สิ่งท้าทายอย่างหนึ่งของการวาดรูปคือการได้รับวัตถุดิบคุณภาพดีในการขีดเขียนผลงาน เรียกได้ว่าอุปกรณ์ดีก็มีชัยไปกว่าครึ่ง อยู่ที่ไหนก็อยากจะหยิบจับอุปกรณ์ออกมาวาดมันเสียหมด จริงมั้ยคะเพื่อนๆ แต่สำหรับคุณเอสเธอร์ ฟอน ฮาลเซน ศิลปินชาวดัชท์นักวาดภาพสัตว์ และสิ่งมีชีวิต วัตถุดิบในงานชิ้นใหม่ของเธอแปลกออกไป เพราะเธอได้รับโอกาสสำคัญในชีวิตก็คือ การได้วาดปลาหมึกยักษ์ที่เคยมีชีวิตอยู่เมื่อ 95 ล้านปีก่อน ด้วยหมึกที่เคยมีอยู่ในตัวของมันเอง พูดได้ว่านี่เป็นน้ำหมึกจากยุคก่อนประวัติศาสตร์ (Prehistoric) กันเลยทีเดียว
มองผ่านๆ เจ้าปลาหมึกยักษ์ในรูปนี่ หน้าตามันก็เหมือนภาพปลาหมึกยักษ์ในยุคปัจจุบัน ไม่เห็นมีอะไรน่าสนใจ แต่เรื่องราวของมันสิคะ เริ่มจากคุณ Jørn Hurum นักบรรพชีวินวิทยาชื่อดังชาวนอร์เวย์ (paleontologist : ผู้ชำนาญวิชาที่ว่าด้วยสัตว์และพืชดึกดำบรรพ์) ได้รับซากฟอสซิลปลาหมึกยักษ์อายุเวลา 95 ล้านปี ซึ่งถูกค้นพบเมื่อปี 2009 ที่ประเทศเลบานอน เป็นของขวัญ ก็เลยนำมาจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ PalVenn ในกรุงออสโล
แต่จะเอามาจัดแสดงเฉยๆ ก็คงไม่สร้างความน่าสนใจให้กับเจ้าฟอสซิลชิ้นนี้เท่าไหร่ ดังนั้น คุณ Jørn Hurum ก็เกิดปิ้งไอเดียว่าหมึกที่ปรากฎอยู่ตรงกลางลำตัวของซากปลาหมึกดึกดำบรรพ์นี้น่าจะเป็นวัตถุดิบชั้นดีในการวาดภาพสเหมือนของตัวปลาหมึกเอง โดยได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องราวของนักบรรพชีวินวิทยาผู้มีบทบาทสำคัญในวงการเก็บศึกษาซากฟอสซิลดึกดำบรรพ์ชาวอังกฤษ แมรี่ แอนนิ่ง ผู้ค้นพบหมึกในซากฟอลซิล และนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการวาดภาพในยุค 1800 ไม่รอช้าคุณ Jørn Hurum ก็ทำการสกัดหมึกออกมาในรูปแบบของผงเม็ดสี (powder) แล้วส่งต่อให้คุณเอสเธอร์ วาดภาพสเมือนปลาหมึก แล้วนำมาจัดแสดงคู่กัน ชวนให้ผู้เข้าชมมองซากฟอสซิล แล้วมองภาพปลากรอบ เอ้ยปลาหมึก แล้วนึกอ๋อว่าเมื่อหลายสิบล้านปีก่อน เจ้าของร่างในซากฟอสซิลเคยมีหน้าตาเป็นอย่างไร
เพื่อนๆ อาจจะคิดว่าขึ้นชื่อว่าหมึก (ink) ก็ต้องต้องคิดถึงสีดำกันใช่มั้ยล่ะคะ แต่เจ้าผงเม็ดสีที่สกัดจากฟอสซิลปลาหมึกดึกดำบรรพ์ตัวนี้กลับให้เม็ดสีออกไปทางโทนสีอุ่น และสีน้ำตาล ซึ่งจริงๆ มันมีที่มาที่หลายคนอาจจะรู้แล้ว แต่ก็อยากจะขอเล่านิดนึงค่ะ ตามธรรมชาติของการนำหมึกในตัวปลาหมึกมาเป็นส่วนประกอบในน้ำหมึก เมื่อผ่านการเขียนเม็ดสีจะค่อยจางเป็นสีน้ำตาลไปตามกาลเวลา เนื่องจากในน้ำหมึกมีส่วนประกอบของสารเมลานิน (Melanin) ซึ่งมีพื้นฐานเป็นสีแดง แต่เมื่อรวมตัวกันมากเข้าในระดับเข้มข้นทำให้เกิดเป็นสีดำ เมื่อสีจางลงก็เลยกลายเป็นสีน้ำตาลนั่นเอง เป็นที่มาของคำว่า สีซีเปีย (Sepia) อ้างอิงจากภาษาลาตินที่แปลว่าปลาหมึกค่ะ
ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่โทนสีที่ได้จะทำให้ภาพปลาหมึกดึกดำบรรพ์ตัวนี้ออกมานุ่มละมุน แถมแอบมีความขลังนิดๆ โดยตัวศิลปินเล่าถึงประสบการณ์การใช้สีชนิดนี้ว่า “สีที่ได้จากฟอสซิลเป็นผงเม็ดสีที่มีความเข้มข้นของสีที่ดี ไม่ต้องทำอะไรมาก เพราะหมึกทำหน้าที่ของมันได้ดีอยู่แล้ว” แถมเธอยังเล่าอีกว่า “พอจินตนาการว่าสีที่กำลังใช้วาดอยู่นี้เป็นตัวช่วยในการเอาตัวรอดของปลาหมึกสมัยที่ยังมีชีวิตอยู่ มันก็น่าตื่นเต้นจริงๆค่ะ”
ถ้าเพื่อนๆ ได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยือนประเทศนอร์เวย์ก็ลองแวะไปชมตัวเป็นๆ และภาพสเมือนของปลาหมึกยักษ์ตัวนี้ได้ที่ Natural History Museum เมืองออสโล แล้วมาเล่าให้แชมฟังบ้างนะคะ
ที่มา :
- http://www.nrk.no/viten/maler-bilder-med-forhistorisk-blekk-1.12931408
- http://www.thisiscolossal.com/2016/05/an-octopus-painted-with-95-million-year-old-ink