สวัสดีค่ะ
เอิ่ม … ไม่เคยเห็นหน้าเห็นตานางคนนี้มาก่อนใช่ไหม แนะนำตัวสั้นๆ ชื่อ Kia/เคีย ค่ะ (มิใช่ยี่ห้อรถนอกแต่อย่างใด) คุณพี่ปอนด์ไปยืมตัวมาให้เขียนคอลัมน์ใหม่ๆ เกี่ยวกับการวาดภาพ ให้กับ B.B.Blog แห่งนี้ อิอิ
ส่วนตัวแล้วเคียใช้สีน้ำเป็นหลักค่ะ
ไม่ว่าคุณจะเป็นนักวาดมือใหม่ นักอยากวาด หรือคนรักสีน้ำ คอลัมน์นี้ถูกสร้างมาเพื่อเอาใจคุณทั้งสิ้น เพราะพี่แกย้ำแล้วย้ำอีกว่าอยากให้ “ไม่ว่าใครก็ตาม” อ่านแล้วสามารถเริ่มไปด้วยกันได้ง่าย
/กรุณาจินตนาการหน้าพี่เค้าประกอบไปด้วยค่ะ กรั่ก
พูดถึงเริ่มหัดวาดสีน้ำควรจะเริ่มจากอะไรดีล่ะนี่?
ไม่รู้จ้ะ…
เออ มันยากนะ เช่นถ้าเริ่มจากของถูก เราก็จะใช้ของที่แพงขึ้นเรื่อยๆ (ซึ่งไม่ผิดอะไร)
แล้วถ้าเริ่มจากของแพง คุณก็จะไม่ชินกับการใช้ของถูกไปอีกตลอดกาล ยามเมื่อไปเยือนถิ่นทุรกันดารก็อาจมีปัญหาได้ และที่สำคัญคือเป็นภัยต่อกระเป๋าตังค์เป็นอย่างมากถ้าคุณมาค้นพบทีหลังว่าการวาดสีน้ำนั้นไม่ใช่แนว
เพราะฉะนั้น
- เนื่องจากอุปกรณ์สีน้ำเกรดของคนที่ “จะเริ่มเอาจริงแล้วนะ” นั้นมีราคาปานกลางไปจนถึงสูง การเลือกซื้อแต่ละครั้ง ถ้ามีเพื่อนให้ยืมทดลองก่อนจะดีกว่ามาก
(เพื่อน : อ้าวเห้ยยยย) - ถ้าจะให้ดี อ่านรีวิวจากอินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับแต่ละผลิตภัณท์ที่สนใจประกอบการตัดสินใจ ยกตัวอย่างเช่น …
รีวิวกระดาษสีน้ำทุกยี่ห้อในไทย ฯลฯ … - เสิร์ชกูเกิ้ลแป๊ปเดียวก็เจอ!! แต่!! … เวลาอ่านรีวิวตามเน็ตก็กรุณาใช้วิจารณญาณประกอบ เพราะภาพสแกนใดใดในโลกล้วนถูกตกแต่งมาแล้วด้วยสแกนเนอร์และโฟโต้ฉับ
- ขั้นตอนหลังการอ่านรีวิวตามเน็ต ดิฉันขอแนะนำให้พวกคุณใช้เวลาอ่านและจดชื่อรุ่นมาดูเอาเองตามร้านขายของด้วย สิ่งที่เห็นอาจไม่ใช่สิ่งที่เป็น และตามร้านขายมักมีตัวอย่างกระดาษให้สัมผัส texture ว่าถูกใจหรือไม่
แนะนำอุปกรณ์เบื้องต้น
สำหรับผู้เริ่มหัดวาดสีน้ำมักมีปัญหาโลกแตกว่า เอ้า อีข้อมูลที่เขียนมาในอินเทอร์เน็ต แกก็บอกให้ฉันไปเสิร์ช
แล้วมันจะรู้เรื่องหรือได้อะไรขึ้นมา ในเมื่อความรู้ในหัวฉันเป็น 0 ฟะ??
