สวัสดีค่ะ เคียเอง คิดถึงกันมั้ย? (ไม่)
ไม่ได้เขียนซะนานจนคอลัมน์หยากไย่ขึ้นหมดละ ฮือฮือ เป็นยังไงกันบ้างคะ ว่าจะมาสวัสดีปีใหม่ จนตอนนี้เริ่มกลายเป็นปีเก่าไปเดือนนึงเป็นที่เรียบร้อย….
เรื่องมีอยู่ว่าเปลี่ยนหัวข้อกลางคันนิดหน่อย ตอนแรกว่าจะมาเรื่อง Perspective แต่คุณหลุยส์แกเขียนไปก่อนตอนที่เราแอบไปอู้นอนอยู่ ซึ่งดีแล้วที่แกเขียน เพราะล้ำมาก เราไม่อาจไม่ถึงจุดๆ นั้นได้ (ฮา)
อ่านตอนของคุณหลุยส์ที่นี่ค่ะ How to Sketch #2 : ตีฟจุดเดียว One-Point Perspective
มาวันนี้มีอะไร?
ฮะฮ่า วันนี้มีของใหม่ ใช้ของใหม่ทั้งหมดเลยยยย เย้
กราบขอบคุณร้าน Lamune มา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ
อย่างแรกที่ได้มาคือสีน้ำ Daniel Smith Artist Grade ระดับอลังการดาวล้านดวง
กับ Shinhan ที่เป็นสีน้ำเกาหลี Artist Grade ราคาย่อมเยา
พูดถึง Daniel Smith ก่อน สามหลอดนี้เป็นสีน้ำมีประกายวิบวับ เรียกว่า Iridescent Tone สวยมากมาก กรี๊ดเลย โดยเฉพาะสีตรงกลาง ที่ชื่อ Scarab Red … สีนี้เมื่อลงบนกระดาษจะได้สีทองแดง แต่เมื่อพลิกด้านกระดาษ จะออกเป็นสีฟ้าค่ะ!
สีโทน Iridescent เหมาะสำหรับไว้ใช้ Finish งาน แต่งแต้มงานต้นฉบับให้เปล่งประกายเหมือนแสงดาวเอย เกล็ดนางเงือกเอย ที่สำคัญคือสแกนติด ไม่เป็นกากเพชรราคาถูกด้วย ให้ความรู้สึกแบบงานมาร์ดิกราซ์ที่มีคอนเฟตติโปรยปราย
นอกจากนั้นยังมีพู่กัน Escoda ด้ามไม้ ที่เราอยากได้มานาน กับกระดาษสีน้ำ Khadi แบบหยาบขนาดA4 ที่เราไม่เคยลองมาก่อน
สินค้าทั้งหมดซื้อได้ที่ ร้าน Lamune สยามสแควร์ซอย 10 นะจ๊ะ
เรื่องสาธิตสี ไว้จะมาเขียนนะ♥ /แอบมาหย่อนให้กระหายอยากแล้วจากไป
ก่อนจะเริ่มเรื่อง (เอ๊ะ นี่ก็ไม่เริ่มซะที) วันนี้พี่จะมาแนะนำอุปกรณ์ตัวใหม่สำหรับคอลัมน์เรา
นักวาดทั้งหลายอาจจะเคยใช้อุปกรณ์นี้มาแล้ว แล้ว แล้ว….
นั่นก็คือ คือ คือ…
Masking Ink หรือ Masking Fluid จ้า
แล้วสิ่งนี้มีไว้ทำอะไรเหรอคะพี่เคีย? (ดัดเสียง)
เอาล่ะ เรามาเปิดขวดกัน
ข้างในขวด Masking Fluid จะเป็นน้ำยาง ราคาประมาณขวดละ 200 หาซื้อได้ตามร้านเครื่องเขียนใหญ่ๆ ทั่วไปค่ะ
นักวาดหลายท่านใช้ยางพารา ยางกระป๋องแทน ใช้ได้และราคาถูกกว่าฟลูอิดแบบนี้ แต่คือเราไม่ชอบไง ไม่ชอบกลิ่นยาง ถ้าเป็นกลิ่นฟลูอิดนี่ดมได้ทั้งวัน ♥ (อย่าเอาเป็นแบบอย่างนะจ๊ะ)
การใช้ฟลูอิดกับงานสีน้ำ อย่างแรกเลยเราต้องเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม
- พู่กันที่แน่ใจว่าจะไม่ใช้แล้วจริงๆ / ไม้จิ้มฟันก็ได้ถ้าเสียดายพู่กัน
- กระดาษสีน้ำ (ในภาพคือกระดาษสีน้ำ Khadi แบบหยาบ)
- สีน้ำ
- ยางลบ
…ง่ายมะ
ง่ายเนอะ อืม …
สิ่งสำคัญคือต้องแน่ใจว่าฟลูอิดที่ทาลงไปนั่นแห้งแล้วจริงๆ และเมื่อตอนจะแกะออก สีน้ำนั้นแห้งไปหมดแล้วจริงๆ
มีบางท่านคือใช้เกรียงมาถากฟลูอิดออก หรือใช้มือรูดถูๆๆๆๆ ออก … อืม พี่อย่าทำร้ายตัวเองเลยค่ะ ยางลบนี่ง่ายสุดแล้วจริงๆ
ฟลูอิดใช้ในการสร้างลวดลายเว้นขาวในงานได้ แค่นั้นหรือ?
