Urban Sketching : Thai Edition กำเนิดคัมภีร์สเก็ตช์ภาพฉบับแปลไทย!

in Book by hackhq on 23 Oct 2015

มีคุณผู้อ่านหลายๆ ต่อหลายท่านสอบถามเข้ามามากมายเหลือเกินครับว่าหนังสือเกี่ยวกับการสเก็ตช์ภาพที่ผมรีวิวไปนั้น ทำไม๊ทำไมถึงมีแต่ภาษาอังกฤษ ทำไมไม่มีภาษาไทยเลย! แล้วมันมีหนังสือสอนสเก็ตช์ภาพเล่มอื่นๆ ที่เป็นภาษาไทยอีกมั้ยชั้นอยากวาดเป็น! หมั่นไส้นักไอแอดมินนัก แกเป็นฝรั่งหรือไง?! …ช้าก่อนนะครับทุกท่าน จริงๆ แล้วผมก็อ่านไม่รู้เรื่องหรอกครับหากว่าไม่ได้วุ้นมะพร้าวแปลภาษาของโดราเอม่อน! …มันอ้วนนะรู้มั้ย?

แต่ด้วยความที่พักหลังมานี้ กิจกรรมการสเก็ตช์ภาพและการวาดรูปถือเป็นเรื่องที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นทุกวัน มีหลายคนที่อยากหัดวาดภาพอยากหัดสเก็ตช์ภาพแต่ก็ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไรดี พยายามที่หาข้อมูลต่างๆ จากอินเตอร์เน็ต หาอ่านจากหนังสือสอนวาดภาพที่วางขายอยู่ตามท้องตลาดบ้าง แต่ทว่าหนังสือที่เจาะจงเฉพาะเรื่องการสเก็ตช์ภาพนั้นก็มีแต่ภาษาอังกฤษ อ่านเข้าใจนะแต่บางทีมันก็ตาลายงี้! แต่เนื่องด้วยเพราะพวกเราต่างทำบุญหนักไปกับพวกเครื่องเขียนเยอะแยะเสียจนกระเป๋าฉีก นั่นจึงเป็นเหตุให้พระเจ้าแห่งการสเก็ตช์ภาพประทานพรลงมาในที่สุด!!

แอบขายพ่วง

ใครที่อยากฝึกวาดภาพสีน้ำและหัดสเก็ตช์ภาพ ขอเชิญอ่านบทความบนบีบีบล็อกแห่งนี้ได้นะจ๊ะ How to Draw และ How to Sketch

 

urban-sketching-thai-edition-1

Urban Sketching : Thai Edition (ฉบับแปลไทย)

Urban Sketching : Thai Edition | พื้นฐานและเทคนิคสำหรับการสเกตช์ภาพ (ฉบับแปลไทย) คือหนังสือที่สุดแห่งหนังสือสอนสเก็ตช์ภาพครับ จำได้ไหมครับว่าเมื่อครั้งกระนู้นนนนน ที่ผมได้เขียนมินิรีวิวหนังสือเล่มนี้ไปในตอน “Urban Sketching คัมภีร์สเก็ตช์สอนตั้งแต่หัดคลานยันโผบิน” ว่ามันดีอย่างนู้นอย่างนี้ สอนตั้งแต่เริ่มต้นแบบความรู้เป็นศูนย์ไปจนถึงเทคนิคและแนวคิดในระดับเซียน อีกทั้งยังมีวิธีสร้างสรรค์ผลงานให้โดดเด่นยิ่งขึ้นด้วย แต่ว่ามันเป็นภาษาอังกฤษไง…ผมอ่านทีนี่เหงื่อตกเลย! มาวันนี้ทางสำนักพิมพ์ Infopress และ Digi Art จ้าวแห่งหนังสือ How to หลากหลายที่เกี่ยวกับเรื่องศิลป์ ได้ทำการแปลเป็นฉบับภาษาไทยแล้วววววววว

ซื้อได้ที่ไหน?

urban-sketching-thai-edition-2urban-sketching-thai-edition-3urban-sketching-thai-edition-4

ในตลาดสดฝั่งอาหารทะเลครับ… ปัดโถ่! ผมได้รับการสนับสนุนหนังสือเล่มนี้มาจากสำนักพิมพ์ Infopress และ Digi Art ครับและได้รับการอนุญาตให้สามารถเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนในหนังสือได้ ขอขอบพระคุณครับ! ซึ่งปรกติแล้วหนังสือเล่มนี้มีราคาอยู่ที่ 350 บาท ซึ่งถือว่าถูกมากเพราะว่าเล่มภาษาอังกฤษนั้นขายอยู่ที่ 595 บาทครับ และแน่นอนว่าสามารถหาซื้อได้ไม่ยากเลยนะ ตามร้านหนังสือทั่วไปก็มีให้เห็นเพียบ วันก่อนผมไปเดิน B2S กับ Kinokuniya ก็เห็นวางในหมวดศิลปะครับ ใครที่สนใจก็สามารถเข้าไปจับจองกันได้ก่อนที่จะขายหมดล่ะ

