วินเซนต์ แวน โก๊ะ, โมเนท์, แร็มบรันต์ และศิลปินท่านอื่นๆ อีกมากมาย โดยไม่เสียเงินสักบาทค่ะ นั่นก็เพราะเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ที่ผ่านมา Google ได้เปิดตัวกล้องความละเอียดสูงระดับ ultra-high resolution ที่มีชื่อว่า The Art Camera ในงาน I/O ที่จัดขึ้นอย่างอลังการเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา
โดยทาง Google ได้ส่งต่อเจ้า The Art Camera จำนวนทั้งหมด 20 ตัวไปตามพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ทั่วโลกมาสักระยะนึงแล้วแหละคะ เพื่อเก็บบันทึกภาพงานศิลปะชิ้นสำคัญของโลกให้ออกมาเป็นไฟล์ดิจิตอล โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ เลย แถมยังใจดีนำภาพเหล่านั้นมาจัดแสดงบนเว็บไซต์ให้คนเดินดิน กินข้าวไป วาดรูปไป อย่างพวกเรา ได้มีโอกาสเสพงานศิลปะระดับโลกในระยะประชิดกันอีกด้วยค่ะ
ชมภาพตัวอย่างไปหอมปากหอมคอ เรามาทำความรู้จักกับเจ้าตัว The Art Camera ที่จัดว่าเป็นกล้องหุ่นยนต์ (Robotic Camera) กันดีกว่านะคะ ความพิเศษของกล้องโรบอท ไม่ใช่แค่เพียงการถ่ายภาพงานศิลปะธรรมดา แต่เป็นที่การเล็งระยะภาพให้ชัดระดับฝีแปรง ด้วยการคำนวน และกำหนดระยะโฟกัส จากแสงเลเซอร์ และคลื่นเสียงโซนาร์ (Laser and Sonar) เมื่อได้ระยะโฟกัสเรียบร้อย กล้องจะค่อยๆ บรรจงถ่ายรายละเอียดของภาพศิลปะอันมีค่า ทีละส่วน ทีละส่วน แล้วนำรายละเอียดเหล่านั้นมาร้อยเรียงต่อกันจนเป็นภาพความระเอียดสูงระดับกิกก้าพิกเซล (Gigapixle) ในระยะเวลาที่ทาง Google เคลมว่ารวดเร็วกว่ากล้องคุณภาพสูงที่เคยใช้กันมาค่ะ
และที่พิเศษยิ่งกว่านั้นคือกล้องสามารถถ่ายภาพได้จากสถานที่จัดแสดงจริง โดยไม่จำเป็นต้องเคลื่อนย้ายตัวงานศิลปะออกจากสถานที่จัดแสดง ทำให้ลดความเสี่ยงต่อแสง และความชื้นที่ไม่เหมาะสม มีความปลอดภัยสูง ใช้ง่าย ได้ใจภัณฑรักษ์สุดๆ ไปเลยค่ะ
สามารถเข้าชมภาพได้ที่นี่
The Art Camera ได้บรรจงถ่ายภาพงานศิลปะออกมาให้เราได้ยลโฉมกันแล้วที่เว็บไซต์ Art Camera Images จำนวน 200 รูป เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองวัน International Museum Day (18 พ.ค. ของทุกปี)
นอกจากนี้ Google ยังมีโครงการบันทึกภาพงานศิลปะอีกกว่า 1,000 รูป จากพิพิธภัณฑ์ที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อสานต่อโครงการ Google Cultural Institute ด้วยวัตถุประสงค์ในการเผยแพร่ศิลปะ และวัฒนธรรม ให้คนธรรมดาสามารถสร้างพิพิธภัณฑ์ออนไลน์ส่วนตัวได้เพียงปลายนิ้ว
นับเป็นข่าวดีของวงการประวัติศาสตร์ศิลปะทั่วโลก ที่ Google ได้เปลี่ยนวงการศิลปะให้กลายเป็นสิ่งที่คนธรรมดาจับต้องได้อีกแล้วล่ะคะ
ที่มา :