เรียนย้อมผ้า Katazome แบบญี่ปุ่น ที่ The Cave Workshop Studio

in ดาวเหนือ by kia on 03 Feb 2018

สวัสดีค่ะ มิตรรักแฟน BBBlogr ทุกท่าน หวังว่าจะยังจำกันได้จากฮาวทูลงสีน้ำต่างๆ ที่เคยเขียนมา จากโพสท์สุดท้ายน่าจะนับได้เป็นหลักปีแล้วที่ไม่ได้เขียน เนื่องจากช่วงปีที่แล้วไม่ค่อยได้ลงสีเลยค่ะ มีเปิดเวิร์คชอปสอนสีน้ำส่วนตัวนิดหน่อย แต่เรื่องเทคนิคใหม่ๆ จะมาสอนนี่ยังคิดไม่ออกจริงๆ

เพราะฉะนั้นเชิญพบกับสิ่งที่น่าสนใจอื่นก่อน เป็นต้นว่า …

เคียไปเรียนย้อมผ้ามาล่ะ!

แหม่ ย้อมผ้าเองเหรอ พูดซะดูใหญ่โต

โธ่คุณ นี่ไม่ใช่ย้อมผ้าธรรมดา และจะว่าไม่เกี่ยวกันกับที่เคยเขียนมาก่อนนี้เลยก็ไม่ใช่ ต้องเท้าความก่อนว่าเทคนิคย้อมผ้าที่ไปเรียนเนี่ย เรียกว่าคาตาโซเมะ :  KATAZOME

แล้ว Katazome คืออะไร?

โดยความหมายแล้วมาจากตัวอักษร “พิมพ์” ( 型)  กับคำว่า “ย้อม” (染める) ของภาษาญี่ปุ่น หรือก็คือการใช้เทคนิคสิ่งพิมพ์โบราณที่ใช้กาวกั้นสี และการลงสีบนเนื้อผ้านั่นเอง กรรมวิธีย้อมแบบนี้ถือว่าหาได้ยาก เนื่องจากเป็นงานมือ ไม่ค่อยมีใครทำกันแล้ว

(ในภาพ :  ผลงานแบรนด์ Kataz โดยคุณพ่อของอาจารย์ผู้สอน)

สถานที่สอน The Cave Workshop Studio อยู่ใกล้โรงเรียนราชวัตร ถนนนครไชยศรี ใกล้กับรถไฟฟ้าอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ต่อรถแท็กซี่ออกมาหน่อย แถวที่เรียนมีร้านอาหารอร่อยเพียบ นี่ไปจัดมาแล้ว ข้าวผัดโบราณร้านข้าวมันไก่เชลล์ชวนชิม ฮ่าๆๆ

เริ่มมา อาจารย์ก็จะอธิบายอุปกรณ์ที่ใช้ย้อม

เริ่มด้วยกระดาษปรินท์ลายผักผลไม้ธรรมดา พร้อมคัตเตอร์ แผ่นรองตัด และกระดาษสีน้ำตาลอีกแผ่น

อ๊ะๆ ไม่ใช่กระดาษธรรมดา สิ่งนี้เขาเรียกว่า Katagami (คาตะ = แบบ/ งามิ= กระดาษ)

เป็นกระดาษที่หมักกับน้ำเปลือกลูกโอ๊ก คุณสมบัติกันน้ำได้ ยิ่งหนาก็ยิ่งแพง เราก็เอาแบบที่ปรินท์มาเนี่ยแปะลงไปบนคาตางามิ แล้วใช้คัตเตอร์กรีดสีขาวออกให้หมด

 

ต่อไปก็เอาสาร Vanish ดำ ทาทับลงบนพิมพ์และมุ้งลวดชนิดบาง เพื่อยึดให้แบบแข็งแรง

เอาไปตากแดดก็ได้พิมพ์สำหรับย้อมลายแล้ว!

 

หัวใจของ Katazome ที่แท้จริงอยู่ที่กาวกั้นสี

ถ้าให้เทียบกับงานสีน้ำ สิ่งนี้ก็เรียกได้ว่าเป็น Masking Fluid ที่เราใช้คลุมพื้นที่เพื่อให้งานเนี้ยบไงล่ะ ถ้าท่านผู้อ่านจำได้ เคียเคยเขียนโพสท์สอนลงสีหิมะด้วย Masking Fluid ในบีบีด้วย เอ้า จำไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เราก็จำไม่ค่อยได้เหมือนกัน ใครอยากอ่าน เชิญที่ลิ้งค์นี้จ้า : How to Draw #6 : สนุกกับการเว้นขาวด้วย Masking Fluid

 

