สวัสดีค่ะ
ยินดีกับคุณผู้อ่าน และบล๊อกนี้ด้วยนะคะ ที่มีคุณหลุยส์มาเป็นนักเขียนเพิ่มอีก 1 ราย *รัวมือ* เย้ๆๆๆ
แต่นั่นไม่ได้ทำให้นุ้งเคียสามารถอู้งานเขียนของตัวเองได้ #กรรม
สำหรับโพสท์ How to Draw #1 – #3 ก็ขอบคุณกระแสตอบรับจากคุณผู้อ่านด้วยจริงๆ น้องมีกำลังใจมากๆ ที่จะเขียน เนื่องด้วยตัวน้องเองเป็นคนวิตกจริต เขียนอะไรก็กลัวจะผิด กลัวจะไม่ตรงใจคนอ่าน กลัวจะยากไป กลัวพี่ปอนด์จะตบหัวแบะ
แน่นอนว่าทุกโพสท์มันจะยากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าตามไม่ทันก็บอกกันนะคะ
หัวข้อของ How to Draw ที่ผ่านๆ มาจะพูดถึงเรื่องพื้นฐานสี กับเทคนิคที่ควรทราบเป็นหลัก ซึ่งถ้าใครยังไม่ได้อ่าน (เน้นว่า ตอนที่ 2) ขอให้ไปอ่านแล้วลองทำตามกันดูก่อน เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ท่านทั้งหลาย และญาติของท่านทั้งหลาย (เดี๋ยว)
วาดภาพ(ไม่เชิง) Still Life
ตามหัวข้อของโพสท์นี้ คือ การวาดภาพจากของใกล้ตัว
ในเชิงการฝึกดรออิ้งวัตถุที่ถูกจัดฉากกับแสงเงา เขาเรียกว่า Still life หรือการวาดภาพหุ่นนิ่ง ซึ่งถ้าจะทำอย่างนั้นต้องจัดคอมโพสทั้งภาพให้สวยงาม แบ่งสัดส่วน ยุ่บยั่บ ท่านผู้อ่านที่น่ารักสามารถ google ดูได้ตามอินเทอร์เน็ตโดยไม่ต้องมาอ่านบทความของนุ้งเคีย (…)
ทว่า ในโพสท์นี้ นุ้งเคียได้ปรับให้เข้ากับท่านผู้อ่านที่เพียงมีใจรักอยากสเก็ตช์ ให้เริ่มจากสิ่งที่เบสิคซิมเปิ้ล ไม่ต้องจริงจังมากก่อน จะได้สนุกไปด้วยกันได้
นั่นก็คือ “วาดแค่สิ่งของ” และ “วาดจากการสังเกตเท่าที่จะทำได้ ด้วยสไตล์ของท่านเอง”
ยกตัวอย่างเช่น ขวดมิริน ที่แปะรูปไว้ด้านบนค่ะ มันมาจากห้องครัวบ้านเราเอง กรั่กก
เรามองเห็นอะไรจากขวดๆ นี้ล่ะ?
รูปร่างต่างๆ ใช่หรือไม่?
จตุรัส ผืนผ้า คางหมู วงรี วงกลม ล้วนเป็นรูปร่างเรขาคณิตที่เราคุ้นชินกันมาตั้งแต่เด็ก เราอาจจะคิดว่าไม่สำคัญ
เพราะคิดว่าพอโตแล้วเราก็แค่วาดรูปจากการปัดดินสอไปมาจากสิ่งที่เห็นและจินตนาการของตัวเอง
แต่จริงๆ แล้วรูปร่างง่ายๆ แบบนี้จะช่วยเราได้อย่างมากในการร่างภาพ เมื่อเริ่มจากการมองทุกอย่างที่มองได้ให้เป็นเรขาคณิต (ยกเว้นบางอย่าง เช่น กล้วย ที่ดูยังไงก็ไม่เป็น ไรงี้)
เมื่อกำหนดรูปร่างคร่าวๆ แล้วก็ลองร่างลงกระดาษสีน้ำ ปรับสัดส่วนที่โค้งมน
คนที่เห็นเราลงสีน้ำชอบคิดว่าเราเส้นสะอาดตั้งแต่แรก วาดเลยลงเลย …แต่ที่จริงเส้นเราสกปรกมาก ต้องเคลียร์หลายขั้นตอน
ก็ตามที่เห็นดังภาพ วาดขวดที่มีส่วนเว้าส่วนโค้งของทรงกระบอก ย่อมต้องกำหนด “เส้นสายตา”
เส้นสายตา คือเส้นที่เรากำหนดเอง ส่วนมากจะอยู่กึ่งกลางของ object บางทีก็อยู่ข้างบน แล้วแต่ว่าเราเลือกวาดจากมุมไหน ก็ต้องปรับตาม ไม่มีกฏตายตัว เพราะเราเลือกวาดจากการสังเกตสิ่งที่เราเห็น
เส้นโค้งที่อยู่ใกล้เส้นสายตาจะเว้าน้อยกว่าเส้นที่อยู่ห่างออกมา