คำตอบคือ… แค่นั้นแหละ
ถามว่าจำเป็นไหม? ก็ไม่นะ ถ้าคุณชอบเว้นขาวด้วยตัวเอง แต่ถ้าคุณอยากได้งานที่มัน continue ไม่ต้องระแวงเวลาเว้นขาว ปาดทับได้เลย นี่คือทางเลือกที่คุณจะต้องชอบ
งานที่เราเลือกมาสาธิตให้ดูวันนี้คือภาพนี้ค่ะ
(ขอบคุณภาพจากhttp://www.photos4artists.co.uk/ เว็บนี้เปิดให้อาร์ตติสต์เซฟภาพไปใช้เป็นแบบวาดภาพฟรีๆ ค่ะ )
อุปกรณ์วันนี้
- สีน้ำ Shinhan และ Daniel Smith ส่วนมากใช้ Daniel Smith นะ
- กระดาษสีน้ำ Khadi แบบหยาบ ขนาด A4
- พู่กัน Escoda เบอร์ 2 และ 10
- มาสกิ้งฟลูอิดขวดเดิม
และในภาพๆ นี้ เราจะมีการใช้เทคนิดการวาดภาพที่เรียกว่า Aerial Perspective นะคะเพื่อทำให้ภาพดูมีมิติ มันเป็นยังไงนะเหรอ? มาดูกันค่ะ
ภาพหิมะ เป็นภาพที่เหมาะแก่การสาธิตงานฟลูอิดมากที่สุด
ขั้นแรกเราก็เริ่มจากการร่างภาพก่อน ภาพที่มีสีขาวมากๆ พยายามใช้เส้นน้อยๆ เพื่อไม้ให้รกตา (นี่ก็น้อยเกิน)
กำหนดระยะภาพปลีกย่อยด้วย
ปรกติแล้ว เราจะเคลือบสีที่อ่อนที่สุดลงไปทั้งภาพเพื่อทับรอยดินสอไม่ให้เลอะเทอะ
ในเมื่อคราวนี้เงื่อนไขของภาพคือ “หิมะเป็นสีขาว” เราจึงปล่อย Foreground (ระยะหน้า) ให้ขาว โดยไม่ลงสีเหลืองทับลงไป
เมื่อลงสีอ่อนๆ แล้ว จะเห็นฟลูอิดชัดเจนขึ้นมา
( การแทรกสี การเบลนด์สี ถ้าไม่เข้าใจให้กลับไปอ่านโพส How to Draw #2 : เรียนรู้การใช้สีน้ำและเทคนิคสีน้ำขั้นต้น นะคะคุณผู้อ่านที่น่ารัก)
ต้นไม้ระยะหน้า
ต้นไม้ระยะหน้า จะเป็นต้นไม้ที่สีเข้มข้นที่สุด ลงสนุกมือที่สุด
การระบายสีแบบแทรกสีไปมาตลอดทั้งภาพ จะต่างจากการระบายทับทีละชั้นเหมือนโพสก่อนๆ
มีกฎง่ายๆ แต่ทำยาก คือ ความกล้า (ลงสีเข้มผสมกัน) และ ความสม่ำเสมอ คุณผู้อ่านแค่ต้องอดทนอดกลั้นไม่ให้ตัวเองขี้เกียจกลางคันเสียก่อน แล้วค่อยๆ ทำแบบนี้ไปทีละต้น ทีละต้น
ในเมื่อเราไม่จำเป็นต้องกังวลกับการเว้นขาวอีกต่อไป
จัดไปเต็มๆ ได้เลยค่ะคุณ อย่าลืมคอยเติมเงาใต้หิมะด้วยนะ
Aerial Perspective
Aerial Perspective คำคำนี้สามารถต่อยอดไปได้อีก 1 โพส
แต่ไม่เป็นไร ทุบหม้อข้าวตัวเองอธิบายลงในโพสนี้ให้หมดเลยแล้วกัน ฮือ ฮ่าๆ
