ฟิ้ววววว ช่างเป็นการเดินทางที่ยาวนานเสียเหลือเกิน ผมเพิ่งกลับจากการเดินทางท่องทั่วยุโรป 18 ประเทศมาครับ เป็นการเดินทางสุดแสนจะน่าประทับใจและได้ประสบการณ์ต่างๆ มากมายอย่างที่ไม่คาดคิดว่าจะได้รับ เพื่อนใหม่นักเดินทางที่ได้พบเจอตลอดการท่องเที่ยวนั้นล้วนแล้วแต่พาให้เราได้คิดถึงแม้ว่าจะกลับถึงประเทศไทยแล้วก็ตาม ไม่ว่าจะเป็น แอชลี่ เวลม่า แลสซี่ ทิฟฟานี่ บิกินี่ ใบหน้าของเพื่อนๆ ยังคงตราตรึงอยู่ในใจให้คิดถึงอยู่เสมอ…
อย่างที่คุณผู้อ่านทราบกันดี ผมนั้นเป็นสเก็ตช์เชอร์ครับ…ถึงแม้ว่าปีนึงจะวาดรูปนับนิ้วมือข้างเดียวยังเหลือก็เหอะ แต่ผมก็จะเรียกตัวเองว่าอย่างนี้แหละ (มีปัญหามัย?) คือระหว่างที่ผมเดินทางท่องไปในแต่ละประเทศของยุโรปนั้น ผมก็จะมีสมุดคู่ใจอยู่หลายเล่มเชียวครับที่จะคอยเอาไว้ใช้เขียนบันทึกเหตุการณ์ในแต่ละวันลงไป พอเจอวิวสวยๆ อย่างแม่น้ำแยงซีเกียงผมก็จะหยุดเดินและหย่อนก้นลงนั่งบนโขดหิน เปิดกระเป๋าแล้วหยิบสมุดสำหรับสเก็ตช์ขึ้นมาวาดรูปเก็บภาพนั้น หรือบางครั้งเปลี่ยนย้ายเมืองแล้วเจอะเจอเข้ากับที่ทำการไปรษณีย์ ผมก็จะเข้าไปซื้อโปสการ์ดรวมถึงแสตมป์ดวงละบาทแปะลงบนสมุดด้วย และแน่นอนว่าผมเป็นคนที่งานชุกตลอดเวลา ซึ่งหลังจากที่ผมได้กลายเป็นนักเดินทางชื่อดังแห่งยุคแล้ว ก็จะมีหลายครั้งที่รายการโทรทัศน์โทรศัพท์ข้ามประเทศเข้ามาขอนัดหมายไปให้ออกรายการ ผมก็จะหยิบสมุดออร์กาไนเซอร์อีกเล่มในกระเป๋าขึ้นมาลงเวลางาน
…นั่นจึงเป็นที่มาของฉายาของผมที่ว่า “ปอนด์สมุดเยอะ”
บางทีผมก็รู้สึกเบื่อนะที่จะต้องคอยหยิบสมุดนั่นนู่นนี่มาใช้ให้วุ่นวายไปเสียหมด เอาจริงๆ คือในกระเป๋าสะพายของผมจะมีสมุดราว 2–3 เล่มใส่ไว้อยู่เสมอ หยิบผิดหยิบถูกบ้างเพราะหน้าตาเหมือนๆ กันไปหมด บางทีผมก็เลยคิดครับ “ว่าถ้ามันมีสมุดอะไรก็ได้สักเล่มนึงที่รวมกระดาษหลายๆ ชนิดเข้าด้วยกันในเล่มเดียวได้ก็คงจะสะดวกไม่น้อย” หรือมากไปกว่านั้นคือ เราพกแค่สมุดนี้เล่มเดียวออกนอกบ้านก็ได้เลย ไม่ต้องมีซองใส่ปากกา พู่กัน หรือแม้แต่กระเป๋าสตางค์ก็คงจะเข้าท่าดี
นี่แหละครับคือสิ่งที่คิดว่า ถ้าหากมีสมุดแบบที่ว่าจริง การเดินทางครั้งต่อไปที่ผมตั้งเป้าไว้ว่าจะพิชิตทั่วทวีปแอฟริกาก็คงจะสะดวกขึ้นมากมายเลยทีเดียวแหละ!
“โม้อะไรอยู่หน่ะลูกปอนด์ ตั้งแต่เกิดมาลูกไม่เคยทำพาสปอร์ตเลยนี่! แล้วเดือนนี้ทั้งเดือนก็เอาแต่เล่นเกมอยู่แต่ในห้อง ออกมาเจอหน้าพ่อแม่บ้างสิลูก!”
…เอ่อคือ …ผมเดินทางในเกมนี่นับว่าเป็น traveler ได้ไหมครับ?
