สวัสดีค่ะ กลับมาพบกับเคียในคอลัมน์ How to Draw สำหรับสีน้ำเนอะ
คราวที่แล้วเราพูดถึง เทคนิคสีน้ำขั้นพื้นฐาน กันไป ใครยังไม่เคยอ่าน อันนี้คงต้องขอให้กลับไปอ่านกันสักหน่อย เพราะเราจะค่อยๆ ไปกันทีละสเต็ปเนอะ
เราได้เพ้นท์ของง่ายๆ อย่าง “ส้ม” จากโพสก่อนกันไปแล้ว ก่อนที่จะขยับไปอะไรที่ซับซ้อนกว่านั้น นุ้งเคียขอลากท่านกลับมาสู่เรื่องเบๆ ที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ หลายคนรู้จนเบื่อแล้ว แต่ยังไงก็ต้องเรียน เพราะมันช่วยได้เยอะน่ะนะ นั่นก็คือ
พื้นฐานการผสมสี
ก่อนอื่น
เราเชื่อว่าทุกคนที่เคยเรียนศิลปะย่อมต้องรู้จักคำว่า “แม่สี” …ใช่มั้ยคะ?
(คนอ่าน: ถึงรู้ หล่อนก็พูดอยู่ดีเฟ่ย…)
แม่สี (Primary Color) คืออะไร?
อื้ม … ถ้าเทียบกับคณิตศาสตร์ก็คือ “จำนวนเฉพาะ” นั่นเอง
แม่สีคือสีพื้นฐาน 3 สี ที่เป็นรากฐานของสีทั้งหมดจำนวนอนันต์โทน ในโลก และไม่มีสีไหนที่ผสมออกมาได้เป็นตัวมัน
3 สีนี้สามารถผสมกันเองออกมาได้หลายสี
แม่สีประกอบด้วย
- สีแดง RED
- สีน้ำเงิน BLUE
- สีเหลือง YELLOW
(ตามภาพ พยายามใช้สีแดง น้ำเงิน เหลือง ที่ตรงกับโทนแม่สีที่สุดแล้วค่ะ )
วงจรสี ( Color Wheel)
แม่สีสองสี คลอดลูกออกมาเป็นลูกสี #ทำลายกฏเกณท์ว่าต้องมีทั้งแม่และพ่อถึงจะมีลูกได้ #ความรักก็เช่นกัน
….เดี๋ยว ไม่…
ลูก ที่เกิดจากแม่สีสองสีผสมกัน ในอัตราส่วนที่เท่ากัน 50:50 เราเรียกว่า
“Secondary Color” หรือ สีขั้นที่ 2
น้ำเงิน + เหลือง = สีเขียว Green
เหลือง + แดง = สีส้ม Orange
แดง + น้ำเงิน =สีม่วง Violet
ผสมออกมาได้ดังที่เขียนประกอบไว้
สีม่วงออกมาช้ำเลือดช้ำหนองมาก สีส้มก็หม่นมัวเช่นกัน
เหตุใดจึงเป็นเช่นนี้?!…ขอยกยอดไปอธิบายในหัวข้อต่อไป (aka. อ่านไปก่อนเดี๋ยวบอก)
“Tertiary Color” หรือสีขั้นที่3
คือการสร้างสีใหม่ 6 สี
จากผสมสีขั้นที่ 1 กับสีขั้นที่ 2 หรือดูง่ายๆ จากภาพ คือการเพิ่มสี ไปตามสีข้างๆ ใน Color wheel
เช่น
- ช่องที่อยู่ระหว่างสีม่วง กับ สีแดง ก็ใช้สองสีนี้ผสมกันออกมาได้ สีม่วงแดง
- ช่องที่อยู่ระหว่างสีม่วง กับ สีน้ำเงิน ผสมกันได้ สีม่วงน้ำเงิน
- สีส้ม ผสมกับ สีแดง = สีส้มแดง
- สีส้ม ผสมกับ สีเหลือง = สีส้มเหลือง
- สีเขียว ผสมกับสีเหลือง =สีเขียวเหลือง
- สีเขียว ผสมกับสีน้ำเงิน = สีเขียวน้ำเงิน
สีผสมเอง VS สีสำเร็จจากหลอด
อย่างที่พูดไปว่าแม่สีสามารถผสมสีออกมาได้อนันต์ตามความเข้มของสี 1 สี 2 ที่เราต้องการ ….
แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราควรจะซื้อสีน้ำแค่ 3 หลอดมาผสมเอง!!
