สวัสดีค่ะ เคียเองค่ะ ไม่ได้เจอกันตั้งนานคิดถึงกันมั้ยคะ? (แว่วเสียงว่า ไม่ ) โพสต์นี้ของคอลัมน์ How to draw มีความเชื่อมโยงกับโพสต์ที่แล้ว อยู่บ้าง ซึ่งในโพสต์ที่แล้วนั้น เราสอนการใช้ Hard Light หรือ เงาแบบตัด ซึ่งจะให้ความรู้สึกว่ามีแสงที่ส่อง Contrast กับเงาอย่างรุนแรง เหมือนเวลาเราส่องไฟใส่วัตถุโดยตรง หรือได้รับแสงจากไฟและแสงอาทิตย์เต็มที่จนเกิดเงานั่นเอง
ส่วนในวันนี้ จะพูดถึงแสงเงาที่ให้ความรู้สึก “เบา” และ “เรืองแสง” กว่า
Glowing Light
แสงไฟในที่มืด
ไฟในพื้นที่ที่ค่อนข้างสลัว ไม่สว่างมาก บรรยากาศโดยรอบเป็นความมืด/เวลากลางคืน
ให้นึกถึงตามตลาดเปิดท้าย (พูดซะเสียราคา) หรือเปลวไฟ เปลวเทียน โคมลอย แสงจันทร์จางๆ
จากภาพจะเห็นความแตกต่างได้ง่ายกว่าอธิบายเปล่าๆ
- การลงสีภาพในแบบ Hard Light มักจะใช้เทคนิค Wet on dry หรือการฉาบสีที่เข้มกว่า ทับสีพื้นที่แห้งแล้วเพื่อให้เกิด contrast ของเงา
- ส่วนแบบ Glowing light ต้องใช้น้ำเป็นตัวช่วยในการ Blend สีให้เชื่อมต่อกัน
มาลงกันเลยดีกว่า
ภาพตัวอย่างวันนี้ ถ่ายเองด้วยอินสตาแกรมเมื่อหลายปีที่แล้ว (สมัยยังจูนิเบียว เล่นปลูกผลึกคริสตัลจีนแดงในขวดแก้ว) ละปลูกขึ้นด้วยนะ ดูเวทมนตร์อะเมซิ่งมากๆ สมแล้วที่เรียนจบจากฮอกวอตส์ (…)
ในภาพนี้แสงมาจากดวงไฟ LED จิ๋วๆ ที่ติดอยู่บนฝา สองลงมาตรงกลาง ทำให้พุ่มคริสตัลตรงกลางๆ ดูเรืองแสงขาวๆ ไปเลย
เพราะฉะนั้น เราจะเพ้นท์ให้เหมือนว่าแสงออกมาจากแกนกลางให้มากที่สุด จะได้ดูแฟนตาซีขึ้นไปอีกไงล่ะ !
อุปกรณ์วันนี้
- จานสี Shinhan Art
- สีน้ำ Shinhan Art กับ Daniel Smith
- พู่กัน Escoda เบอร์ 2 ,10,18 เบอร์ใหญ่ไว้ลงน้ำเยอะๆ เบอร์เล็กไว้เก็บดีเทล
- ดินสอ ยางลบ
- กระดาษ Khadi แบบหยาบ (แบบหยาบจะเหมาะกับการลงน้ำเยอะๆ เบลนด์สีเยอะๆ แห้งช้า แก้งานได้โอเค)
- ปากกาแต้มขาว (เรียกกันติดปากว่าปากกา milky) จะใช้เป็นสีโปสเตอร์หรือสีน้ำสีขาวก็ได้
ขั้นแรกก็ร่างภาพด้วยดินสอ เคลียร์เส้นให้รกน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
สีของแสงในภาพหลักๆ จะมีอยู่ 3 โทน คือชมพู ม่วง และฟ้า …ลองพยายามเลือกโทนออกมาก่อนจะลง จะทำให้คุมโทนง่ายขึ้น
ส่วนสีของเงาคือน้ำเงินเข้มจนเกือบดำ ลองผสมดู (หลีกเลี่ยงการใช้สีดำล้วน ภาพจะไม่มีชีวิตชีวา)
ขึงกระดาษด้วยเทปแบบลอกออกได้ (ไม่มีนิตโต้เทป ใช้วาชิเทปมันซะเลยแล้วกัน /ร้องไห้) กระดาษจะได้ไม่ปูดเวลาลงสี