TRAVELER’S notebook [ดูเว็บกัน] เป็นสมุดสำหรับนักเดินทางที่สามารถตอบโจทย์ที่ผมตั้งมาข้างต้นได้ทั้งหมดครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของฟังก์ชั่นการใช้สอยที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามแต่ที่เราต้องการ อยากให้เป็นสมุดบันทึก อยากให้เป็นสมุดวาดภาพ อยากให้เป็นออร์กาไนซ์เซอร์ ก็สามารถทำได้หมด นอกจากนั้นยังมีออฟชั่นเสริมมากมายให้เราปรับแต่งได้ จะใส่ซองเก็บของ เก็บนามบัตร ซ่อนเงินเมียหรือเก็บการ์ดเม็มเบอร์ทองคำคาราโอเกะก็สามารถทำได้หมด บางคนอาจจะชอบการตกแต่งสมุดด้วยการร้อยลูกปัด ห้อย charm หรือติดสติ้กเกอร์ตกแต่งก็สามารถทำได้ตามสไตล์ของเราเอง และที่สำคัญที่สุดที่ผมให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ในการเลือกใช้สินค้านั่นก็คือ “ต้องสวยงามและหล่อเท่”
TRAVELER’S COMPANY
ผมเชื่อครับว่าหลายๆ คนคงจะรู้จักกับสมุดบันทึกเล่มนี้กันมาไม่มากก็น้อยจากชื่อ Midori ใช่ครับเจ้าสมุดเล่มนี้ต้นกำเนิดนั้นเกิดมาจากบริษัท Midori จ้าวแห่งเครื่องเขียนของประเทศญี่ปุ่น แต่เมื่อได้รับความนิยมสูงขึ้นและ TRAVELER’S notebook ได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของการใช้ชีวิต ไลฟ์สไตล์ของการท่องเที่ยวการเดินทาง บริษัท TRAVELER’S COMPANY [travelers-company.com] จึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อเป็นแบรนด์ที่ให้ความสำคัญกับสินค้าจำพวกไลฟ์สไตล์โดยเฉพาะ สินค้าที่มาจาก TRAVELER’S COMPANY นั้น แน่นอนว่าจะต้องมี TRAVELER’S notebook เป็นเรือธง แต่ว่าก็ยังมีอย่างอื่นอีกไม่ว่าจะเป็นเครื่องเขียนที่ทำจากทองเหลือง BRASS PRODUCTS สมุดสันห่วง SPIRAL RING NOTEBOOK เป็นต้น
หนังจากเชียงใหม่ กระดาษและสมุดจากญี่ปุ่น
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อนะว่าสมุด TRAVELER’S notebook ผู้โด่งดังและเป็นหนึ่งในใจนักเดินทางทั่วโลกจะมีความเกี่ยวข้องกับประเทศไทยแลนด์อย่างลึกซึ่ง สมุดตัวนี้เป็นผลงานการออกแบบและผลิตจากประเทศญี่ปุ่นแน่ทุกคนคงทราบดี แต่รู้หรือไม่ครับว่าตัวเล่มสมุดหรือก็คือปกหนังนั้น ถูกทำขึ้นในประเทศไทย จังหวัดเชียงใหม่ถิ่นเก่าของกระผมนั่นเอง! โอ้ยอันนี้ภูมิใจ! ปกหนังที่เป็นสมุดของ TRAVELER’S notebook นั้นเป็นงานทำมือจากเชียงใหม่ครับ ส่วนกระดาษที่ใช้และการเย็บเล่มตัวสมุดทำในญี่ปุ่น เน้นการผลิตที่เรียบง่าย ตัดหนังด้วยมือแบบหยาบๆ เพื่อความเป็นธรรมชาติ ประกอบกับสมุดด้านในที่ตั้งใจผลิตเพื่อความสุนทรีย์ในการเขียนอย่างขีดสุด ด้วยส่วนผสมของทั้งสองอย่างนี้เองที่เป็นเสน่ห์ของ TRAVELER’S notebook เล่มนี้ครับ
…ผมนี่หลงใหลถึงขั้นเอาไปกอดนอนเลอ
แกะกล่อง มีอะไรในกล่องบ้าง
พูดมาเสียมากคงอยากจะเห็นเจ้าสมุดนักเดินทางเล่มนี้แล้วล่ะซิ unbox สิครับจะรออะไร! TRAVELER’S notebook นั้นจะวางจำหน่ายมาเป็นชุดครับเรียกกันว่า Starter Kit มาในรูปแบบของกล่องที่แกะออกก็สามารถใช้ได้เลย หรือจะนำไปเป็นของขวัญก็รับรองต้องถูกใจผู้รับแน่ๆ (พรุ่งนี้วันเกิดผมครับ #อยากได้จนถึงขั้นต้องต้มตุ๋นคนอ่าน…)
เมื่อแกะกล่องกระดาษออกมาเราจะพบกับถุงผ้าดิบสีขาวนวลน้ำตาลอยู่ครับ ภายในนั้นเมื่อเราแกะออกมาก็จะพบกับตัวสมุด TRAVELER’S notebook 1 เล่มที่มีสมุดรีฟิลสอดไว้อยู่ภายในซึ่งเป็นสมุดแบบกระดาษไม่มีเส้นหรือก็คือเบอร์ 003 Blank Notebook 64 หน้าครับ นอกจากนั้นในกล่องยังจะมี “เชือกรัดสมุด” ให้มาเพิ่มอีก 1 เส้นเผื่อว่าเราทำขาดหรืออยากจะเปลี่ยนเพื่อความเฟี้ยวฟ้าวสวยงาม(ศัพท์เชยหว่ะ) อย่างสมุดเล่มน้ำตาลของผมก็เปลี่ยนเป็นเชือกสีส้มแทนของเดิมที่เป็นสีน้ำตาลครับ คือใจมันเปรี้ยวก็เลยอยากแสดงออกไม่ว่าจะทางใดทางหนึ่งหน่ะ…