นั่นก็เพราะว่า สีน้ำที่ผสมเองจากแม่สีมักจะขาด ความใส ในแบบที่ศิลปินมักจะต้องการ ไป
สีของมันมักจะดูหนัก – ข้น- หม่น- ไม่ค่อยเป็นธรรมชาติ
อย่างที่เห็นในภาพว่าสีเหลืองนั้นใสแจ๋วก็จริง(เพราะไม่ได้ผสม) แต่สีส้มกลับดูหมองๆ สีม่วงยิ่งแล้วใหญ่
ภาพนี้เปรียบเทียบสีน้ำผสมจากแม่สี กับสีน้ำโทนสีที่ใกล้เคียงจากหลอดสี
วงจรสีรอบนอกคือสีผสมเอง ส่วนวงในที่เล็กกว่าคือสีที่บีบออกมาโดยตรงค่ะ เขียนชื่อสีประกอบไว้แล้วเพื่อความเข้าใจง่าย
- แดง Cadmium Red
- ส้มแดง Vermilion Hue
- ส้ม Orange
- ส้มเหลือง Yellow Deep
- เหลือง Cadmium Lemon
- เขียวเหลือง Permanent Green
- เขียว Permanent Green No.2
- น้ำเงินเขียว Viridian Hue
- น้ำเงิน Ultramarine
- ม่วงน้ำเงิน Purple Lake
- ม่วง Mineral Violet
- ม่วงแดง Crimson Lake (สีนี้ออก Magenta หน่อยๆ)
นอกจากความใสแล้ว ยังมีเรื่องของความ “แจ๊ด” ของสีด้วย
ลองสังเกตดูว่าสี Crimson Lake หรือสีม่วงแดงในภาพ ผสมเองเท่าไหร่ก็ไม่ออกมาเป็นสีนี้สักที เพราะสารตั้งต้น หรือแม่สีนั้นไม่สามารถคุมให้ไปทางนั้นได้
ศิลปินเรื่องมากอย่างนุ้งเคียที่นอกจากจะผสมอะไรก็ออกมาไม่ได้ดั่งใจ แล้วยังขี้คร้านจะดีลกับความเน่าของมัน เลยซื้อไปหมดทุกโทนที่ต้องการ ฮ่ะฮ่าาาา
แต่ไม่ใช่กับสีเกรดศิลปินแบบ Single Pigment นะ! จริงอยู่ที่ถ้าเราผสมสีเข้ากันหลายๆ สีแล้วจะเกิดอาการสีเน่าสีหม่น แต่ว่าถ้าหากเราใช้สีเกรดศิลปินที่เป็นแบบ single pigment ที่ใช้ผงสีแค่สีเดียว ก็จะทำให้เวลาที่ผสมสีเข้าด้วยกันสีก็จะไม่หม่น เพราะว่าสีที่ได้นั้นเกิดจากการผสม pigment แค่ 2 สีนั่นเอง (รออ่านเรื่อง pigment จากพี่ปอนด์อีกทีนะคะ)
ผสมสีนอก Color Wheel
ถ้าท่านผู้อ่านที่รักเคยเรียนสีโปสเตอร์ สีอะคริลิค หรือสีชนิดอื่นมา… เวลาเราขอให้ท่านผสม สีชมพู ด้วยสีน้ำ ท่านจะทำอย่างไร?
ติ๊กต่อก ติ๊กต่อก…
หมดเวลา!!!
อ๋อ รู้แล้วพี่นุ้งเคียย ♥ ใช้สีแดงผสมสีขาวใช่ม้ายยย?
เป็นคำตอบที่………
ผิดโฟร้ยยยยยย!!!
