สวัสดีครับ,
ไม่อารัมภบทอะไรให้ยืดยาว เข้าเรื่องกันเลยละกัน
เมื่ออดีตกาลนานมาก่อน ผมเคยเขียนเรื่องของ One-Point Perspective ไว้เป็น ตอนที่ 2 ของคอลัมน์ How to sketch
ซึ่งคุณผู้อ่านคงคิดว่า วันนี้มันคงจะมาเขียนเรื่องตีฟ 2 จุดซะทีสินะ…
เปล่าครับ
/หลบตีนทั่นผู้อ่าน
แต่วันนี้ผมจะมาเสริมเรื่องของ Perspective
ด้วยคำสามคำที่คุณๆ ควรรู้จักครับ
เริ่ม!
1. Diminishing – การน้อยลงไป(เล็กลง)
ลองนึกถึงเวลาเรามองออกไปที่ถนน แล้วเห็นเสาไฟที่เรียงรายไกลออกไปนั้นค่อยๆ เล็กลงไปเรื่อยๆ จนสุดสายตา
นั่นแหละฮะคือ concept ของ diminishing หรือการค่อยๆ เล็กลงไปในระยะทาง
จำไว้อย่างนึงว่า อะไรที่อยู่ใกล้ตาเราจะมีขนาดใหญ่ และอะไรที่อยู่ไกลตาเราออกไปจะค่อยๆ เล็กลงไปเรื่อยๆ
อาจจะยังนึกภาพกันไม่ออก มาดูตัวอย่างกันดีกว่า
*สังเกตหน้าต่างและประตูทางซ้ายมือจะมีขนาดใหญ่เพราะอยู่ใกล้เรามากกว่าหน้าต่าง/ประตูอื่นๆ ที่ค่อยๆ ไกลออกไป
2. Converging – การพุ่งเข้าหากัน(รวม-บรรจบกัน)
เส้นที่ขนานกัน – ไม่ว่าจะเป็นแนวพื้นอิฐบล็อคทีเราเห็นบนทางเดิน, แนวผนังไม้, ฯลฯ จะพุ่งไปบรรจบกันที่จุดๆ นึง เราเรียกจุดนั้นว่า “จุดอันตรธาน” หรือ “Vanishing Point” หรือ “V.P.”
ทีนี้มาดูตัวอย่างของสิ่งที่เรียกว่า Converging กัน
*ตัวอย่างง่ายๆ อย่างร้านกาแฟ ซึ่งมีลักษณะเป็นตีฟจุดเดียว (จุด V.P. 1จุด) เราจะเห็นว่าแนวคาน, ตู้, โต๊ะ กระทั่งท่อไฟบนฝ้าเพดาน ที่วางตัวขนานกันในความเป็นจริง
เส้นจะเอียงเข้าหากันที่จุดๆ หนึ่งตรงกลาง
*แนวเส้นที่ขนานกันของขอบบน-ขอบล่างอาคาร หรือขอบบน-ล่างของหน้าต่าง(ดูจากรูปตราปั๊มด้านล่างซ้ายได้ ว่าอะไรที่ขนานกันบ้าง) จะเอียงเข้าหากันที่จุดๆ หนึ่ง-ในที่นี้ภาพมีลักษณะเป็นตีฟ 2 จุด ซึ่งตำแหน่งของจุด V.P อยู่นอกกรอบของภาพ
ขอเสริมอีกอย่างนึงที่ควรจะรู้จักกัน นั่นก็คือ Horizon Line
นึกถึงเวลาเรามองไกลออกไปที่ทะเล เส้นนอนยาวที่ท้องฟ้ากับทะเลมาเจอกันนั่นแหละฮะ คือ Horizon Line
และเส้นนี้ มันจะตรงกับระดับสายตาเราเสมอ(มองตรง) ไม่ว่าเราจะนั่งหรือยืนมอง!!
ฉะนั้น แม้ว่าเมื่อเรากำลังวาดรูปในเมืองที่มีตึกรามบ้านช่องซับซ้อน จนทำให้เราไม่เห็นเส้นที่ท้องฟ้าและพื้นดิน(ทะเล) มาบรรจบกันได้
เราก็สามารถกำหนดเส้นนี้ขึ้นมาได้ เพียงแค่มองตรงออกไป
Horizon Line = เส้นระดับสายตา (Eye-Level Line)
*ในมุมมอง Normal eye view เส้นระดับสายตาสามารถเป็นตัวกำหนดตำแหน่งของหัวคนได้ ไม่ว่าจะอยู่ไกลแค่ไหน ระดับหัวของคนจะอยู่ประมาณแนวเส้นนี้เสมอ
.