หน้าตา
ผมรู้ว่าหน้าตามันสวยงามนั่นก็เป็นเพราะว่าสมุดเล่มนี้มีการใช้หนังสัตว์แท้ๆ มาทำเป็นปกสมุด และมีการออกแบบให้ดูดิบๆ เรียบๆ ง่ายๆ หรือถ้าจะให้เจาะจงชัดเจนไปเลยก็คือ “ดูโคตรฮิปสเตอร์” ตัวผมเองที่ใครๆ ต่างก็บอกว่าเป็นคนที่หล่อ แนว และก็เท่มาก(ถุย) ก็เลยค่อนข้างจะถูกอกถูกใจสมุดเล่มนี้เป็นพิเศษ สัมผัสของหนังที่เรียบสบายมือ สีและริ้วรอยของหนังที่จะเปลี่ยนแปลงสภาพไปตามการใช้งานยิ่งบ่งบอกถึงเรื่องราวการเดินทางของเรา เช่นเล่มที่ผมใช้อยู่ตอนนี้ก็เริ่มเปลี่ยนสีเข้มขึ้นนิดๆ ตามขอบมุมและส่วนโค้งต่างๆ ทำให้หน้าตาสะท้อนถึงไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้ในอีกทางนึงนั่นเอง
เล่มที่ผมได้รับการสนับสนุนมานั้นเป็นขนาดยอดนิยมหรือก็คือ Regular Size ครับ วัดเป็นหน่วยแบบเป๊ะจะยาว 21.8cm และกว้าง 13cm เรียกได้ว่าเป็นฟอร์แมตสมุดแนวยาว คนที่คุ้นเคยสมุดไซส์ pocket อย่างผมจะมองว่าค่อนข้างใหญ่ แต่ใช้ไปสักพักจะเริ่มชินแล้วคิดว่าขนาดที่เพิ่มขึ้นนี้สามารถใช้สอยทำอะไรได้มากขึ้นหลายเท่าเลย
เปิดด้านในของตัวปกมาดูก็จะเห็นความดิบของแผ่นหนังครับ ภายในนั้นจะมีเชือกแบบยืดได้อยู่สองส่วน ส่วนแรกตรงกลางปกจะใช้สำหรับไว้ยึดตัวเล่มสมุดให้ยึดติดกับปก ตรงส่วนนี้จะมีเชือกสีดำอีกเส้น(ไม่ยืด) ผูกติดไว้ด้วยหมุดยึดสังกะสีแบบลวดถังแก๊ส ไอเชือกนี่มันเอาไว้ใช้เป็นที่คั่นหน้ากระดาษนั่นเอง
ส่วนเชือกยืดอีกเส้นนั้นจะอยู่ตรงกลางปกสมุดด้านหลังและเจาะเสียบทะลุกลางปกหลังออกไปเลย เชือกเส้นนี้มีหน้าที่ไว้ใช้รัดปกสมุดไม่ให้อ้าออกครับ ซึ่งตรงนี้ที่เองที่เมื่อกี้ผมบอกว่าเค้ามีเชือกยืดอีกเส้นแถมเป็นเส้นสำรองมาให้ เราก็สามารถที่จะถอดเปลี่ยนได้เองง่ายๆ เลยหากว่าของเดิมยืดยาน ขาด หรือจะเปลี่ยนเพราะอยากเปรี้ยวก็ไม่ว่ากัน
ใครที่ชอบเล่มเล็กก็มีนะ
จริงๆ แล้วสมุด TRAVELER’S notebook นั้นมีด้วยกัน 2 ขนาดครับคือขนาดมาตรฐาน Regular Size และขนาดเล็กประมาณสมุดพาสพอร์ต Passport Size ใครถนัดขนาดใดก็สามารถเลือกใช้ได้ตามความต้องการนะ
แล้วเจ้าสมุด TRAVELER’S notebook นี้มันดียังไง?
ความเจ๋งของสมุดเล่มนี้ หลักๆ เลยก็คือมันสามารถที่จะปรับเปลี่ยนแต่งเติมสมุดได้ตามความต้องการของผู้ใช้ ไม่ว่าคุณจะเพิ่มกระดาษสำหรับวาดรูป จดบันทึกธรรมดา หรือจะทำให้เป็นสมุด planner ก็ยังได้ จะเพิ่มช่องเก็บของ จะเพิ่มซองเก็บนามบัตร จะเปลี่ยนเชือกเปลี่ยนสีตกแต่งหน้าตา เราก็สามารถทำได้ด้วยตัวเองทั้งหมดครับ สนุก! นี่แหละครับที่ผมว่ามันสุดยอดและเจ๋งมาก การที่สามารถแต่งสมุดได้เองนี้ทำให้หวนรู้สึกถึงตอนสมัยเด็กที่เราแต่งรถทามิย่าแล้วเอาไปแข่งกับเพื่อนเลย!
…หรือไม่ก็เหมือนแต่งจักรยานที่เอามาปั่นอวดกันในปัจจุบันนั่นแหละ กรั่ก
Setup สอดไส้ได้เอง มีหลายแบบ
อย่างที่ได้โม้ไปเสียเยอะว่าเราสามารถเอาสมุดแบบที่เราต้องการหลากหลายชนิดมาสอดได้ ซึ่งวิธีการในการเพิ่มสมุดนั้นทำได้ด้วยการเอาสมุดมาสอดเข้าไปในเชือดยืดที่มัดอยู่กับปกครับ แล้วถ้าหากต้องการจะเพิ่มเล่มสมุด เจ้า TRAVELER’S notebook ก็จะมี “ชุดยางยืด” ขายแยกต่างหาก เป็นชุดที่มียาง 4 เส้น สีดำ 2 สีน้ำตาล 2 ไอยางนี้วิธีใช้มีคอนเซ็ปคือให้จับสมุดทั้งสองเล่มโดยเปิดหน้ากลาง แล้วเอาส่วนที่จับขึ้นมานั้นรัดด้วยหนังยาง แค่นี้ก็เป็นอันเชื่อมกันแล้วครับ วันไหนอยากเปลี่ยนเล่มก็แค่ดึงออกแล้วใส่เล่มใหม่เข้า ซึ่งวิธีใช้ยางยืดนั้นก็จะมีแผ่นกระดาษคู่มือการเชื่อม มีใส่ไว้ในชุดยางยืดครับ
วิธีใส่สมุด!!
