เคยมั้ย? เมื่อการเป็นมือใหม่เริ่มวาดรูป ยังมีแค่สีน้ำแม่สี 3 หลอด จะทำยังไงถ้าอยากวาดรูปที่ต้องใช้สีมากกว่านั้น ทำไงดี ทำไงดี๊…
ท่านไม่ต้องกังวลไป วันนี้นิวส์อาริมีบทความมานำเสนอ
และนี่ก็คือ … บทความที่ว่าด้วยเรื่องของความมหัศจรรย์แห่งแม่สีทั้งสาม อันได้แก่ สีเหลือง สีแดง และสีน้ำเงิน มาใช้ในการสร้างสรรค์ภาพวาดอาหารสุดน่ารักน่ากิน ด้วยวิธีอันสุดแสนง่ายดาย ดาย ดาย…
โอ๊ยยย อันที่จริงก็ทำเว่อร์เกินไป๊ มันก็คือการใช้พื้นฐานผสมสี ที่เราทุกคนเคยร่ำเรียนมาตั้งแต่เด็ก นั่นแหละค่ะ /ตัดบทตัวเองก่อนที่จะเลอะเทอะไปกว่านี้ 5555
…มาเริ่มกันเลยดีกว่า เวลาไม่คอยท่า อย่าช้าที…
อุปกรณ์ !!
บทความตอนนี้เรามาในธีมมือใหม่ผู้งบน้อย ขาดแคลนสี น่าสงสาร ดังนั้นเราจะใช้ของให้น้อยยยที่สุด ทำตัวอู้ฟู่ให้น้อยยที่สุดไปเลยละกันนะทุกคน
เริ่มกันที่พระเอกทั้งสามในวันนี้ ได้แก่สีน้ำยี่ห้อ Shinhan (ที่ได้มาฟรีจากพี่ปอนด์ ตอนประกวดวาดภาพบ้านหมา จนเป็นฉายาจากพี่ปอนด์ว่า น้องนิวบ้านหมา กร๊ากก)
เราจะใช้เพียงแค่ 3 สีเท่านั้น คือ เหลือง แดง น้ำเงิน
ส่วนอุปกรณ์อื่น ก็ตามนี้เลยค่ะ ของเดิมที่มี และเคยแนะนำไว้ในบทความแรกเลย
- Sketchbook ยี่ห้อตามที่มีและถนัดค่ะ เราใช้ของ POTENTATE 300 gsm
- ดินสอกด แนะนำว่าไส้ควรเป็นเบอร์ไม่เข้มมาก เราใช้เบอร์ HB ค่ะ
- ปากกา PIGMA (waterproof) เบอร์ 01 สี SEPIA
- พู่กัน RUBENS เบอร์ 3
- ยางลบ
และสำหรับนางแบบของเราในวันนี้
ขอเสียงปรบมือต้อนรับ…คุณข้าวหน้าปลาดิบรวม รวม รวม… แปะ ๆ ๆ
อย่ารอช้าค่ะ มาสู่ขั้นตอนการร่างภาพกันเล้ยยย
โดยการร่างภาพก็อย่างที่เคยเวิ่นเว้อในบทความแรกค่ะ (ลิงค์นี้นะคะ : https://www.bbblogr.com/how-to-sketch-journal-1/)
เริ่มจากภาพรวมก่อน แล้วค่อยเจาะวาดส่วนรายละเอียดที่เล็กลงเรื่อย ๆ
อย่างงานนี้ เราก็วาดถ้วยข้าว และถ้วยเครื่องเคียงต่าง ๆ ก่อน โดยจัดวางให้เหมาะสมกับหน้ากระดาษ
ต่อมาก็วาดปลาดิบชิ้นที่ 1, 2, 3, 4 และวาซาบิ ไชเท้าดอง ยำสาหร่าย ปูอัด ไข่หวาน โดยแบ่งสัดส่วนขนาดให้ใกล้เคียงกับที่เรามองเห็นค่ะ
โอยย วาดไปก็ท้องร้องไปนะเนี่ย…
แล้วเราก็ได้ภาพร่างที่พร้อมจะตัดเส้น และลงสีกันแล้ว เย่ ๆ
ต่อมาเราก็ตัดเส้นด้วยปากกา PIGMA (waterproof) สีน้ำตาล Sepia ค่ะ
เมื่อตัดเส้นเก็บรายละเอียดต่าง ๆ เรียบร้อยแล้ว ก็ลบเส้นดินสอออกค่ะ (ขั้นตอนนี้ต้องแน่ใจก่อนนะคะ ว่าหมึกที่ลงแห้งแล้ว ถ้าใจร้อนรีบลบ ไม่งั้นหมึกจะเลอะเป็นรอยหมดนะจ๊ะ)
น้ำพร้อม อุปกรณ์พร้อม!