ฉาบน้ำด้วยพู่กันเบอร์ใหญ่ให้ทั่วทั้งภาพ
หยดๆ ให้เลอะๆ ไปก่อนเลยค่ะ ไม่ต้องไปแคร์มาก เอาให้ไม่หลุดจากตำแหน่งหลักๆ ก็พอแล้ว
อ้อ รอให้สีนึงกระจายให้ทั่วก่อนค่อยหยดอีกสีนะคะ เดี๋ยวมันไหลไปรวมกันจะกลายเป็นม่วงทั้งภาพเอา
ต่อไปก็ใจกล้าๆ หน่อย ถมความมืดลงไป ตู้มมม
อย่าเพิ่งถมจนชิดล่ะ
ใช้พู่กันที่อุ้มน้ำดีๆ จุ่มน้ำมาหยด เกลี่ยตรงขอบ
ก่อนมันจะแห้ง ระวังไม่ให้สีเข้มฟุ้งเข้ามาในพื้นที่ของแสงมากเกินไป
ทำแบบนี้กับทั้งสองข้างแล้วก็จะได้แบบนี้
ต่อไปเป็นการลงสีคริสตัลในขวด ตรงนี้ไม่รู้จะสอนจะแนะนำยังไงดี มันแล้วแต่ว่าใครจะชอบเก็บตรงไหนก่อน
จำไว้แค่ point ที่ช่วยในการคุมโทนแล้วกัน
- ลงให้เห็นระยะใกล้ – ไกล ด้วยการเน้นรายละเอียดเฉพาะอันที่อยู่ข้างหน้า …อันไหนอยู่หลังให้มันมีแต่สีพื้นไป
- ใช้สีแค่ 3-4 สีที่เราเลือกไว้ในการคุมโทน จะได้ไม่เลอะเทอะ
- เน้นพื้นที่ของแสง ด้วยการ “ไม่ลงสี” ส่วนที่ต้องการเน้น (งงในงงไปอีก) ดูในภาพค่ะ ส่วนขาวๆ ตรงกลางเหมือนมันเรืองแสงออกมา
ไม่เก็ท?
ฝึกลงสีที่เป็นแสงเงาบ่อยๆ ก็จะเก็ทเองค่ะ ฮื้อ /ยอมแพ้ในการอธิบาย 5555555
พอลงสีคริสตัลเสร็จแล้วก็ใช้สี 3-4 สีนั่นแหละ วาดขอบขวดขึ้นมา
เก็บรายละเอียดในภาพที่เหลือ สีของมือเราลงทับด้วยสีส้มผสมสีม่วง ตรงที่เป็นเงาก็เอาสีน้ำเงินมืดๆ ลงไปเลย
คิดว่ายังไม่โอเค? อยากเพิ่มตรงไหน ค่อยๆ เก็บรายละเอียดไปเรื่อยๆ จนกว่าจะพอใจ
แล้วเราก็มาถึงขั้นตอนสุดท้าย !
ทำให้ภาพดูวิบวับประดับดาวฟรุ้งฟริ้งแฟนตาซีด้วยการจุดขาว
ไอ้จุดขาวนี่ไม่จำเป็นหรอก บางคนเขาก็ไม่ชอบนะ เลือกใช้ในบางรูปเท่านั้นดีกว่า ไม่งั้นบรรยากาศของทุกรูปจะดูเหมือนๆ กันไปหมด
ส่วนรูปนี้ จุดค่ะ นุ้งเคียต้องการความแฟนตาซี
เสร็จโล้วววว
งานที่ลงด้วยโทน Glowing Light สามารถนำไปประยุกต์วาดภาพมืดๆ ที่ต้องการคุมบรรยากาศให้ภาพดูมีเรื่องราว มีความแฟนตาซี มีบรรยากาศที่ convince ให้เชื่อว่าเราอยู่ในภาพนั้นจริง ไม่มีอะไรลอยออกมาเกินไป เพราะทิศทางของแสง make sense ค่ะ
อย่างเช่นรูปนี้ ให้คุณผู้อ่านลองสังเกตดู แสงที่ตกกระทบบนเงาผมของตัวละคร และ แสงสีเหลืองบนเสื้อผ้า เป็นตัวบ่งบอกว่าตัวละครนี้อยู่ร่วมในฉากนี้ ได้รับแสงจากไฟด้านหลัง และมีส่วนที่เป็นเงาเข้มกว่าที่ด้านหน้าค่ะ
ลองนำไปปรับใช้กันได้ และขอให้สนุกนะคะ เลิฟยอลค่ะ
-kia 2017