(อัพเดต 29 ธันวาคม 2558)
มีหลายคนถามไถ่กันเข้ามาถึงเรื่องการเชื่อมสมุด การใส่สมุดหลายๆ เล่มเข้ามาใน TRAVELER’S notebook ไอผมก็เลยนำลิ้งค์การใส่สมุด refill มาให้ดูกันครับ ซึ่งรูปชัดเจนอ่านแล้วทำตามได้ เชิญ!!
http://www.travelers-company.com/customize/join
แบบคลิปก็มีนะ คลิปนี้จากร้านปากกาชื่อดัง Goulet Pens จ้าาา
Setup ซองเก็บของ ช่องเก็บนามบัตร
พวกของเพิ่มฟังก์ชั่นเพิ่มเติมไม่ว่าจะเป็นซองซิปใส่ของแบบพลาสติกใส ช่องเก็บของแบบสติ้กเกอร์และอื่นๆ อีกมากมายก็มีให้เราใช้ตกแต่งสมุดครับ ใครที่มีนามบัตรหรือบัตรต่างๆ ที่จำเป็นในชีวิตประจำวันก็อาจจะใช้ซองเก็บนามบัตรมาเสริม หรือจะเป็นแฟ้มเก็บเอกสารกระดาษก็เอามาสอดเข้าไปได้เพื่อเก็บพวกกระดาษโน้ตหรือใบเสร็จเป็นต้นครับ แต่อีกหนึ่งสิ่งที่ผมชอบมากเลยนั่นก็คือ ช่องเก็บของแบบสติ้กเกอร์ที่เราสามารถลอกกาวติดได้ทุกที่ ใครอยากติดมุมไหนอย่างไรก็ออกแบบได้ตามใจเลยครับ เก๋
ความหนาและน้ำหนัก
อืมมมมมม ก็อย่างที่ตะกี้โม้ไปอ่ะนะ ผมไม่รู้จะเขียนเกี่ยวกับพวกรูปร่างทรวดทรงและน้ำหนักของเจ้า TRAVELER’S notebook นี้อย่างไรดีครับนั่นก็เป็นพระว่าสมุดเล่มนี้มันไม่ได้มีน้ำหนักและขนาดที่ตายตัวเป๊ะๆ คุณคงจะคิดว่ามันยืดได้หดได้เหรอ? …จะว่างั้นก็ได้นะ คือว่าสมุดเล่มนี้มันจะหนาและหนักเปลี่ยนแปลงไปตามสมุดและของแต่งที่เราจะใส่เข้าไปในตัวเล่ม หากเราใส่สมุดหลายเล่ม ยัดซองไปเยอะ หรือห้อยของแต่งตามเชือกเส้นต่างๆ มันก็ย่อมที่จะหนาและหนักเพิ่มมากขึ้นเป็นธรรมดา แต่ถ้าใครที่ใช้สมุดไม่เยอะมีแค่เล่มหรือสองเล่ม สมุดก็บางเบาพกพาง่ายตามไปด้วยนั่นเอง เช่นสมุดของผมก็ได้นะ ใส่สมุดไป 3 เล่ม ใส่ซองเก็บของไป 2 ชุด แถมติดช่องใส่ของนั่นนู่นนี่ไปอีกก็จะทำให้น้ำหนักโดยรวมเพิ่มมากขึ้นครับ
สมุดของบีบีบล็อก
ผมพูดเรื่องการเซ็ตอัพสมุดกันมาตั้งยืดยาว ผมเลยคิดว่าน่าจะดีไม่ใช่น้อยถ้าจะทำการ “อวด” สมุด TRAVELER’S notebook : HackHQ Custom (ชื่อเหมือนพวกกันพลาเลย เท่) ที่ผมทำการเซ็ตอัพขึ้นมาตามรสนิยมของผมให้ได้ชมกัน แน่นอนว่ามีเล่มเดียวในโลก!
ผมเลือกสมุด TRAVELER’S notebook ปกสีน้ำตาล (TRAVELER’S Notebook Brown : Regular Size : Starter Kit) และได้ทำการใช้เชือกรัดสมุดสีส้มที่แถมมาให้เปลี่ยนเพื่อสร้างความเปรี้ยวให้ตัดกับปกสีน้ำตาล สมุดไส้ในที่ผมต้องการใช้นั้นแน่นอนว่าต้องมีสมุดสำหรับสเก็ตช์ภาพ 1 เล่ม (012 Sketch Paper Notebook) และต้องสามารถใช้บันทึกได้เลยใช้สมุดกระดาษไม่มีเส้น (003 Blank Notebook) ที่แถมมาด้วยอีก 1 เล่ม แต่เพราะผมใช้ออกาไนเซอร์ในโทรศัพท์มือถือทั้งหมดเลยไม่จำเป็นต้องใช้สมุด เลยอยากได้อะไรที่น่าสนใจมาใส่เพิ่มอีกสัก 1 เล่ม ผมเลยเลือกสมุดแบบกระดาษคราฟท์ (014 Kraft Paper Notebook) ใส่มาด้วยเผื่อเอาไว้สเก็ตช์ภาพวาดแบบลายเส้นหมึกดำเก๋ๆ บนกระดาษสีน้ำตาล เอาไว้ใช้ติดพวกฉลากสินค้าสวยๆ หรือแสตมป์เป็นต้นครับ โดยทั้งหมดนี้ผมต้องใช้ยางรัดเชื่อมสมุด (021 Connecting Rubber Band) อีก 2 เส้นเพื่อยึดสมุด 3 เล่มเข้าด้วยกันครับ (แต่ถ้าใช้วิธีแบบมาตรฐานจะใช้ยางเส้นเดียว…คือผมเว่อร์หน่ะ)