เนื้อหาต่างกับต้นฉบับมากน้อยเพียงใด

urban-sketching-thai-edition-5urban-sketching-thai-edition-6 urban-sketching-thai-edition-7

จากหนังสือต้นฉบับ Urban Sketching คัมภีร์สเก็ตช์สอนตั้งแต่หัดคลานยันโผบิน เห็นว่าราคาถูกกว่ากันตั้ง 200 แล้วมันมีการตัดอะไรออกไปบ้างล่ะ? การที่เป็นหนังสือแปลจากต่างประเทศโดยเฉพาะหนังสือประเภทคู่มือนั้น สิ่งสำคัญที่สุดนั้นก็คือ “ความครบถ้วนสมบูรณ์ของเนื้อหา” หากเนื้อหาที่ผ่านการจัดทำใหม่มีการผิดเพี้ยนหรือตกหล่นไปจากต้นฉบับย่อมไม่ใช่หนังสือที่ดีแน่ แต่หนังสือ Urban Sketching ฉบับแปลไทยเล่มนี้ ผมโคตรจะพยายามจับผิดเลยครับว่ามันมีเนื้อหาส่วนใดบ้างที่ขาดหายไป(เค้าจะเกลียดผมไหมนะ?) แต่ก็ไม่พบว่ามีเนื้อหาบทใดหายไปเลยครับครบถ้วนด้วยจำนวน 128 หน้า ผมเทียบทั้งในสารบัญ เปิดเปรียบเทียบไปทีละหน้าๆ ก็พบว่าเนื้อหามีความครบถ้วนไม่ตกหล่น

urban-sketching-thai-edition-11 urban-sketching-thai-edition-12 urban-sketching-thai-edition-13 urban-sketching-thai-edition-14

และไม่เพียงแค่นั้น! ขนาดการวางเลย์เอ้าต์ของทั้งรูปและกล่องข้อความก็ยังเหมือนกับเป๊ะๆ ขนาดเลขหน้าและเนื้อหาในนั้นก็ยังเป็นอันเดียวกันเลย! เรียกได้ว่าถ้าเพื่อนเราอ่านหนังสือต้นฉบับที่เป็นภาษาอังกฤษแล้วบอกว่า “แกๆ ลองดูรูปขวาบนของหน้า 57 สิ ชั้นว่าโคตรเจ๋งเลย” ก็มั่นใจได้เลยว่าเมื่อเปิดฉบับแปลไทยหน้า 57 ก็จะได้เห็นภาพและเนื้อหาเดียวกัน

แล้วแปลดีมั้ยล่ะ?

urban-sketching-thai-edition-8urban-sketching-thai-edition-9

เรื่องสำคัญที่สุดสำหรับผมในการอ่านหนังสือที่แปลมาจากต่างประเทศนั้นก็คือว่า “แปลดีมั้ย?” หนังสือเล่มนี้เขียนโดย “Thomas Thorspecken” และแปลเป็นฉบับภาษาไทยโดย “ธเนศ สังข์สุวรรณ” ซึ่งผมได้ลองหาข้อมูลดูเบื้องต้น(หรือที่เรียกกันว่าส่อง…) ก็ทำให้ทราบว่าคุณธเนศนั้นจบจากภาควิชาสถาปัตยกรรมครับ นั่นหมายความว่าแกจะต้องมีความรู้ด้านการวาดภาพสเก็ตช์แน่ๆ เพราะการจะแปลหนังสือใดๆ ผู้แปลควรจะต้องมีความรู้ความเข้าใจหรือมีความสามารถในเรื่องนั้นๆ ด้วย ซึ่งนี่ถือเป็นข้อดีสำหรับการแปลหนังสือสอนวาดภาพแนวสเก็ตช์นี้ครับ

urban-sketching-thai-edition-10

มาถึงคำถามหมัดเด็ดพุ่งตรงเข้าที่กล่องดวงใจ… “อ่านรู้เรื่องมั้ย?” ไอปอนด์มันพูดอะไร…ก็มันเป็นภาษาไทยทำไมจะอ่านไม่รู้เรื่องฟระ?!