(ดู๊ดู ขนาดภาชนะใส่น้ำยังคงความประหยัด ใช้ก้นขวดที่ใช้แล้วมาตัดซะงั้น ตอนตัดขวดก็ระวังมือกันด้วยนะจ๊ะ)
ว่าด้วยเรื่องการผสมสีและละเลงสี
อย่างแรกที่จะเริ่มเลย สำหรับเรา จะเริ่มลงส่วนที่มีสีอ่อน หรือสีสะอาดก่อน เพื่อที่ว่าจะได้ไม่ต้องล้างพู่กันมากนัก และจะได้ไม่ต้องเปลี่ยนน้ำล้างบ่อย ๆ (น่ะ ใช้ความขี้เกียจเป็นตัวตั้งนั่นเอง 555)
เริ่มกันที่สีส้มของเนื้อปลาแซลมอน ใช้สีเหลือง ผสมกับสีแดงในปริมาณที่พอเหมาะ (ที่ว่าพอเหมาะ ก็วัดจากการให้ใกล้เคียงกับสีของจริงมากสุดค่ะ ถ้าเป็นสีส้มอ่อนก็ใส่เหลืองมากหน่อย ถ้าส้มเข้มสีก่ำ ๆ ก็ใส่แดงมากหน่อย)
อย่าลืมเว้นขาว ในส่วนที่เป็น Highlight นะคะ เพื่อความแวววาวของชิ้นปลา
ต่อมาก็เป็นปลาชิ้นที่ 2 ที่มีสีชมพูอ่อน เราใช้สีแดงนิดเดียว เจือน้ำให้สีจาง
เวลาลงสี เริ่มโดยการลงน้ำเปล่าก่อนชั้นแรก และในขณะที่กระดาษยังเปียก ให้นำสีแดงอ่อนมาแต้มลงไป วิธีนี้จะทำให้สีไล่น้ำหนักได้อย่างนุ่มนวลค่ะ
แล้วก็มาถึงปลาชิ้นที่ 3 ที่มีสีแดงเข้ม ก็ใช้วิธีการเดียวกับชิ้นเมื่อกี้ แต่ให้เพิ่มเนื้อสีแดงให้มากขึ้นกว่าเดิม ก็จะได้ชิ้นปลาสีแดงสดเข้มขึ้นมานั่นเอง
และเพื่อเพิ่มมิติให้กับปลาอันแสนน่ากิน เราจะเพิ่มน้ำหนักเงาลงไปโดยการแตะสีน้ำเงินเพียงนิ๊ดดดเดียว ผสมกับสีแดง ให้เป็นสีแดงอมม่วง ๆ แล้วแต้มลงไปตรงช่วงเงาของชิ้นปลาค่ะ
แล้วก็มาถึงปลาชิ้นสุดท้ายในชาม ส่วนของเนื้อปลา ก็ใช้สีส้มเดิมที่เคยผสมไว้ แตะสีน้ำเงินนิ๊ดดดดหน่อย เจือน้ำให้จาง ๆ เราก็จะได้สีน้ำตาลอ่อน ๆ นวล ๆ สำหรับลงเนื้อปลาซาบะดองแล้ว
และส่วนหนังปลา ใช้สีน้ำเงิน ผสมน้ำจาง ๆ แล้วแต้มลงไป ที่สำคัญอย่าลืมเว้นขาวในส่วนที่หนังปลาสะท้อนแสงสุดแวววาว