และแน่นอนว่าต้องติดออปชั่นเสริมด้วย ผมเลยทำการนำเอาช่องใส่ของแบบสติ้กเกอร์ (004 Pocket Sticker) โดยเลือกช่องแบบติดเข้ามุมมาติดในส่วนด้านหลังของปกสมุดทั้งด้านหน้าและหลัง ใช่ครับ! ติดไปเพียวๆ บนแผ่นหนัง เลยทำให้รู้ว่ากาวมันเหนียวแน่นมาก ผมลองดึงๆ ดูก็ไม่มีหลุดนะ สามารถติดบนด้านหลังของแผ่นหนังแล้วยึดติดได้ดีแสดงว่ากาวของเค้านี่ไม่ธรรมดาเลยจริงๆ
อีกอันที่ผมใส่เข้าไปเพิ่มก็คือแฟ้มใส่เอกสารแบบกระดาษคราฟท์ (020 Kraft Paper Folder) ผมก็เอามาสอดเข้าไปพร้อมกันกับสมุดกระดาษคราฟท์เพื่อให้สีดูเข้ากัน และสุดท้ายก็เพิ่มความรุงรังแต่ฟังก์ชั่นเยอะอีกสักหน่อยโดยการเพิ่มซองซิปใส่ของแบบพลาสติกใส (008 Zipper Case) ไว้ในชั้นนอกสุดโดยห่อสมุดทุกเล่มเข้าด้วยกันครับ เพื่อเอาไว้ใช้เก็บของแบบแน่นหนากันน้ำได้และไม่ร่วงหลุด ผมก็เอาไว้ใส่พวกปากกา liner หรือไม่ก็ปากกาลามี่หัวตัดเผื่อเปลี่ยนเส้นตามอารมณ์นั่นเอง
เล่มเดียวเที่ยวได้รอบโลก (แต่ต้องมีเงินด้วยนะ)
รีวิวกระดาษ!!!
มาเรื่องที่สำคัญที่สุดของสมุดทุกเล่มนั่นก็คือ! กระดาษ! สิ่งที่ดีงามที่สุดของสมุดเล่มนี้ไม่ใช่แค่เรื่องความงามของหน้าตาระดับฮิปสเตอร์มงกุฎเพชร แต่ว่ามันคือกระดาษที่เขียนดีระดับเทพเจ้ามาประทับ! คุณผู้อ่านเคยได้ยินชื่อ MD Paper ไหมครับ? ตัวผมนั้นเคยได้ยินครั้งแรกก็จากคุณเอ็มแห่งร้านปากกา PIPS Café เมื่อหลายเดือนก่อนครับและแกก็เล่าว่า “คุณปอนด์ควรโดนกระดาษ MD Paper นี่สักครั้งนะครับ รับรองว่าจะลืมไม่ลงเลยทีเดียว” …คือผมก็แต่งคำพูดให้มันหฤหรรษ์ไปงั้นแหละ แต่คุณเอ็มแกก็บอกมาจริงๆ แหละว่า “กระดาษ MD Paper นี้ไม่ธรรมดา”
ที่ไม่ธรรมดาไม่ใช่เพราะว่ามันเรืองแสงในที่มืดหรือตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้ แต่ความพิเศษแบบสุดยอดนั้นก็คือ “เป็นกระดาษคุณภาพสูงที่เหมาะกับการใช้กับปากกาหมึกซึม” กล่าวคือ พวกเราเหล่าคนรักปากกาหมึกซึมนั้นย่อมจะทราบกันดีว่าปากกาหมึกซึมนั้นเขียนบนกระดาษทั่วๆ นั้นจะซึมทะลุไปด้านหลัง ซึ่งซึมมาก-น้อยแตกต่างกันไปตามแต่ตัวหมึกและที่สำคัญคือ “กระดาษ” อย่างที่คุณผู้อ่านที่ติดตามบีบีบล็อกมานานคงจะทราบว่าผมนี่เป็นแฟนตัวยงของสมุด Moleskine ครับเพราะหน้าตามันมินิมอลสวยงาม แต่เสียดายที่กระดาษมันกากเปลี้ยที่สุดในห่วงโซ่อาหารเลยก็ว่าได้ ไม่ว่าจะด้วยหมึกปากกาหมึกซึมแบบใดก็ล้วนแล้วแต่ซึมทะลุไปหน้าหลัง เขียนให้ตายยังไงก็ไม่สามารถเขียนหน้า-หลังได้นอกจากจะใช้หมึกบางตัวจริงๆ
แต่ MD Paper นั้นต่างออกไป MD Paper นั้นมีชื่อเต็มๆ ว่า Midori Diary Paper เป็นกระดาษที่ถูกพัฒนาขึ้นมาตั้งแต่ปี 1960 และผลิตในประเทศญี่ปุ่น โดยมุ่งเน้นถึงประสบการการเขียนที่ดีที่สุดคือ เขียนลื่นหัวแตก ไม่ซึมทะลุแกนโลก และเส้นไม่แตกซ่านเหมือนลมปราณของเอี้ยคัง ดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่าไม่ว่าจะเขียนด้วยหมึกปากกาหมึกซึมแบบใดก็จะไม่ซึมเละเทะหรือแตกลายงาแน่นอน
แต่ถึงจะโม้ยังไงก็เหอะ ถ้าตกมาอยู่ในมือบีบีบล็อกแล้วก็จะทดสอบให้ยับกันไปข้างนึง กร๊าากก ซึ่งกระดาษที่ผมได้มีโอกาสทดสอบนั้นเป็น MD Paper ด้วย ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว ก็เลยขอพ่วงกระดาษแบบอื่นรวมถึงกระดาษสำหรับการสเก็ตช์ไปด้วยเลยละกัน มามะมาดูผลการทดสอบกันครับ!