เมื่อปรับจนพอใจแล้ว ใช้ยางลบค่อยๆ เกลี่ยเส้นร่างที่ไม่จำเป็นออกให้หมด
*คำเตือน*
ต่อไปเป็นเทคนิคเฉพาะตัว ลงให้ดูเทคนิคที่บางท่านสามารถเอามาประยุกต์ใช้ นะฮับ เราลงแบบเด็กที่เขาติวๆ หรือแบบสเก็ตช์ไม่เป็น
เคลือบน้ำทับเส้น
ต้องให้แน่ใจว่าเราไม่คิดจะแก้เส้นดินสออีกแล้วจริงๆ จึงจุ่มพู่กันลงในน้ำเปล่า แล้วลากเบาๆ ทับเส้นดินสอทั้งหมด
เราจะทำแบบนี้ทุกครั้งที่วาดภาพใหญ่ มีฉาก มีคน ฯลฯ
เทคนิคนี้เมื่อแห้งแล้ว เส้นดินสอจะไม่เลอะติดมืออีก มีประโยชน์มากเมื่อใช้คู่กับกระดาษอย่าง Arches ที่แค่ร่างนิดร่างหน่อยดินสอก็เละเป็นปื้ดดดไปทั้งหน้าแล้ว
การลงสีพื้น
เรามักจะลงสีพื้นทันทีที่เคลือบน้ำทับเส้นเสร็จค่ะ บางทีก็ทำไปพร้อมกันเลย ทำได้โดยการจุ่มพู่กัน หยดสีลงในพื้นที่เปียก พยายามไม่ให้เลยเส้นขอบ ถ้าเลยก็ใช้ทิชชู่ซับ
สีพื้นที่เราเลือกจะไม่มีสีที่เข้ม
เพราะเราเป็นคนมือหนัก เรามักจะลงอ่อนสุดใน layer แรก เลือกสีที่อ่อนสุดในสเกลสีนั้นๆ …เช่น object เป็นสีน้ำเงิน ก็จะลงสีพื้นเป็นสีฟ้าอ่อน มีแทรกสีบ้าง ไม่แทรกบ้าง เป็น textureไป จะเป็นประโยชน์มากเวลาลงภาพใหญ่ๆ แบบวาดฉาก ถ้าได้เขียนโพสท์เกี่ยวกับการวาดทั้งฉากจะพูดถึงเรื่องนี้อีกที
เมื่อหยดสีลงไปแล้วก็รอให้แห้งค่ะ แล้วเราจะเริ่ม layer ที่ 2 กัน
ต่อไป (อธิบายในภาพไปแล้ว ไม่รู้จะสอนอะไรดีแล้ว…)
ก็คือการลงสีจากสิ่งที่เห็น พยายามเอาสิ่งของไว้ในระดับเส้นสายตาของตัวเอง ถ้ามองเห็นไม่ถนัดก็ยกขึ้นมาดูรายละเอียด
เราลงเงาด้านหลังที่อยู่หลังสุดก่อน เพราะมีสีที่จางที่สุด แล้วค่อยไล่มาข้างหน้า
โลโก้สติกเกอร์ เป็นส่วนที่เราชอบเพ้นท์ที่สุด
เราจะไม่เพ้นท์แบบเลียนแบบฟ้อนท์ให้ต้องเหมือนเป๊ะ หรือก็อปทุกคำพูด
เอาแค่พวกอง์ประกอบข้างในให้ดูออกว่ามันคือขวดมิรินนะ ใช้แถบสีสดๆ ปาดเข้าไปเลย
พอมันออกมา มันก็จะดูมุ้งมิ้งดี
สุดท้ายคือตัดเส้นด้วยพู่กันหัวเล็ก อันนี้ไม่มีเทคนิคอะไรเลย แค่ต้องเพ่งงงงง บางคนก็ไม่ตัด เส้นดินสอสวยแล้วบ้าง ชอบสีอ่อนๆบ้าง ใช้ปากกาตัดเส้นบ้าง
สำหรับเรา เราเลือกใช้สีอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่สีดำตัดเส้นค่ะ มีพี่คนนึง (ชื่อพี่นิโอ ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้) เคยบอกเราตั้งแต่เรายังหัดลงสีว่า ลองเปลี่ยนสีเส้นงานตัวเองดู เพราะการเปลี่ยนสีเส้นจะทำให้บรรยากาศภาพเปลี่ยนไป
เช่นตัดเส้นสีม่วง จะทำให้ภาพดูสนุกขึ้น ตัดเส้นสีน้ำตาล ทำให้ภาพดูนุ่มนวลกว่าสีดำ
การวาดวัตถุสีขาวให้เด่นจากฉากหลัง
กาน้ำชา เป็นวัตถุที่ถ้าดูเผินๆ มันจะวาดตามเรขาคณิตไม่ได้หรอก โค้งไปโค้งมา
แต่เธอจ๋า ลองดูดีๆ ความโค้งของมันสามารถสร้างได้จากวงกลมหลายๆ วง ที่ลากเส้นโค้งเชื่อมติดกัน
แบบนี้จะง่ายขึ้นรึเปล่า?