หลายคนคงเริ่มสงสัย แล้วเราจะรู้จักมักจี่ไอเส้นๆ นี้ไปทำไม?
สำหรับผม ทุกวันนี้เวลาที่ออกไปวาดรูปนอกสถานที่ ก็แทบไม่ได้หาหรือร่างเส้นระดับสายตาแล้ว
แต่มันจะมีประโยชน์ ในการอธิบายว่าเส้นที่เราเขียนเนี่ย มันต้องเอียงขึ้น หรือเอียงลง, เอียงมาก หรือ เอียงน้อย, เขียนผิดตีฟรึเปล่า?
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนที่เพิ่งฝึกการเขียนภาพอาคารครับ
คำว่า “ผิดตีฟ” มันก็มาจากการเขียนเส้นผิดจากหลักมุมมองนั้นๆ น่ะแหละ
*ตัวอย่างการเขียนวัตถุที่ดู “ผิดตีฟ” คือหลังคากันสาดของหน้าต่างและของอาคารเอียงไปผิดทาง
.
.
3. Foreshortening – การสั้นลง, หดตัวลงในระยะทางหรือพื้นหลัง (หาคำแปลที่เหมาะๆ กว่านี้ไม่ได้อ่ะ -_-“)
หลายๆ คนคงเคยมีปัญหาเวลาเขียนเส้นลายพื้นฟุตบาทหรือพื้นไม้ ว่าทำไมเราเขียนออกมาแล้วมันดูแปลกๆ แต่ก็ไม่รู้จะแก้ตรงไหน
วันนี้เรามีคำตอบมาให้คุณ 😀
มาดูแผนภาพนีกันก่อนครับ
*จากรูปด้านบน จะเห็นว่าวงกลมที่ยิ่งสูง หรือยิ่งต่ำจากระดับสายตาเรา เราจะเห็นพื้นผิวของวงกลมนั้นๆ ได้มาก
กลับกัน ยิ่งวงกลมใกล้กับเส้นระดับสายตาเรา มันจะยิ่งออกลักษณะของความแบน จนเราแทบไม่เห็นพื้นผิวของมันเลย
เช่นกัน เวลาที่เราจะเขียนลายพื้นที่ไกลเข้าไป เพื่อให้ดูมีมิติสมจริง เราต้องเว้นช่องว่างระหว่างเส้น
ยิ่งไกลออกไป(ใกล้ระดับสายตา) ระยะห่างของเส้นจะน้อย
ยิ่งใกล้ตัวเรา(ไกลจากระดับสายตา) ระยะห่างของเส้นจะมาก
แน่นอนว่าหลักการ Foreshortening ไม่ได้มีไว้เพื่อช่วยเราเขียนเส้นสายบนพื้นให้ถูกต้องเท่านั้น มันยังใช้ได้กับเวลาเราเขียนอาคาร โดยเฉพาะอาคารสูงๆ หรือกระทั่งทัศนียภาพภายในของอาคารครับ
นอกจากนั้น เมื่อเราลองพลิกแผนภาพนี้ไปอีกทาง ก็จะสามารถอธิบายการเขียนด้านที่ไม่เท่ากันของผนังอาคารได้ด้วย
ดังนี้
คล้ายๆ กันแผนภาพก่อนหน้านี้ ที่ยิ่งใกล้กับเส้นระดับสายตา ระนาบหรือเส้นนั้นๆ จะยิ่งแบน และกว้างมากขึ้น เมื่อไกลออกจากระดับสายตา
แต่สำหรับรูปนี้คือ ยิ่งไกลออกจาก Vanishing Point ไปทางซ้ายหรือขวามากเท่าไหร่ เส้นหรือระนาบนั้นก็จะยิ่งมีความเอียงมากขึ้น, เห็นพื้นผิวมันได้มากขึ้น
โดยเส้นหรือระนาบที่ตรงกับจุด Vanishing Point นั้นก็จะตรงไปเลย!
ในกรณีเดิม นั่นทำให้เราต้องเขียนเส้นลายพื้นเอียงต่างองศากัน(เส้นสีน้ำเงิน) โดยมีลักษณะพุ่งเข้าหาจุดๆ หนึ่ง
ลองดูกรณีต่อมา
*จะเห็นว่าระนาบผนังด้านซ้ายที่ระบายสีส้มไว้ อยู่ใกล้กับ V.P. มาก ทำให้เราแทบไม่เห็นพื้นผิวของมัน แต่ตัวอาคารทางด้านขวาอยู่ไกลจาก V.P.ออกมา เราจึงเห็นแผ่นผนังนี้ค่อนข้างเยอะ
.