003 Blank Notebook 64 หน้า
สมุดเล่มนี้เป็นสมุดพื้นฐานที่ให้มากับตัวเล่ม Starter Kit ครับ เป็นกระดาษ MD Paper แบบไร้เส้น สีขาว มีจำนวนหน้าทั้งหมด 64 หน้า 80 gsm ซึ่งกระดาษตัวนี้เป็นกระดาษชนิดเดียวกันกับในเล่มอื่นๆ ด้วยไม่ว่าจะเป็นสมุดแบบมีเส้น จุด หรือไดอารี่แบบต่าง ดังนั้นไอหมอนี่แหละครับที่จะต้องโดนเทสจัดหนักที่สุด กร๊าากก
ผมเริ่มด้วยการเขียนตัวอักษรแบบปรกติทดสอบครับ แต่ที่ไม่ปรกติก็คือผมทดสอบแบบแอบโหด กล่าวคือ ปรกติผมจะใช้ปากกาลามี่ที่มี nib ขนาด F เส้นกำลังดีทำการเขียน แต่เนื่องเพราะเห็นว่า Midori โม้ไว้เยอะว่ากระดาษของเค้านั้นดีนักดีหนา เขียนลื่นไม่มีหมึกซึมแน่ ผมก็เลยจัดหนักใช้ปากกาลามี่ nib 1.1 หัวตัดเขียนให้หมึกท่วมกันไปเลย โดยที่เห็นเป็นตัวหนังสือถั่วงอกนี้คือ เพลง You Are Too Beautiful – John Coltrane & Johnny Hartman โดยความรู้สึกตอนที่ผมวางมือลงบนกระดาษนั้น จะสัมผัสได้ถึง “ความเนียน” คือผิวกระดาษมันจะละเอียดและลื่นแบบเนียนๆ นุ่มๆ อ่ะครับแต่ไม่ได้บวมนะ และเมื่อลงมือเขียนก็พบว่าเขียนได้ลื่นสมกับที่โม้ไว้จริงๆ สัมผัสนั้นยังคงเป็นกระดาษอยู่นั่นแหละเพียงแต่เขียนลื่นกว่ากระดาษทั่วไปเล็กน้อย ไม่เหมือนกับกระดาษบางตัวที่เขียนลื่นก็จริงแต่สัมผัสกลายเป็นเหมือนแผ่นฟิล์มไปเลย
เรื่องซึมทะลุแกนโลกนี่แหละที่เราจำเป็นต้องเข้าพื้นที่เพื่อไปตรวจสอบนะคะคุณกิตติ! หมึกตัวที่ผมใช้นี้เป็นหมึก De Atramentis : Document Ink Black สีดำที่แน่นอนอยู่แล้วว่าถ้าเป็นกระดาษแบบธรรมดาของ Moleskine จะซึมทะลุไปถึงด้านหลังเลย แต่กับกระดาษ MD Paper นั้นเรียกได้ว่าไม่มีแม้แต่จุดเล็กๆ ของการซึม! มันเป็นไปได้ยังไงฟระ?! ทั้งๆ ที่ผมใช้ nib ที่มีขนาดใหญ่เพื่อให้หมึกท่วมเวลาเขียนแล้ว แต่ว่าไม่เห็นแม้แต่ร่องรอยของการซึมครับ ผมสามารถพลิกด้านหลังแล้วเขียนต่อได้เลยไม่มีปัญหา สามารถเขียนได้ทุกหน้าจริงๆ นี่แหละครับที่ทำหน้าที่ได้สมกับคำว่าสมุดบันทึก
ผมทะลึ่งครับพูดเลย…หมายถึงทะลึ่งในเรื่องการทดสอบสินค้าแบบบ้าๆ บอๆ นะ… คือเค้าก็บอกว่าเป็นกระดาษสำหรับเขียนบันทึกทั่วไปแต่ผมทะลึ่งอยากสเก็ตช์ภาพและลงสีน้ำ เพราะคิดว่าบางคนที่พกกระดาษแบบนี้อาจจะมีบางอารมณ์ที่อยากวาดภาพประกอบการจดบันทึกก็อาจจะวาดแล้วลงสีน้ำบางๆ ผมเลยลองสเก็ตช์แล้วลงสีน้ำดูแถมลงแบบหนักมือด้วย ผลปรากฏกระดาษงอเป็นคลื่นเลยครับแถมบวมด้วย แต่! หมึกและสีน้ำไม่มีซึมไปด้านหลังเลยแม้แต่น้อย! นี่มันบ้าไปแล้วจริงๆ นะ คือถึงแม้กระดาษจะเทพยังไงส่วนใหญ่ถ้าโดนสีน้ำเยอะขนาดนี้ด้านหลังมักจะซึมเป็นจุดๆ ให้เห็นบ้าง แต่กับกระดาษ MD Paper นี้ไม่มีออกหัดออกตุ่มอะไรเลย ซึ่งถ้าหากใครอยากจะเขียนบันทึกลงหน้าหลังของภาพที่วาดนี้ก็ยังสามารถทำได้
013 Lightweight Paper Notebook 128 หน้า
ขออนุญาตทดสอบกระดาษแบบไม่เรียงเลขแต่เรียงตามลำดับความพอใจ กระดาษตัวต่อมาเป็นกระดาษที่เรียกได้ว่าบางมากๆ น้ำหนัก 52 gsm ซึ่งความดีงามของสมุดเล่มนี้ก็คือเรื่องของจำนวนหน้าที่มากกว่าปรกติเป็น 2 เท่า มีทั้งหมด 128 หน้า กระดาษเป็นสีขาว ตัวกระดาษจะบางกว่ากระดาษ MD Paper แบบปรกติอย่างสามารถสังเกตได้ ทำให้ตัวสมุดโดยรวมนั้นมีความหนาไม่แตกต่างกับแบบปรกติแต่ได้จำนวนหน้าเขียนเพิ่มนั่นเอง