ไม่ใช่ นะครับ คุณผู้อ่านที่รัก (ยืมคำพูดเคีย มา)

จริงอยู่ว่าถ้าเป็นภาษาไทยเราก็จะสามารถอ่านออกได้ง่าย แต่ว่าจากประสบการณ์การอ่านหนังสือเกินปีละ 7 บรรทัดของผมนั้น ทำให้เคยมีบ้างที่หยิบหนังสือแปลจากต่างประเทศขึ้นมาแล้วดันอ่านไม่รู้เรื่องเลยอันเนื่องมาจากผู้แปลเค้าทำการแปลแบบตรงตัวตามอักษร แปลโดยไม่ดูเนื้อความโดยรอบหรือไม่ก็เพราะไม่มีความเข้าใจเนื้อหานั้นอย่างแท้จริง แต่กับหนังสือ Urban Sketching ฉบับแปลไทยนี้ ผมสามารถอ่านได้เข้าใจไม่มีปัญหาอะไร ในบางเนื้อหาหรือบางประโยคถึงแม้จะอ่านแล้วรู้สึกว่าเป็นรูปประโยคเหมือนในภาษาอังกฤษหรือมีการแปลที่มีเนื้อความแตกต่างกับต้นฉบับไปบ้าง แต่ว่าก็สามารถถ่ายทอดออกมาเป็นคำพูดภาษาไทยให้สามารถอ่านเข้าใจได้ ผมพยายามจับผิดมากว่ามีส่วนใดที่อ่านแล้วไม่โดยสิ้นเชิงแต่ก็ไม่เจอนะ จุดนี้ผมถือว่าหนังสือเล่มนี้สอบผ่านครับ สามารถอ่านแล้วฝึกสเก็ตช์ภาพตามได้เลยไม่มีงง

ข้อติล่ะ?

อ่านรีวิวมาตั้งแต่ต้นจนจะจบเห็นว่าดีนู่นนี่นั่นแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีข้อผิดพลาดนะ ยกตัวอย่างที่ผมเจอจังๆ อ่านแล้วรู้สะดุดเลยนั่นก็คือ

หน้า 32

urban-sketching-thai-edition-15

ในหน้านี้มีการพูดถึงวงล้อสีหรือก็คือ Color Wheel โดยในต้นฉบับนั้นมีการพูดถึงการใช้สีดำไว้ว่า

“Never use black to darken color. I only use black when an object is an undeniable deep black”

ผู้แปลแปลไว้ว่า

“ไม่ควรใช้สีดำผสมเพื่อให้สีเข้มขึ้น เก็บสีดำไว้ใช้ระบายวัตถุที่ต้องการเงาดำ”

เรื่องการใช้สีดำนั้นเป็นอะไรที่ผมจำได้แม่นจากหนังสือเล่มนี้ครับเพราะเมื่อก่อนผมชอบผสมสีดำลงในสีอื่นๆ เลยรู้สึกสะดุด ซึ่งตรงนี้ถึงแม้จะแปลได้เข้าใจแต่มันไม่ได้ถูกต้องเสียทีเดียว เพราะว่าตัวผู้เขียนนั้นต้องการจะสื่อว่า “เขาจะใช้สีดำก็ต่อเมื่อวัตถุนั้นมันเป็นสีดำที่ด้ำดำ ดำจริงๆ ดำอย่างไม่สามารถปฏิเสธได้” ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเงาดำ (dark shadow) เพราะว่าถ้าบอกว่า “เงาดำ” ก็ยังสามารถใช้สีน้ำเงินเข้มหรือน้ำตาลเข้มมาเป็นเงาดำได้อยู่ดี
 

หน้า 38

urban-sketching-thai-edition-16

หน้านี้เป็นคำพูดบรรยายของ Liz Steel ถึงเรื่อง The Closure of a cafè ซึ่งหมายถึง “ร้านการแฟที่เลิกกิจการ” หรือ “ร้านกาแฟที่ปิดตัวลง” ที่ในฉบับแปลไทยเขียนไว้ว่า “ร้านกาแฟที่ถูกปิด” ซึ่งถึงแม้สุดท้ายแล้วจะสื่อความหมายคือร้านปิดเหมือนกันแต่มันไม่เหมือนกันซะทีเดียวนะ ปิดเอง กับ ถูกปิด …ผมโรคจิตชอบจับผิดมั้ย?