เพราะงั้นเรามาทำความรู้จักมิตรรักที่จะอยู่ร่วมกับเราไปอีกนานหากมีบุญวาสนาต่อกันดีกว่า
อย่างแรก
กระดาษ : ความเรื่องมากหมายเลข 1
มีให้เลือกเยอะมากกกก หลากหลาย texture
มีทั้งแบบ กระดาษ และแบบใยผ้าฝ้าย ยิ่งมีเปอร์เซ็นต์ของใยผ้าฝ้าย (Cotton) มากแค่ไหน ยิ่งเข้าใกล้แก่นแท้ของความไฮโซมากเท่านั้น
การเลือกกระดาษให้เหมาะกับสไตล์งานนั้น ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวเลย คือต้องลองเอาเอง
ถ้าสำหรับเราก็คือเลือกที่จำนวนแกรมหนาๆ อย่าง 300 แกรมกำลังดี (มีข้อยกเว้นสำหรับกระดาษ cotton ที่ใช้แค่ 200 แกรมก็หรูแล้ว)
ส่วนกระดาษสีน้ำสำหรับคนที่เพิ่งหัดลงสีน้ำ เราขอแนะนำให้เริ่มจากตัวนี้
- ปกรูปบอลลูนแดงบนพื้นดำ เขียนประกอบว่าหนา 300 แกรม
- มันมีปกสีน้ำเงินที่เป็น 100 ปอนด์ อย่าหยิบมาผิดนะ
- เท็กเจอร์กระดาษเหมาะมือสำหรับคนที่เริ่มฝึก
- มีความหนา อุ้มน้ำได้พอประมาณ สีแห้งช้าพอประมาณ อัพสเตตัสเป็นค่ากลางทั้งหมด ลงสวยๆ ก็ได้ ไว้หัดลงก็ได้ ราคาไม่แพงเท่าไหร่ 12แผ่น / 200 บาท
- สถานที่ขาย: B2S สาขาที่ใหญ่หน่อย , BeTrend พาราก้อน, สมใจ, สหกรณ์ตามโรงเรียนช่างศิลป์และมหาวิทยาลัยที่มีคณะศิลปะ
Renaissance Watercolour Pad 200 gsm.
- ปกเป็นสีฟ้าหรือสีเทา มี 2 รุ่น คุณภาพใกล้เคียงกัน
- ด้วยความที่ราคาถู๊กถูก ยังไม่เหยียบร้อย ทำให้เป็นกระดาษที่เหมาะกับการหัดใช้ลงมาก ลงแล้วเสียก็ไม่เสียดาย
- หนานิดหน่อย งอง่าย ไม่เหมาะกับการลงเปียกซ้ำๆ
- เมื่อลงเสร็จ สีจะดร็อปความสดลงไปประมาณ 30%
- เก็บไว้นานๆ จะยิ่งดร็อปลงไปอีก เพราะฉะนั้นจึงไม่แนะนำให้ใช้กระดาษยี่ห้อนี้กับงานจริงจังค่ะ
- พอเริ่มคุมสีได้ค่อยอัพไปแบรนด์ที่แพงกว่านี้นะคะ
- สถานที่ขาย: น่าจะทุกที่ที่มีเครื่องเขียนขาย เป็นแบรนด์เด็กๆ หาง่ายมากๆ
Campap Watercolor Painting 300 gsm.
- ปกยาว เล่มใหญ่ มี 12 หน้า สีเหลือง มีดอกไม้ข้างบน
- เนื้อกระดาษดีถึงดีมากๆ เอาไว้ลงจริงจังก็ได้ หรือไว้ฝึกฝนก็ได้เช่นกัน แต่ช่วงแรกจะใช้ยากเล็กน้อย
- ราคา 195 บาท !! ถือว่าคุ้มมากๆ ทีเดียว แต่ที่ไม่ค่อยแนะนำให้ใครเพราะหาซื้อยากนี่แหละ
- สถานที่ขาย สยามมาร์เก็ตติ้ง ยังไม่เคยเห็นที่อื่นนะ ของหมดบ่อยด้วย
หลังจากผ่านพื้นฐานไปแล้วอยากขยับไปหัดลงกับยี่ห้อไหนรุ่นไหนก็ตามสบายเลยครัช
สีน้ำ : ความเรื่องมากหมายเลข 2
จากภาพประกอบจะเห็นได้ว่ามันยั้วเยี้ยไปหมดจนไม่รู้จะเอายังไงดี ส่วนมากคนที่ลงสีน้ำจนเริ่มรักมันแล้ว (ซึ่งกว่าจะรักมันลงต้องผ่านความเกลียดชังอันยาวนานมากมาย) จะไม่ค่อยหยุดที่ยี่ห้อเดียว จะค่อยๆหมดตังค์ โดนมันสูบมากขึ้นเรื่อยๆ 5555
สีน้ำมี 2 แบบใหญ่ๆ ที่มักจะเห็นกันบ่อยๆ ดังภาพที่เห็นด้านบน