ทำยังไงดีครับคือผมอยากร้องกรี๊ด! นี่ขนาดว่าเป็นกระดาษแบบบางมากๆ 52 gsm แต่ว่าพอโดนตัวหนังสืออวบๆ หนาๆ ของปากกาหัวตัดเข้าไปก็ยังสามารถเขียนได้ลื่นมือ ผมเขียน เพลง I Can’t Get Started – Billie Holiday & Count Basie and His Orchestra และเมื่อพลิกดูด้านหลังก็ยิ่งทำให้ช๊อคเข้าไปอีกเพราะว่ามันไม่มีการซึมเลยแม้แต่นิดเดียว! แต่ตัวกระดาษจะเริ่มบวมๆ นิดๆ อันเนื่องมาจากความชื้นในน้ำของหมึกครับ แต่ก็ยังสามารถเขียนสองหน้าไม่ซึมทะลุได้อยู่ดี ผมเริ่มสงสัยแล้วจริงๆ ครับว่าเทคโนโลยีการผลิตกระดาษของ Midori นั้นเป็นอย่างไรกันแน่ ทำไมถึงสามารถผลิตกระดาษที่มีคุณสมบัติยอดเยี่ยมได้ขนาดนี้
012 Sketch Paper Notebook 48 หน้า
มาถึงกระดาษตัวสำคัญของงานในวันนี้ กระดาษสเก็ตช์! Midori เค้าเล็งแล้วครับว่านักเดินทางจะต้องมีการเที่ยวไปวาดไปจึงได้ทำกระดาษที่เหมาะสมกับการวาดภาพมาด้วย ความพิเศษของกระดาษสเก็ตช์นี้ก็คือความหนาที่น้ำหนัก 156 gsm สีขาว และกระดาษ “มีรอยปรุสำหรับฉีก” สามารถฉีกแจกสาวๆ เมื่อวาดภาพเสร็จหรือจะติดสแตมป์ส่งเป็นโปรการ์ดไปเลยก็ยังได้
อย่ารอให้พระอาทิตย์ตกเลย ผมใช้ปากกาลามี่หัวตัด nib 1.1 สเก็ตช์ภาพแล้วลงสีน้ำแบบจัดเต็มในทันที! ซึ่งผลที่ได้ก็คือ “เละ!” กร๊าาาาากกก เนื่องจากกระดาษของ 012 Sketch Paper Notebook นั่นเป็นเพียงแค่กระดาษหนาครับ มันจึงเหมาะแก่การใช้พวกสีมาร์กเกอร์หรือการลงสีน้ำแบบบางๆ ซึ่งการลงสีน้ำแบบน้ำท่วม wet on wet หรือฉาบน้ำให้ท่วมกระดาษก่อนเหมือนตอนที่เราลงบนกระดาษสีน้ำจึงไม่สามารถทำได้ดีครับ ลักษณะของกระดาษเมื่อโดนสีน้ำเข้าไปเยอะๆ นั้นผิวกระดาษจะลอกออกมาเป็นขุยๆ ทำให้สีน้ำเข้าไปอมอยู่ในขุยกระดาษนั้น เมื่อทิ้งไว้ให้แห้งก็จะกลายเป็นเหมือนจุดสี จุดๆๆๆๆ อยู่บนกระดาษนั่นเอง (ดูขอบโต๊ะไม้ด้านล่างประกอบนะ)
ดังนั้นหากเป็นคนที่ชอบสเก็ตช์ภาพแบบลงสีน้ำหนักมือ กระดาษตัวนี้ก็ยังไม่สามารถลงสีน้ำแบบจริงจังได้เท่าไหร่ แต่ถ้าหากเป็นสเก็ตชเชอร์ที่ลงสีชั้นเดียว น้ำน้อย ลงไว ปาดสีไม่กี่ชั้น กระดาษตัวนี้เพียงพอต่อความต้องการของท่านแล้วล่ะครับ
ราคา
ผมได้รับการสนับสนุนสมุด TRAVELER’S notebook รวมถึงสมุดแต่ละแบบและของตกแต่งทั้งหมดจาก บริษัท ไอซีซีพี จำกัด (ICCP Co., Ltd.) กราบขอบพระคุณครับ! แต่ทั้งนี้ผมก็ไม่ลืมที่จะสำรวจราคาของแต่ละชิ้นมายั่วน้ำลายครับ โดยราคามีดังนี้
PRICE UPDATE! 24 AUG 2016
- ชุดสมุด TRAVELER’S Notebook : Regular Size : Starter Kit ราคา 1,946 บาท
- สมุด Refill Regular Size 003 Blank Notebook ราคา 146 บาท
- สมุด Refill Regular Size 012 Sketch Paper Notebook, 013 Lightweight Paper Notebook, 014 Kraft Paper Notebook ราคา 195 บาท
- ซองซิปใสใส่ของ 008 Zipper Case ราคา 244 บาท
- ซองใสใส่นามบัตร 007 Card File, ซองน้ำตาลใส่ของ 020 Kraft Paper Folder ราคา 195 บาท
- ช่องใส่ของแบบสติ้กเกอร์ 004 Pocket Sticker ราคา 146 บาท
- ยางรัดเชื่อมสมุด 021 Connecting Rubber Band ราคา 146 บาท
- ชุดสมุด TRAVELER’S Notebook : Passport Size (เล่มเล็ก) : Starter Kit ราคา 1,557 บาท
สถานที่ขาย
ชั้นอยากออกเดินทางแล้ว!! จะสามารถซื้อได้ที่ไหน?!!