Technically, (แปลว่าไรง่ะ) …. อืม โดยเทคนิคแล้ว “สีน้ำ ไม่มีสีขาว”
ฮั่นแน่ อย่าเพิ่งตกใจ สิ่งใดที่เป็นสีขาว จะถูกแทนที่ด้วยน้ำ หรือการเว้นขาว โดยปริยาย
/มาถึงตอนนี้ เชื่อว่าทุกคนจะมีคำถามว่า อ้าว แล้วสีขาวที่ให้มาในกล่องสีน้ำแบบตลับ หรือหลอดแบบที่มันแพ็ครวมมาเลยนี่ยังไง ต้องการอะไรจากสังคม? … อันนี้นุ้งเคียตอบไม่ได้เช่นกันค่ะ ไม่เคยตอบได้เลย เป็นความลึกลับของจักรวาลอันไกลโพ้นจริงๆ ตั้งแต่เปิดกล่องมา มีสีขาวอยู่สีเดียวที่ปล่อยไว้ไม่เคยบีบออกมาใช้ ฮ่าฮ่า
นั่นหมายความว่า เราจะไม่ใช้สีขาวผสมสีน้ำเงินเพื่อให้ได้สีฟ้าอ่อน ไม่เอาสีขาวผสมสีแดงให้ได้สีชมพู เพราะถ้ารั้นจะทำแบบนั้นแล้วล่ะก็ สีที่ออกมาจะกลายเป็นความด่างพร้อยของวงตระกูลเป็นอันมาก
นอกจากมันจะขุ่นมัว ไม่ใสแล้ว มันยังไม่สามารถ blendตัวเองให้เข้ากับสีอื่นได้อีกด้วย (แต่ถ้าเอาไว้แต้มเป็นจุดๆ เหมือนสีโปสเตอร์ก็อีกเรื่องนะ)
อ้าว แล้วคำถามที่พี่นุ้งเคียถามไปตอนแรกล่ะคะ?
ไม่ใช่แค่สีชมพูนะ ถ้าเป็นสีเนื้อ หรือสีน้ำตาลล่ะคะ ?
….อันนี้ต้องใช้การพลิกแพลงนิดหน่อยค่ะ
ก็ถือว่าได้ใกล้เคียงกับที่ต้องการพอสมควรเลยนะ
- สีชมพู ลองเอาสีแดงผสมน้ำเยอะๆ แล้วพบว่าไม่เวิร์ค มันจะออกมาเป็นแดงอ่อนแรงที่ไม่ใช่สีชมพูอะ
ในภาพนี้เราใช้สีม่วงแดง ผสมกับสีส้มแดง แล้วผสมน้ำเยอะๆ อีกที ออกมาได้สีเหมือนพุงปลาแซลมอน น่ากิงมาก - สีเนื้อ ใช้ในงานพอเทรต งานวาดการ์ตูน ใช้สีเหลืองส้ม ผสมกับส้มแดง ผสมน้ำเยอะๆ เช่นกัน
สีชมพูกับสีเนื้อ มีขายแบบหลอดเหมือนกันนะ แต่ไม่ใช่ทุกยี่ห้อ ที่เราใช้เป็นของ Holbein จ้ะ
สีกลาง
สีกลาง คือสีที่เข้ากันได้กับทุกสีใน Color Wheel คือสีน้ำตาลกับสีเทา
- สีน้ำตาล เกิดจากสีคู่ตรงข้ามผสมกัน ในภาพเราใช้สีส้มผสมสีน้ำเงินค่ะ สีน้ำตาลจะมีคุณลักษณะพิเศษ คือถ้าเราอยากได้สีอะไรที่เข้มขึ้น ให้เราผสมกับสีน้ำตาล ตามปริมาณที่ต้องการ สีนั้นก็จะเข้มขึ้นโดยไม่เปลี่ยนแปลงค่าสีมากนัก จำไว้นะเพื่อนรัก อยากให้สีเข้มขึ้นอย่าเที่ยวผสมกับสีดำ ไม่ดีๆ ….
- สีเทา เกิดจากทุกสีในวงจรสีผสมกัน เอ้า จริง 55555 สีจะออกมาในลักษณะเละๆ บวมๆ อืดๆ แต่นั่นแหละคือสีเทา มักใช้เป็นเงาของภาพ
เหมือนจะเป็นสีดำที่ผสมกับสีขาวอีกน่ะนะ แต่ก็ไม่เชิง ซึ่งสีนี้นุ้งเคียสาธิตให้ดูไม่ได้ เพราะในตลับสีน้ำของนุ้งเคียไม่มีสีดำค่ะ ….สีดำเมื่อผสมน้ำให้จางลงจะดูไม่คล้ายกับสีเทานัก จะเหมือนสีดำที่จางลง แต่ก็ไม่ใช่สีเทาอยู่ดี …เหมือนสีแดงที่ผสมน้ำมากๆ ก็ไม่ใช่สีชมพูอยู่ดีนั่นแหละ
สีที่ผสมเองไม่ได้
สีน้ำมีจุดอ่อนที่สีในคอมพิวเตอร์ไม่มี …
นั่นคือ สีน้ำที่ผสมเองค่อนข้างจะลิมิต ไม่สามารถสร้างเฉดที่เราต้องการได้ในบางเฉด อย่าง สีโทนพาสเทลของ Holbein และสีโทนจี๊ดจ๊าดอลังการงานสร้างมากจนผสมไม่ได้ของ Sennelier
ในภาพนั้นมี ม่วงดอกไลแลค ฟ้าอ่อน เขียวมิกุ เขียวมุ้งมิ้ง และชมพูลูกท้อ (นี่แกตั้งชื่อเองหมดเลย….)