หน้า 38 ยังไม่จบครับ เราต่างทราบกันดีว่า Liz Steel นั้นเป็นสเก็ตช์เชอร์ “ผู้หญิง” ที่มากไปด้วยความสามารถและข้อความในหน้านี้เป็นคำพูดของเธอ แต่ผู้แปลใช้คำแทนตัวเองของคุณ Liz Steel ว่า “ผม” ซึ่งที่ถูกต้องควรจะเป็น “ฉัน” “ดิชั้น” “เดี๊ยน”​หรืออะไรก็ได้อ่ะที่ไม่ใช่ผม แน่นอนว่าใจความสำคัญไม่ได้เปลี่ยนไปมาก แต่อารมณ์ความรู้สึกในการอ่านมันแตกต่างกันนะ
 

หน้า 72

urban-sketching-thai-edition-17

หน้านี้มีการแปลผิดจนเนื้อหาใจความผิดครับ หน้านี้เป็นคำพูดบรรยายถึงการสเก็ตช์ภาพของ Miguel Herranz พูดไว้ถึงการวาดภาพจักรยาน โดยในต้นฉบับภาษาอังกฤษเขียนไว้ว่า

“When we write, we begin on the upper far left (or right) of the page, and start adding lines until we have finished. It’s possible to take the same approach with drawing: start from one point, then let the rest of drawing grow around it.”

แต่ผู้แปลแปลไว้ว่า…

“เมื่อวาดจักรยานเราจะเริ่มจากการด้านบนขวา(หรือซ้าย) ของหน้ากระดาษ และเริ่มวาดเส้นไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเสร็จ การวาดภาพสิ่งต่างๆ ก็จะคล้ายๆ กันคือเริ่มวาดจากจุดหนึ่งและค่อยๆ วาดส่วนที่เหลือต่อไปเรื่อยๆ จนเสร็จ”

ซึ่งตรงนี้แปลผิดแล้วความหมายเปลี่ยนครับ เพราะ Miguel เจ้าของข้อความเขาต้องการจะ “เปรียบเทียบการวาดภาพให้เหมือนกับการเขียนหนังสือ” ดังนั้นประโยคที่ถูกต้องคือ

“ในการเขียนหนังสือนั้น, เราเริ่มจากด้านซ้ายบน (หรือขวา) ของหน้ากระดาษ แล้วเขียนเส้นสร้างตัวอักษรไปเรื่อยๆ จนเสร็จ เราสามารถประยุกต์การเขียนหนังสือมาเป็นการวาดภาพได้เช่นกัน โดยเริ่มต้นวาดจากจุดใดจุดหนึ่ง แล้วจึงวาดส่วนที่เหลือขยายออกไปจากจุดนั้น”

…เอาเป็นว่าคุณผู้อ่านอย่าเอาเรื่องจับผิดแบบโรคจิตของผมนี้มาเป็นประเด็นในการอ่านเลยครับ ซึ่งจริงๆ แล้วผมก็ไม่ได้เก่งกาจอะไรถึงขนาดที่จะแปลอะไรได้ถูกต้องไปเสียทั้งหมดเพราะผมเพียงแค่พออ่านภาษาอังกฤษได้เท่านั้นครับ และอย่าลืมว่าสุดท้ายแล้วงานแปลใดใดหากว่ามันแปลออกมาแล้วบรรลุวัตถุประสงค์ คือสามารถสื่อสารถึงผู้อ่านได้โดยใจความสำคัญไม่ได้ผิดเพี้ยนจนมีความหมายเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่นโดยสิ้นเชิง ก็ถือว่างานแปลนั้นได้ทำหน้าที่ของมันได้อย่างสมบูรณ์แล้วล่ะครับ

ควรซื้อมั้ย?

ไม่ต้องถามอีกแล้วครับคำถามนี้! หนังสือสอนวาดภาพสเก็ตช์ที่ครบถ้วนด้วยเนื้อหาขนาดนี้ ขนาดเล่มภาษาอังกฤษผมยังแนะนำให้สอย แล้วมีเหรอที่ฉบับภาษาไทยจะไม่แนะนำ อ่านเข้าใจได้ง่ายเหมาะสำหรับคุณผู้อ่านทุกเพศทุกวัย น้องๆ นักเรียนนักศึกษาก็สามารถอ่านและฝึกตามได้ง่ายเพราะไม่ได้ใช้คำศัพท์ที่ยากเกินความเข้าใจ ใครที่มีเล่มต้นฉบับภาษาต่างประเทศอยู่แล้วก็ลองมาเปิดอ่านเล่มนี้ดูก็ได้ครับ มีภาษาไทยไว้อีกสักเล่มก็เข้าท่าดีนะ

แจกของ!