โอ๋ๆๆๆ อย่าเพิ่งโวยวายไปนะ สถานที่ซื้อก็ง่ายมากครับเป็นที่ๆ เราไปเดินแอ่วกันบ่อยๆ คือ
- Another Story Emquartier
- B2S Central Chidlom
- Lamune Siam Square ร้านละมุน สยามสแควร์ ซอย 10
ความเห็นจากฮิปสเตอร์พันธุ์ทาง
จะพูดไปก็อายอ่ะครับ คือว่าผมตกหลุมรักเจ้าสมุด TRAVELER’S Notebook อย่างหัวปักหัวปำเลยอ่ะ หลงขนาดไหนอ่ะเหรอ? เอาเป็นว่าจากเมื่อก่อนที่ผมพกสมุด Moleskine 2 เล่ม เล่มนึงใช้จดบันทึกกับอีกเล่มเป็นสมุดสเก็ตช์ ตอนนี้ผมเอาสองเล่มนั้นออกจากกระเป๋าเลยครับ(ขอโทษนะคะน้องโมลที่รัก) แล้วเปลี่ยนมาใช้สมุดเล่มนี้เล่มเดียว การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นที่ผมต้องปรับก็คือเรื่องของขนาดสมุดที่ใหญ่และกว้าง ขึ้นซึ่งคนที่ชอบสมุดเล็กๆ แบบผมต้องใช้เวลาปรับตัวสักพัก
ข้อดีคือสามารถเขียนได้มากขึ้นโดยที่สมุดไม่ได้บานใหญ่เหมือนสมุด Moleskine ขนาด Large พกเพียงแค่เล่มเดียวก็เกินเพียงพอกับในทุกๆ การใช้งาน ทั้งจดบันทึก ทั้งสเก็ตช์ ก็สามารถทำได้ แต่ติดที่เรื่องกระดาษสเก็ตช์อาจจะไม่ถูกใจเต็ม 100% เพราะกระดาษไม่ได้เป็นกระดาษสำหรับสีน้ำโดยเฉพาะ แต่ว่ากับกระดาษบันทึก MD Paper นั้นถูกใจเกิน 500% ไปเรียบร้อยครับ จากเดิม Moleskine ที่เขียนได้ทีละหน้าเพราะหมึกกันน้ำในลามี่ที่รักของผมมันซึมทะลุมากมายจริงๆ ก็สามารถเขียนได้สองหน้า รู้สึกคุ้มเงินขึ้นอีกนิดและดูมีความเป็นสมุดอ่านเพลินยิ่งขึ้น
นอกจากนั้นสิ่งที่ผมชอบก็คือเรื่องการเก็บของ แต่เดิมที่ใช้ Moleskine มีเพียงแค่ช่องเดียว ผมมักจะเอาบัตรสมาชิกร้านอาหารที่นานๆ ใช้ทีนึงใส่ไว้ แต่พอใส่เยอะๆ 2–3 ใบแล้วปกมันก็ปูดงอดูไม่ค่อยดีเพราะว่าปก Moleskine มันค่อนข้างแข็งมาก ดังนั้นการเก็บของเยอะๆ คงไม่ค่อยเหมาะเท่าไหร่ แต่กับ TRAVELER’S Notebook นั้นเก็บเพิ่มได้เรื่อยๆ ไม่น่าเกลียดนัก เพราะอะไรนะเหรอ? เพราะมันบวมปูดมาตั้งแต่เริ่มต้นยังไงล่ะ! บวมปูดยังไงก็ยังคงดูดี กร๊าาากกก
อ่านมาถึงตรงนี้ผมว่าคุณผู้อ่านหลายๆ ท่านคงได้คำตอบในใจแล้วล่ะครับว่าสมุดเล่มต่อไปคือเล่มไหน หากว่าชื่นชอบในการจดบันทึก มีรูปแบบการเขียนบันทึกรวมถึงการวาดภาพเพื่อเก็บเรื่องราวที่หลากหลาย ชอบเดินทางท่องเที่ยวและเน้นความครบถ้วนจบทุกฟังก์ชั่นการใช้งานในสมุดเล่มเดียว สามารถตกแต่งเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มประโยชน์ใช้สอยที่ทำได้อย่างอิสระ อีกทั้งสิ่งที่สำคัญที่สุดของความเป็น “สมุด” ก็คือ “กระดาษที่เขียนได้ดีที่สุด” ไม่ว่าคุณจะใช้ดินสอ ปากกาลูกลื่น หรือแม้กระทั่งปากกาหมึกซึม กระดาษก็จะไม่ใช่ข้อจำกัดในการบันทึกจินตนาการของคุณอีกต่อไป ผมเชื่อแน่ว่าด้วยจุดเด่นทั้งหมดทั้งมวลของ TRAVELER’S Notebook เล่มนี้ มันจะเป็นสมุดที่เข้ากับไลฟ์สไตล์ของคุณเป็นที่สุดครับ
ใครใช้อยู่อยากให้ลองมาโพสรูปสมุดแลกเปลี่ยนกันดูบนเพจบีบีบล็อกนะ ผมอยากเห็นจริงๆ ว่าสมุด TRAVELER’S Notebook ที่สื่อถึงความเป็นตัวคุณจะมีหน้าตาเป็นอย่างไรครับ
[wp-review]
ขอขอบพระคุณ
บริษัท ไอซีซีพี จำกัด (ICCP Co., Ltd.) ทีใจดีมอบสมุดสุดฮิปสเตอร์อย่าง TRAVELER’S Notebook เล่มนี้มาให้ผมได้ใช้งานครับ ทุกวันนี้หลงจนอยากจะลางานแล้วออกเดินทางท่องเที่ยวรอบโลกเลย ขอบพระคุณครับ!!
…อย่าลืมทำพาสปอร์ตก่อนนะลูก