ต่อมาเป็นคิวของก้อนวาซาบิ และไช้เท้าดอง ซึ่งมีสีเขียวอ่อนทั้งคู่ เริ่มจากการผสมสีเหลืองกับสีน้ำเงิน ให้ได้สีเขียวกลาง
สำหรับวาซาบิ ก็ลงน้ำก่อนชั้นแรก แล้วตามด้วยสีเขียวกลางที่เราผสมไว้ ค่อย ๆ แต้มสีเพียงเล็กน้อยนะจ๊ะ ไม่งั้นจะเข้มเกินไป แล้วจะดูไม่เป็นวาซาบินะ
ส่วนไช้เท้าดอง ที่มีสีเขียวอมเหลือง เราก็ผสมเพิ่มสีเหลืองให้มากขึ้น แล้วก็นำมาแต้มไล่เฉดสีโดยใช้น้ำช่วยเหมือนเดิมจ้า
ตามมาติด ๆ ด้วยยำสาหร่าย สีเขียวเข้ม ให้ใช้สีเขียวกลาง เจือสีน้ำเงินเพิ่มขึ้นอีกนิด แล้วแต้มเป็นเส้น ๆ ได้เล้ยยย (โดยสาหร่ายที่มีสีแดงแทรกมา ก็แต้มสีแดงสลับกันไปเนอะ) ลงสาหร่ายเสร็จปุ๊บ ก็ตามเก็บ ปูอัด และไข่หวาน ซึ่งใช้สีส้มเดิมที่ผสมไว้ และสีเหลืองอ่อนตามลำดับค่ะ
และแล้วก็มาถึงบริเวณที่มีสีเข้มที่สุด นั่นคือถ้วยข้าวสีออกเทา ๆ ดำๆ เจือน้ำตาล
เราก็ทำการผสมแม่สีทั้งสามเข้าด้วยกัน ด้วยสัดส่วนที่เท่า ๆ กัน กะเอาจากสีที่ต้องการ (ขั้นตอนนี้สำหรับผู้ที่เพิ่งฝึก ก็ลองแต้มสีในเศษกระดาษดูก่อนนะ เพื่อให้ได้สีที่ใกล้เคียงกับที่เราต้องการ)
สีเข้มอย่างสีดำเนี่ย เวลาลงเราต้องใจเย็น ๆ นะคะทุกคน เริ่มทีละนิด จากสีที่เจือน้ำจาง ๆ ถ้าต้องการความเข้มมากขึ้น ก็ค่อยเติมเนื้อสีลงทีละน้อย
ส่วนของประกอบอื่น ๆ ก็ใช้สีและวิธีการเดิมในการระบายจ้า
.
.
แล้วก็เป็นอันเสร็จ … เย่ ๆ
แล้วก็อย่าลืมใส่ข้อความเล็ก ๆ น้อย ๆ เพิ่มความน่ารัก เก๋ไก๋ ลงไปนะจ๊ะ
สุดท้าย…ท้ายสุด เราอยากชวนผู้อ่านมาวาดรูปบันทึกอาหารที่ชื่นชอบไปด้วยกันนะคะ
อ้ะ ๆ แต่ขอบอกว่าบทนี้อยากให้ลองวาดโดยใช้สีน้ำแค่ 3 สีดูนะ แล้วเราจะรู้ว่าธรรมชาติของสีนี่มันมหัศจรรย์จริง ๆ เลยเชียว…
ขอบคุณที่ติดตามอ่านนะคะ ไว้พบกันในบทความหน้าค่ะ