jakkong-urban-sketching-thai-edition
โอ้วววววว! ในเมื่อผมได้รับการสนับสนุนมา 3 เล่ม ผมก็ต้องเม้มไว้หนึ่งแล้วที่เหลืออีก 2 ก็เอามาแจกนะซี่ๆๆๆๆ กติกาก็ง่ายๆ เลยครับ เพียงแค่แชร์เฟสบุคโพสอันนี้

https://www.facebook.com/bbblog.sketchblog/posts/865119956936352

ดยกด Like หรือ Comment หรือจะทำทั้งคู่ก็ได้นะ ผมจะสุ่มเลือกผู้โชคดีจากคนที่กด Like 1 ท่าน และผู้ที่ Comment อีก 1 ท่าน แล้วก็รับไปเลยครับ หนังสือสอนสเก็ตช์ภาพที่เจ๋งที่สุดเล่มนี้ “Urban Sketching : Thai Edition (ฉบับแปลไทย)” คนละ 1 เล่ม!

ประกาศผล

ผมจะสุ่มผู้โชคดีและประกาศรายชื่อผู้โชคดีได้รับของขวัญในเที่ยงคืนของวันอาทิตย์ที่ 26 ตุลาคมนี้ (คืนวันอาทิตย์ย่างเข้าจันทร์) สามารถติดตามการประกาศผลได้ที่ เฟสบุคเพจของบีบีบล็อก หรือหน้าเว็บ แจกของ! jakkong.bbblogr.com มาเล่นกันเยอะๆ น้า

ผมดีใจนะที่บ้านเราเริ่มมีความสนใจในการวาดภาพเชิงสเก็ตช์เพิ่มมากขึ้นในทุกๆ วัน จากหลายปีก่อนที่ทำเว็บบีบีบล็อกแล้วก็วาดรูปไว้ดูคนเดียวชมตัวเองไป เริ่มต้นอย่างงูๆ ปลาๆ ลองผิดลองถูกไปเรื่อยเพราะไม่ได้เรียนสายนี้มาอย่างจริงจัง แต่ปัจจุบันนี้ก็ได้พบเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ส่งผลงานเข้ามาให้ชมมากยิ่งขึ้น เกิดเป็นกลุ่มก้อนผู้รักการสเก็ตช์แล้วร่วมทำกิจกรรมวาดภาพด้วยกัน สิ่งเหล่านี้แหละที่เป็นแหล่งความรู้ชั้นเลิศในการสเก็ตช์ภาพที่สามารถหาและฝึกฝนตามได้จากการพูดคุย และการมาของหนังสือ Urban Sketching : Thai Edition (ฉบับแปลไทย) เล่มนี้ก็ถือเป็นเรื่องที่ดีเป็นอย่างมากที่จะช่วยให้วงการสเก็ตช์ภาพในเมืองไทยเติบโตและขยายตัวกว้างขึ้นอย่างต่อเนื่อง สามารถฝึกหัดได้ง่ายๆ มีข้อสงสัยอะไรก็สามารถพบคำตอบได้ในหนังสือ หากคุณรักในการสเก็ตช์ภาพหรืออยากเริ่มต้นที่จะบันทึกเรื่องราวในรูปแบบของภาพวาดแล้วล่ะก็ ผมขอแนะนำหนังสือเล่มนี้สำหรับคุณผู้อ่านทุกคนครับ

 

ขอขอบพระคุณ

สำนักพิมพ์ Infopress และ Digi Art ที่สนับสนุนหนังสือUrban Sketching : Thai Edition | พื้นฐานและเทคนิคสำหรับการสเกตช์ภาพ เล่มนี้มาให้ผมได้รีวิวและทำการแจกคุณผู้อ่านของบีบีบล็อกด้วยครับ ขอบพระคุณครับ!

หากอ่านแล้วถูกใจชอบใจ ฝากกดแชร์ด้วยนะครับ ขอบคุณครับ \( - 3-)/
โพสตอนนี้อยู่ในหมวด Book และมี tag ดังนี้ , , , , , , , , โพสเมื่อวันที่ .
hackhq

คนธรรมดาที่หลงใหลในการสเก็ตช์ ใช้ปากกาลามี่เป็นอาวุธ มีสมุด Moleskine เป็นผืนผ้าใบและมีจินตนาการในรูปของสีน้ำ หลงใหลรูป รส กลิ่น ของกาแฟ และเคลิบเคลิ้มกับเสียงของดนตรีแจ๊ส | ติดต่อผมบนทวิตเตอร์ได้ที่ @hackhq

เว็บไซต์ : https://www.bbblogr.com