- หลอด (Tube) : สีหลอดทั่วไป เลือกสีได้ตามที่ต้องการ นิสัยแตกต่างกันไปตามยี่ห้อ
- กล่อง (Pan) : มักจะรวมสีที่เขาคัดมาแล้วในแต่ละยี่ห้อ บางยี่ห้อขายกล่องเปล่าให้ไปซื้อแป้นสีข้างในมาใส่เองได้ เหมาะสำหรับขาเอาท์ดอร์ที่ชอบพกไปวาดนอกบ้าน คุณสมบัติส่วนใหญ่ไม่ต่างจากสีหลอด
ยี่ห้อที่หาซื้อได้ง่ายในไทย ราคาพอเอื้อมถึงสำหรับคนเริ่มลง
- Winsor & Newton’s Cotman
- Van Gogh
- Sennelier <<สำหรับคนที่มีทุนทรัพย์ กระเป๋าหนัก และอยากเล่นเกรดอาร์ตติสต์ ตั้งแต่เริ่ม
โทนสีที่แนะนำให้มีสำหรับผู้เริ่มแรกเล่นสีน้ำ
แม่สี : น้ำเงิน แดง เหลือง สีละ1หลอดก็พอ ไม่ต้องมาเป็นโค้ดสีเป๊ะๆ ของโปรแกรม paint
- ให้เลือกน้ำเงินที่ชอบ อาจเป็น indigo หรือ azure หรือnavy ไม่ฟิกซ์ค่ะ
- อย่างสีแดงก็มีให้เลือกหลายแดง อย่างเราชอบแดง carmine / crimson /red
- เหลือง เช่น chrome / lemon yellow
สีคู่ผสมข้ามของแม่สี: ค่อนข้างจำเป็นต้องมี คือผสมเองก็ได้ แต่แน่นอนว่าผสมเองจะขุ่นมัวไม่สดใสเท่าโทนที่เขาผสมมาให้แล้ว สีผสมนี้จะช่วยเรื่องแสงเงาและการตัดอารมณ์ของโทนค่ะ
- เขียว : เกิดจากน้ำเงิน+เหลือง ค่อนข้างจำเป็นในการลงต้นไม้และการเพิ่มโทนเย็นที่กลมกลืนให้กับภาพ
- ส้ม: เกิดจากแดง+เหลือง ทำหน้าที่ให้แสงนวล เป็นกาวเชื่อมสีต่างๆ ได้มากมาย เป็นต้นสีในการลงภาพ portrait การวาดภาพคน
- ม่วง: เกิดจากน้ำเงิน + แดง ทำหน้าที่เป็นเงาที่ดีให้กับภาพ อย่างเราใช้สีม่วงแทนสีดำในภาพไปเลย
สีที่เกิดจากแม่สีทั้งสามผสมกัน : สีน้ำตาล เป็นตัวแทนของสีในธรรมชาติ กาวเชื่อมเงาภาพ เป็นเงาร่วมกับสีม่วงและน้ำเงิน
สรุปแล้วในการซื้อสีครั้งแรก มีแค่ 7 สีนี้ก็พอแล้วค่ะ ส่วนสีดำกับสีขาวไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ค่ะ
ซึ่งในครั้งหน้า เราจะมาพูดเรื่องสีน้ำแบบละเอียดขึ้นนิดหน่อยกันนะคะ
สถานที่ขาย: B2S สาขาที่ใหญ่หน่อย , BeTrend พาราก้อน, สมใจ, สหกรณ์ตามโรงเรียนช่างศิลป์และมหาวิทยาลัยที่มีคณะศิลปะ
ราคาสีน้ำต่อหลอดนั้นค่อนข้างสูง เริ่มที่ 60 บาทเป็นต้นไป ขืนซื้อทีเดียวเยอะๆ อาจต้องโซ้ยมาม่าคลีนแทนข้าวได้
เพราะฉะนั้นโปรดหันมองภาพบน ^
- ถ้ามีเพื่อน ให้ซื้อถาดสีคนละถาด
- ซื้อสีเท่าที่ต้องการ แล้วหารกันจ่าย
- บีบสีละครึ่งหลอดลงในถาดของตัวเอง แบ่งกันคนละครึ่ง
- มีเพื่อนมากก็หารได้มาก
แบบนี้ดีมั้ยล่ะ? ฮิ
ทำบ่อยค่ะ บางทีเราไม่หารด้วยซ้ำ ไปเที่ยวบ้านมันแล้วแอบหยิบมาบีบแม่ม..
ไม่ต้องกังวลว่าสีน้ำเมื่อแห้งแล้วจะใช้ต่อไม่ได้ สีน้ำแค่โดนน้ำก็จะฟื้นคืนชีพแล้ว เพราะฉะนั้นไม่ต้องกลัววว
พู่กัน: คำถามที่มักถูกถามหลายครั้งคือ เริ่มลงสีน้ำควรเริ่มจากพู่กันกี่ด้ามคะ?