ผสมยังไงก็ไม่ออกมาเป็นโทนนี้ เชื่อสิ 5555555
วิธีแก้มี 2 ทางเท่านั้น คือ
- ซื้อเอา
- ไม่ต้องใช้
#จะโดนคนอ่านตบหัวแตกก็วันนี้…
นอกจากนั้นยังมีสีเงิน สีทอง สีประกายมุกทั้งหลายที่เขาไม่ขายกันหรือหาซื้อยากมากเวอร์
เราขอไม่พูดถึงมัน นอกจากหาซื้อไม่ได้แล้วยังสแกนไม่ติดอีก 555555
อุณหภูมิของสี (Color Temperature)
บ้างก็เรียกว่า “วรรณะของสี” แบ่งเป็น 2 วรรณะ ซึ่งในที่นี้ขอเรียกว่า “โทน” จะคุ้นหูกว่า
- โทนเย็น Cool Tone
- โทนร้อน Warm Tone
จะเรียกหยินหยางก็ได้นะ ดูจากที่มันขีดกลาง color wheel แล้วก็คุ้นๆอยู่ 5555
มีสีม่วงกับสีเหลือง ที่เป็นได้ทั้งสองโทน เพราะสีม่วงเป็นลูกผสมระหว่าง แม่แดงกับแม่น้ำเงิน ผู้เป็นตัวแม่ของร้อนกับเย็น ส่วนแม่เหลืองนี่เรียกว่านางเดินทางสายกลางมาแต่แรกแล้วก็ว่าได้ เป็นสีโทนกลางที่ให้ความสว่างแก่โลกใบนี้
แต่เดี๋ยวก่อน ท่านผู้อ่านที่รัก
ถ้าเราแยกแบบดื้อๆ เราอาจจะเห็นสีโทนร้อนกับเย็นเป็นดังภาพข้างบนก็จริงอยู่
เรากำหนดสีแดงเป็นโทนร้อน สีฟ้าเป็นโทนเย็น แต่ครูสอนสีน้ำของนุ้งเคียกล่าวว่า
“เราสามารถสร้างสีแดงที่เย็น หรือสีฟ้าที่ร้อนก็ได้”
กรุณาดูภาพด้านล่างประกอบ (เละไปไม่นิด 5555)
- ถ้า “สีแดง” มีความโน้มเอียงไปยัง “สีฟ้า” นั่นคือสีแดงโทนเย็น
- ถ้า “สีแดง” โน้มเอียงไปยัง “สีเหลือง” นั่นคือสีแดงโทนร้อน
ภาพชาร์ตสีที่เห็น นุ้งเคียเริ่มผสมสีจาก Primary หรือแม่สีที่ต่างกัน
- แท่งบนที่เป็น Warm tone ใช้สี Cadmium Red ซึ่งเป็นแดงสด / Yellow Deep เหลืองสด / Ultramarine น้ำเงินสุดๆ
- แท่งล่าง Alizarin Crimson ซึ่งก็เป็นสีแดงเฉดหนึ่ง ออกไปทางชมพูม่วง (แต่ก็ยังเป็นแดงอยู่) / Cadmium Lemon เหลืองมะนาว ที่อมเขียวหน่อยๆ / Cerulean Blue ไม่รู้จะแปลยังไง มันไม่ใช่น้ำเงิน มันคือสีฟ้าสงบ (มหกรรมนุ้งเคียตั้งชื่อสีเองอีกแล้ว)
สีที่ผสมออกมาอย่างที่เห็น จะให้อารมณ์คนละความรู้สึกกัน แต่ก็สามารถเอาไปค้านคนที่กำหนดสีตายตัวได้แหละน่า ว่าสีแดงที่เย็นก็มีอยู่นะเฟ้ยยย
ตัวอย่างการใช้โทนสีร้อนกับเย็นในหัวข้อ “ผู้หญิงผมดำ ใส่เสื้อสีเหลือง”
อย่างที่บอกว่าเราไม่มีสีดำในตลับสีของเราเลย สีที่สื่อถึง “สีดำ” ของเรามักเป็นสีคู่ตรงข้ามที่ใช้เบรคโทน