การร่างก็เหมือนคราวที่แล้ว ใจเย็นๆ ค่อยๆ เติมเส้นให้เป็นไปตามรูปทรงที่ต้องการ แล้วพยายามลบเส้นให้เหลือเส้นเดียว เพื่อความง่ายต่อการลงสี
เนื่องด้วยวัตถุเป็น “สีขาว” ขั้นตอนของการลง “สีพื้น” ของเราจึงไม่มีสีอะไรที่อ่อนกว่านั้น
เราใช้น้ำเคลือบเส้น จากนั้นก็ลงแค่สีที่ใช้เป็นเงา ในที่นี้คือสีฟ้า เพราะแสงในภาพไม่ได้ย้อนแรงขนาดออกมาเป็นเงาดำ
มีวิธีง่ายๆ แบบกำปั้นทุบดิน สำหรับการทำให้วัตถุสีอ่อนโดดเด่นขึ้น นั่นก็คือการลง Background ให้เป็นสีเข้มนั่นเอง
ฉากหลังสีเข้มจะขับให้สีขาวของวัตถุดูสว่างยิ่งขึ้นไปอีก ทั้งที่เราก็ลงเงาสีฟ้าไปแล้ว แต่กลับไม่ได้รู้สึกถึงความเข้มของเงาเท่าไหร่ ก็ต้องมาลง detail ของภาพ และแสงเงาเพิ่มเติมกันอีกที เท่าที่สะดวกใจ
จบแล้วค่ะ การวาดของใกล้ตัว
อ่านจบอย่าลืมทำการบ้านด้วยล่ะ
- วาดของที่อยู่ใกล้มือท่าน
- ลองวาดของหลายพื้นผิว ลองสังเกตเงาสะท้อนจากแก้ว หรือรอยยับของผ้า หรือมุมของของแข็งที่เป็น 4 เหลี่ยม หรือลวดลายของผลไม้ ของแข็ง ของเหลว
- ลองเทคนิคทุกอย่างที่จะลองได้ ไม่ว่าจะเป็นลงเรียบ เปียก แห้ง บรัชสโตรก ทำรอยด่าง ไล่สี ลงเงา
- ประยุกต์ใช้กับงานวาดในแบบของตัวเอง!
ภาพล่าง คือภาพที่เราใช้ม้าหมุนเป็นต้นแบบค่ะ ส่วนตุ๊กตาเต้นรำทั้งสองตัวเป็นตัวละครของเราเอง
เห็นมะ ไม่ต้องวาดตามแบบให้เหมือนเป๊ะ ก็ยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้เลย
สำหรับใครที่บ้านคับแคบ ไม่ค่อยมีของใช้ที่น่าวาด แสงไม่สวย อยากวาด Still life บลาๆ เราก็มีทางออกให้เธอเช่นกัน
เว็บนี้แกลนี้ http://www.photos4artists.co.uk/StillLifeGalleryOne.html รวบรวมภาพ Still life แบบฟรีๆ ให้แก่ศิลปินที่อยากฝึกวาด กล้วย แอปเปิ้ล ขนมปัง มะเขือเทศ
และถ้าลองคลิกไปดูในแกเลอรี่อื่นๆ ของเว็บ ก็มีภาพฉากในยุโรปสวยๆ ให้สูบไปวาดฟรีๆ #ฟรีจริงๆ เป็นสโลแกนของเว็บเลยว่าเอาไปวาดก็ไม่ผิดกฏหมายแต่อย่างใด
เราวิตกจริตจริงๆ นั่นแหละ ว่าเวลาเขียนโพสท์สอนลงสีแล้วมันจะเป็นการปิดกั้นผู้อ่านให้มาลงสีแบบตัวเองรึเปล่า เพราะคนอื่นที่เรียนสีน้ำเขาลง เขาก็ไม่ได้ลงแบบนี้ เราเองสมัยเรียนกับอาจารย์แรกๆ ยังไม่ได้ลงยังงี้เลย แต่ก็กลับไปไม่ได้แล้ว ตอนนี้มีแนวของตัวเองมากเกินไป ฮาา
บทความนี้จึงเป็นเพียงแนวทางการสังเกตก่อนลงสีเท่านั้น นอกนั้นเป็นเรื่องที่คุณผู้อ่านที่น่ารักต้องนำไปใช้ด้วยตัวเอง
เราไม่ใช่อาจารย์ เพราะงั้นเราจะบอกว่า สีน้ำฝึกเองได้ ฝึกจากงานคนที่ตัวเองชอบได้
แต่ อย่ายึดติดเทคนิคของใครเป็นหลัก ชอบแบบไหนก็วาดแบบนั้น
งานที่ต้องวาดตามคนอื่นไปหมดจนประยุกต์ไม่เป็น ถึงจะเป็นสไตล์ที่ดี ก็จะกลายเป็นร่างก็อปปี้ของคนๆ นั้นไป คนที่มองงานของเราก็อาจจะมองว่า “สวย” แต่ “ไม่น่าจดจำ”
ขอให้สนุกกับการวาดภาพนะคะ
เลิฟยอลค่ะ
-kia