Aerial Perspective คือภาพเชิงลึกที่แบ่งด้วยความเข้มของสีและแสง ไม่ใช่การตีเปอร์เป็นจุด ทำให้ภาพดูมีความลึก เพราะมีสีที่อ่อนกว่าและเข้มกว่า
ดังเช่นภาพประกอบ
โดยทั่วไปแล้ว ภาพจะแบ่งระยะได้ 3 ระยะ
Foreground หรือ กรอบของภาพ ระยะหน้า
Middle Ground เรื่องราวของภาพ ส่วนใหญ่คอนเสปต์ของภาพ จะอยู่ใน Middle Ground
Background ฉากหลังของภาพ ไม่มีก็ไม่เป็นไร แต่มีแล้วภาพจะถูกเติมเต็ม มีแล้วสวย บอกเลย
จะไม่อธิบายทฤษฎีให้มากไป สำหรับภาพนี้เราก็ได้ใช้หลักการเดียวกันคร่าวๆ ออกมา
- ต้นไม้ระยะหน้า สีดำคละสีเขียวแก่
- ต้นไม้ระยะกลางเองก็แบ่งเป็นหลายสี เพิ่มให้เหมือนมีหลายๆ ต้นซ้อนทับกัน
- Background เป็นส่วนของพุ่มไม้ด้านหลัง fade ไป ไม่เห็นรายละเอียด ใช้สีเหลืองแก่
เราลงสีพุ่มตะคุ่มสีเหลืองแก่ไปด้านหลังก่อน เบามือด้วย อย่าลงแรง
เมื่อแห้งสนิทแล้วจึงมาเติมระยะกลางด้วยพู่กันเบอร์ 2
ไม่มีเคล็ดลับอะไรจะสอนเลย นอกจากความอดทนอดกลั้น
- กิ่งก้านเล็กๆ ของต้นไม้ จะทำให้งานคุณดูประณีตขึ้น แนะนำให้พยายามใส่ให้มากที่สุด
- ใบไม้บนพื้น จิ้มสีส้มกับน้ำตาลสลับกัน ยิ่งอยู่ใกล้สียิ่งเข้ม ไกลแล้วสีอ่อน
- ป่าด้านหลัง : คือคุณต้องค่อยๆ เติมค่ะ ค่อยๆ… เติมทีละเส้น ใส่ดีเทลเยอะๆ วาดต้นไม้ให้มันเป็นต้นไม้ ไม่ลวก เน้น ไม่ลวก ไล่ไปเรื่อยๆ ให้เวลากับเธอ ใช้หลายๆ สีที่ความเข้มออกระดับใกล้เคียงกันในระยะกลาง
- สีฟ้าอ่อนใต้เงาต้นไม้เพิ่มความชุ่มชื้น นิดเดียวพอค่ะ
เมื่อแก้งานจนไม่รู้จะแก้อะไรแล้ว และสีก็แห้งสนิท ใช้ยางลบ ลบ Masking Fluid จากภาพ อย่าง แผ่ว เบา นะคะ เดี๋ยวขาด
เสร็จแล้วล่ะค่ะ เย้
ลองเอากลับไปทำดูนะคะ เน้นย้ำว่ายางพาราใช้แทนฟลูอิดได้ (แต่เราไม่ชอบกลิ่นมัน) ถ้าคิดว่าฟลูอิดราคาแพงไป ลองหายางกระป๋องดูค่ะ
ความรู้ในโพสนี้ หวังว่าจะคุ้มกับ 1 เดือนที่หนูหายไป หายไปไหนมาไม่รู้เหมือนกัน เสียวๆ อยู่ว่าพี่ปอนด์จะหาว่าหนูได้ของขวัญแล้วเชิดหนี (ก๊ากๆๆๆ) ยังไงก็ขอบพระคุณร้าน Lamune สำหรับสีสวยๆ กระดาษดีๆ พู่กันที่จับถนัดมืออีกครั้งค่ะ
สุดท้ายนี้ ลองหัดวาดภาพที่มี “ความลึก” โดยการใช้ระดับสีอ่อนกับสีเข้ม ดูนะคะ
เลิฟยอลค่ะ
-Kia, 2016