อย่างแสงสีส้ม เราใช้เงาผมดำด้วยสีน้ำเงิน / ส่วนภาพแสงฟ้า เราลงเงาผมเป็นสีน้ำตาล
สีคู่ตรงข้าม VS สีโทนใกล้เคียง
ความสัมพันธ์อันซับซ้อนของสีคู่ตรงข้าม
สีคู่ตรงข้าม หมายถึงสีที่อยู่ตรงข้ามกันใน Color Wheel …นั่นก็คือ
- แดง – เขียว
- ม่วง- เหลือง
- ส้ม – น้ำเงิน
มีความสัมพันธ์พิเศษที่เรียกว่า Complimentary Pair หรือคู่ที่ต่างกันแต่เติมเต็มซึ่งกันและกัน (เออ ซับซ้อนจริง)
เมื่ออยู่ใกล้กัน สีหนึ่งจะขับอีกสีหนึ่งให้เด่นขึ้น รุนแรงขึ้น แดงเป็นแดง เขียวเป็นเขียว
ในการใช้งานต้องระมัดระวังสักหน่อย การป้ายสีคู่ตรงข้ามลงไปตรงๆ จะทำให้งานดูโหด ไม่กลมกลึง ไม่เป็นธรรมชาติ ถ้าเป็นไปด้วยควรผสมสีอื่นลงไปในสีใดสีหนึ่ง เช่น ส้ม-น้ำเงิน ให้เติมสีม่วงลงไปในสีส้มนิดหน่อย ก็จะดูตัดกันน้อยลง
หรือการเลี่ยงไปใช้สีที่อยู่ข้างๆแทน เช่นเปลี่ยน ส้ม-น้ำเงิน มาใช้ ส้ม-ม่วง ก็จะทำให้ภาพดูซอฟท์ลง เป็นแสงกับเงาที่ธรรมชาติขึ้นได้ค่ะ
การสนับสนุนซึ่งกันและกันของโทนที่ใกล้เคียง
ความสัมพันธ์แบบ Harmony / Enhance คือการใช้สีที่อยู่ใกล้ๆ กันใน Color Wheel
เป็นการใช้คนละอย่างกับสีคู่ตรงข้าม … สีแบบใกล้เคียงกันจะทำให้ภาพลุ่มลึกเป็นโทนเดียวกัน เหมือนเวลาไปร้านกาแฟแบบอังกฤษ แล้วเจอสุภาพบุรุษใส่สูทผูกไท หมวกทรงเตี้ย ถือไม้เท้ามานั่งจิบชา ทานสโคนไปด้วยอย่างไรอย่างนั้น
ภาพที่ใช้สีโทนใกล้เคียงกันจะดูแล้วสบายตาค่ะ แต่ก็ต้องระวังสบายตาเกินไปจนหาจุดเด่นไม่ได้ด้วยล่ะ
จบแล้วค่ะ ฮู่ววว นี่ไม่ได้คิดจะเขียนอะไรยาวเหยียดขนาดนี้เลย ไม่รู้ว่าอธิบายให้ง่ายขึ้นหรือยากขึ้นเหมือนกันนะ
ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าคุณผู้อ่านที่รักจะสามารถเข้าใจวงจรสี การผสมสี และการใช้ความสัมพันธ์ของสีขึ้นมาไม่มากก็น้อยนะคะ
ถึงไม่เข้าใจก็อ่านผ่านตาไว้สักครั้งก็ยังดี ให้มันเข้าสู่ส่วนลึกของซับคอนเชียส เผื่อว่าสักวันจะฉุกนึกขึ้นมาและนำมาใช้ประโยชน์ได้
ปิดท้ายด้วยการลองเอางานสีน้ำที่ผ่านๆมาใส่ลงไปใน Color Wheel ดูบ้าง
แหะ พบว่าตัวเองลงเป็น Cool Tone มาตลอดเลยค่ะ ชอบสีหม่นๆ ฟีลเย็น-กลางคืนมากกว่า
ใครอยากลองเอางานมาใส่ Color Wheel ก็ ดาวน์โหลดcolor wheel template ได้ที่เว็บนี้เลยค่ะ http://sunset.sdbx.jp/pixiv_psd/
เจอกันใหม่ในโพสหน้า
เลิฟยอลค่ะ
-kia