.
เอาาล่ะะะะะ เมื่อคุณๆ ได้รู้จักกับคำสำคัญทั้งสามของเรื่อง Perspective แล้ว
วันนี้เราจะไม่จากลากันไปแบบเงียบๆ ธรรมดาๆ
เราจะมี “การบ้าน” ให้ท่านผู้อ่านที่น่ารักของเราครับ 5555555 /หัวร่ออย่างสาใจ
อย่าเพิ่งตกใจกันไป มันไม่ได้ยากอย่างที่คิสฮะ
เป็นการบ้านง่ายๆ เพียงแค่เราจะให้ภาพคุณ แล้วให้คุณตอบว่าภาพนี้มีการใช้หลักทาง Perspective ที่ได้เรียนมาในคอลัมน์นี้ ข้อใดบ้างและใช้ตรงส่วนไหน เช่นนน
ตัวอย่าง
ภาพนี้เป็นภาพตรอกเล็กๆ บริเวณคลองหลอด
Diminishing : หน้าต่างที่ค่อยๆ เล็กลงเข้าไปในซอย (หน้าต่างที่ใกล้ตัวเราจะใหญ่, ไกลเราออกไปจะเล็กลง)
Converging : เส้นขอบล่างของอาคารทางขวาและกันสาดเอียงเข้าหากัน
Foreshortening : เราจะเห็นมิติด้านล่างของกันสาดชั้นล่างน้อยกว่าของกันสาดชั้นบน// ผนังด้านซ้ายจะแบนมากเพราะใกล้จุด V.P. มากกว่าผนังด้านขวา
อย่างนี้เป็นต้นนะจ๊ะะะะ
จะส่งคำตอบมาในช่องคอมเม้นด้านล่าง หรือตอบในใจตัวเองเงียบๆ ก็ได้ แล้วแต่สะดวกเลย
เริ่ม!
01 สถานีรถไฟหัวลำโพง
02 บ้านพักตำรวจ, ชุมชนมัสยิดฮารูณ
03 ตรอกเล็กๆในซอยพญานาค
04 BTS อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
.
.
สุดท้ายนี้
คำทั้งสามที่เอามาฝากในวันนี้ เป็นหลักง่ายๆ ที่จะช่วยให้คุณเขียนภาพ perspective ได้แม่นยำขึ้น, มีข้อสังเกตที่จะเช็คเส้นที่ตัวเองเขียนได้
แต่ก็อย่าลืมว่า การเขียนรูปเพื่อความสนุกสนานนั้น หลักการไม่ใช่ทุกอย่าง บางครั้งการที่เราปล่อยให้เส้น loose ขึ้น-สนุกขึ้น โดยไม่สนใจหลักการทาง perspective นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าคุณค่าทางจิตใจของภาพนั้นจะลดลงเลย
ส่วนท่านใดที่ยังเขียนไม่ได้ก็อย่าเพิ่งหมดกำลังใจไปซะก่อนนะ
Perspective เป็นเรื่องยากครับ-ไม่ใช่ทุกคนจะอ่านทฤษฎีแล้วทำได้เลยในทันที การมีพื้นฐานทางด้านสถาปัตย์อาจทำให้เข้าใจเรื่องนี้ได้โดยไม่ยากเย็นนัก แต่การหมั่นฝึกเขียนจากของจริง, สถานที่จริง ทำให้ฝีมือพัฒนาไปได้ไกลและเร็วมากๆ และอีกอย่าง นอกเหนือจากเรื่องเส้นสาย ยังมีการลงสีที่ช่วยให้ภาพของคุณสนุกและสวยงามตามแบบฉบับของคุณเอง
(ผู้อ่าน : ฉันก็ไม่ได้ทั้งเส้นและสีน่ะแหละ!)
สำหรับวันนี้ก็พอแค่นี้ก่อน
ครั้งหน้าจะเป็นเรื่องอะไร ไว้ติดตามกันนะครับ
/ลาก่อยครับ
อ้างอิง :
หนังสือ The Urban Sketching Handbook: Understanding Perspective : Easy Techniques for Mastering Perspective Drawing on Location โดย Stephanie Bower