คำตอบ: แล้วแต่ค่ะ /โดนดี อิอิ
พู่กันแบบเริ่มต้น ยี่ห้อไหนก็ได้ทั้งนั้น ถ้าเอาให้ดีก็ซื้อเท่าที่มีกำลังทรัพย์จะซื้อได้ ไม่ต้องงกขนาดแท่งละ 5 บาท จำไว้ว่าพู่กันที่ดีไม่ใช่เพียงแค่จะอยู่กับเราไปนานๆ แต่ยังช่วยให้คุณตวัดสี อุ้มน้ำได้ดังใจมากขึ้น พู่กันถูกมากๆ มักไม่ค่อยมีความสามารถในการเก็บขอบหรือสร้างtexture ในแบบที่เราต้องการ
สำหรับเราจะซื้อไว้ 3 ไซส์ค่ะ
- เล็กจิ๋วไว้ลงดีเทล
- กลางไว้ระบายตามพื้นที่ในกรอบ
- ใหญ่ไว้ลงแบคกราวด์และฉาบน้ำในขั้นตอนลงสีพื้น
เบอร์ของพู่กันแต่ละยี่ห้อจะแตกต่างกันไป เช่นพู่กัน #1 ด้ามแดงของ Seikai อาจเป็นเบอร์ 3 ของแบรนด์อื่น
อาจเริ่มต้นที่เบอร์ #3 #5 และ #12 ในการเริ่มหัดวาด จากนั้นเมื่ออยากลงรายละเอียดมากๆ ค่อยซื้อเบอร์ #0 #1 และเบอร์ใหญ่กว่านั้น
พู่กันเริ่มต้นราคาไม่กี่สิบบาท ซึ่งเมื่อใช้ไปสักพักจะเริ่มมีความอยากใช้ของแพงอันละ 5,000 (ซึ่งแบรนด์ดังๆ ก็มีตอบสนองความต้องการของท่าน)
พู่กันราคาถูกไม่ต้องดูแลรักษามาก แค่เช็ดให้แห้งเป็นใช้ได้
ส่วนของแพงจะเริ่มมีวัสดุที่ทำจากขนสัตว์เช่นหางกระรอกที่อุ้มน้ำ ต้องการการดูแลรักษาที่ดี แปรงขน สระผม #… นั่นเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาตามกิเลสของผู้ซื้อในอนาคตค่ะ
สถานที่ขาย: B2S สาขาที่ใหญ่หน่อย, BeTrend พาราก้อน, สมใจ, สหกรณ์ตามโรงเรียนช่างศิลป์และมหาวิทยาลัยที่มีคณะศิลปะ
อื่นๆ
- จานสี: เลือกที่มีฝาปิดกันฝุ่นลง ไม่ต้องล้างตลอดกาล สีที่แห้งกรังคาถาดในวันนี้ สามารถใช้การ์ดชุบชีวิตด้วยน้ำเปล่าได้ในวันหน้า
- กระป๋องใส่น้ำ: นี่ก็มีให้เลือกหลายแบบ ทั้งแบบพับได้ ยืดหดได้ หนึ่งรู สองสามรูด ส่วนเราใช้แก้วน้ำแปรงฟัน #….
- นิตโต้เทป (Nitto) : *มีหรือไม่มีก็ได้* หน้าตาเหมือนสก๊อตเทปขุ่น มองเข้าไปข้างในวงจะมีเขียนว่า Nittotape ด้วยฟอนท์สีน้ำเงิน ใช้ยืดกระดาษให้ติดกับกระดาน
- กระดานขึงกระดาษ: *มีหรือไม่มีก็ได้* ลักษณะเหมือนเขียงบางขนาดใหญ่ มีขายทั่วไปตามร้านเครื่องเขียน ช่วงแรกๆ ก็ไม่ค่อยได้ใช้หรอก หลังๆ ติดขึงกระดาษมากๆ เลยคิดว่าควรจะมีไว้หน่อยละกัน
ของเหล่านี้สามารถหาซื้อได้ตาม B2S ศึกษาภัณท์และร้านเครื่องเขียนใกล้บ้านคุณผู้อ่าน (บางอย่างนี่หยิบจากในส้วมยังได้เลออ)
น่าจะมีครบนะ มีเท่านี้ก็พอแล้วล่ะ
สำหรับผู้เริ่มต้น ไม่ต้องกังวลว่าจะต้องซื้อทุกสี ทุกเฉดทีละมากๆ หรอกนะคะ การเลือกสีน้ำเริ่มต้นก็คล้ายๆ กับการเก็บโคปิก เดี๋ยวมันก็เพิ่มมาเรื่อยๆ เองถ้าความชอบนั้นถึงพอ (พร้อมกับเงินในกระเป๋าที่ค่อยๆ ละลายกลายเป็นน้ำ)
และอย่าลืมว่า “Artists don’t need so many shades, They create their own.”
ศิลปินไม่ต้องการเฉดสีที่มากมายนักหรอก พวกเขาสร้างมันขึ้นมาเองค่ะ ♥
แล้วเจอกันใหม่คราวหน้า เลิฟยอล