กาวกั้นสีของ Katazome มีขายที่ญี่ปุ่น แต่ว่าที่เดอะเคฟเขาสอนกวนกาวเอง สูตรที่ว่าน่าจะเป็นความลับสำหรับผู้เรียน เพราะงั้นเราชมกันแต่ภาพก็พอ

ปั้นส่วนผสมเป็นก้อนก่อนเอาไปนึ่งให้สุก

กวนยากมาก ต้องใช้แรงเยอะ ถ้าใช้ Kitchen aid อาจมีมอเตอร์ไหม้ได้

 

เราทากาวด้วยการตรึงพิมพ์ไว้กับผ้า เอาบัตรแบนๆ ปาดปื้ดดด แล้วก็ใช้พู่กันเก็บขอบให้เรียบร้อย

พิมพ์ตัดคนละลาย ลายอื่นๆ ก็ยืมเพื่อนเอา จบงานก็จะได้ผ้าผืนยาว

 

ตากกาวให้แห้งตอนแดดแรง เอานมถั่วเหลืองทาจนผ้าแข็ง

เขาว่าผ้าเนี่ยบาง อ่อนระแน้เหลือเกิน เพราะงั้นก่อนระบายสีต้องทานมถั่วเหลือง นมนี่มีเส้นใยยึดให้ผ้าแข็ง สีไม่ไหลไปทั่ว

 

และแล้วก็มีถึงขั้นตอนระบายสี ตอนระบายนี่ออกมาเน่าๆ หน่อย

โอย คุณคะ ตอนทำนี่เสียวพังมากเลยนะ ลองดูสิ มันดูไม่น่าประสบความสำมะเหร็จได้เลย กระเทียมสีฟ้า สับปะรดสีม่วงงี้ เราก็ไม่รู้ว่าสีบาติกมันแรงแค่ไหน แต่อาจารย์บอกว่าพอแห้งมันจะซีดลงเอง

ทิ้งให้แห้งแล้วเอาไปซัก ขยี้มือในน้ำ

ด้วยความที่กาวนี่ผสมจากวัสดุธรรมชาติ คุณสมบัติของกาวกั้นสีชนิดนี้คือล้างออกได้ในน้ำเปล่า สุดยอดไปเลยเนอะ!!

จะเห็นได้ว่าถ้าลงสีไว้จาง ก็จะออกมาไม่สด ไม่เข้ม (แต่ก็สวยไปอีกแบบนะ) เพราะงั้นเราก็เลยลงให้มันเน่าๆ ไว้ แล้วจะดีเอง!

รูปล่างของเราคือฝั่งขวาค่ะ ล้างแล้วสีแสบซี้ดถึงทรวงมากๆ

 

งานย้อมผ้า Katazome นี้ทางฝั่งญี่ปุ่นเขาก็ทำออกมาหลายแบบ ไม่ได้จำกัดแค่พื้นที่เล็กๆ อย่างลายผลไม้ บางทีเขาทากาวกั้นสีกันทั้งผืน ให้สีขาวกลายเป็นลาย แล้วสีที่ย้อมกลายเป็นสีพื้นก็ได้เหมือนกัน

เช่นแบบในลิ้งค์นี้ http://hannahnunn.blogspot.co.uk/2012/06/stencil-dying-in-kyoto.html 

และสำหรับโพสต์นี้ขอบคุณ The Cave Workshop Studio ด้วยนะคะ (ไม่ได้รับสปอนเซอร์แต่อย่างใด) ใครที่สนใจสามารถติดต่อไปตามเพจชื่อเดียวกันนี่เลย เขามีเวิร์คชอปเวียนกันไปทุกอาทิตย์แล้วแต่หัวข้อ แต่ละอันน่าสนใจทั้งนั้น เป็นกำลังใจให้พวกคุณสอนศิลปะที่หาเรียนได้ยากอย่างนี้ต่อไปนะ

แล้วเจอกันเร็วๆ นี้ ถ้าเป็นไปได้ค่ะ คิดถึงนะคะ

  • Kia

 

 

หากอ่านแล้วถูกใจชอบใจ ฝากกดแชร์ด้วยนะครับ ขอบคุณครับ \( - 3-)/
โพสตอนนี้อยู่ในหมวด ดาวเหนือ และมี tag ดังนี้ , , , โพสเมื่อวันที่ .
kia

เคีย: รู้ทุกเรื่อง เรื่องละนิดหน่อย นักวาดสีน้ำสมัครเล่น นักเข้าครัวสมัครเล่นกว่า
กำลังจะเปิด Workshop Cafe ของตัวเองแล้ว

เว็บไซต์ : https://kiajinniyhouse.blog/